พิษปลาปักเป้า

พิษปลาปักเป้า คือ มีสารพิษคือ เทโทรโดท็อกซิน (tetrodotoxin) ชนิดเดียวกับแมงดาถ้วย สะสมอยู่ในการรับพิษจากสัตว์น้ำทั้ง 2 ชนิดนี้ จึงมีอาการแสดง เหมือนกัน และวิธีการดูแลรักษาแบบเดียวกัน

ในบ้านเรามีรายงานผู้ที่ป่วยและตายจากการกินปลาปักเป้า (ทั้งปลาน้ำจืดและปลาทะเล) เป็นครั้งคราว พบได้ในคนทุกวัย มักพบเป็นพร้อมกัน หลายคนที่กินสัตว์น้ำพวกนี้ด้วยกัน

ปลาปักเป้า (ปลาเนื้อไก่) ปกติมีลักษณะ เหมือนปลาทั่วไป รอบตัวมีหนามสั้นหรือยาวแล้วแต่ชนิด เมื่อถูกรบกวนจะพองตัวคล้ายลูกโป่งหรือทุเรียนที่มีหนามแหลม พบทั้งในน้ำจืด (ตามแม่น้ำ ลำธาร ห้วยหนอง คลอง บึง เช่น ปักเป้าเขียว ปักเป้าเหลือง ปักเป้า ทอง) และน้ำทะเล (บริเวณอ่าวไทย เช่น ปักเป้าหนาม ทุเรียน ปักเป้าดำ ปักเป้าแดง ปักเป้าดาว ปักเป้าหลังแก้ว)

มีชื่อภาษาอังกฤษ เช่น Puffer fish, globe fish, balloon fish, swell fish, toad fish เป็นต้น

มีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า “ฟูหงุ” (フグ)

ปลาปักเป้าทะเลจะมีพิษมากในไข่ ตับ ลำไส้ หนัง ส่วนในเนื้อปลามีพิษน้อยหรือไม่มี ปลาปักเป้าน้ำจืดมี พิษมากที่สุดในหนัง รองลงมาในไข่ เนื้อปลา ตับ ลำไส้ ตามลำดับ พิษจะมีมากขึ้นในฤดูวางไข่

อาการ พิษปลาปักเป้า

เกิดหลังกินปลาปักเป้า 10-45 นาที ถึง 4 ชั่วโมง บางรายอาจนานถึง 12-20 ชั่วโมง ขึ้นกับปริมาณพิษที่ได้รับ ถ้ากินพิษเข้าไปมาก อาการก็จะเกิดเร็ว

แรกเริ่มจะรู้สึกชาและเสียวแปลบ ๆ ที่ริมฝีปาก และลิ้นก่อน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะมึนงง ๆ ตัวลอย ๆ บางรายอาจมีอาการปวดท้อง ถ่ายเป็นน้ำร่วมด้วย

ระยะต่อมาอาการชาจะลุกลามไปที่ใบหน้า แขน ขา และปลายมือปลายเท้า ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกกล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย ไม่ค่อยมีแรง จนลุกขึ้นยืนหรือเดินไม่ได้ และอาจรู้สึกแน่นอึดอัดหายใจไม่ค่อยออก

 ถ้ารับพิษมาก อาการจะรุนแรงมากขึ้น มีอาการ อ่อนแรงของกล้ามเนื้อมากขึ้น โดยเริ่มจากไม่สามารถ เคลื่อนไหวแขนขาตามที่ต้องการได้ ตามมาด้วยอาการ กลืนลำบาก พูดลำบาก ตะกุกตะกักจนกระทั่งพูดไม่ได้ (เนื่องจากกล้ามเนื้อคอหอยและกล่องเสียงเป็นอัมพาต) ระยะนี้ผู้ป่วยยังรู้สึกตัวดี

ระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะหายใจไม่ได้หรือหรือหยุดหายใจ (เนื่องจากกล้ามเนื้อกะบังลม หน้าอก และท้องเป็น อัมพาต) ตัวเขียวและหมดสติ ถ้าไม่ได้รับการรักษา ก็จะเสียชีวิตในเวลารวดเร็ว

ความรุนแรงและระยะของโรคขึ้นกับปริมาณพิษที่ได้รับ ถ้ากินพิษมาก อาการจะลุกลามรวดเร็ว และอาจ เสียชีวิตภายใน 20-30 นาทีหลังจากเริ่มมีอาการชาที่ ปาก บางรายอาจเสียชีวิตภายใน 4-6 ชั่วโมง หรือภายใน 24 ชั่วโมง แต่ถ้าภายหลัง 24 ชั่วโมงหลังเกิดอาการผู้ป่วยสามารถรอดชีวิตมาได้ ก็มักจะค่อย ๆ ฟื้นคืนสู่ปกติได้เอง ซึ่งอาจใช้เวลา 24-48 ชั่วโมง

การป้องกัน พิษปลาปักเป้า

  1. หลีกเลี่ยงการกินปลาปักเป้าทุกชนิดไม่ว่าจะปรุงหรือทำให้สุกด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม
  2. ในบ้านเรามีรายงานผู้ป่วยเป็นพิษปลาปักเป้าจากการบริโภคอาหารที่มีเนื้อปลาประกอบ เช่น ก๋วยเตี๋ยวปลา ข้าวต้มปลา ต้มยำปลา ปลาผัดขึ้นฉ่าย ผัด กระเพราปลา สเตกปลา ไข่ปลา (สด ต้มยำ ทอด หรือ ต้ม) ปลาร้า เป็นต้น เนื่องจากผู้จำหน่ายนำเนื้อปลาปักเป้ามาเจือปนในอาหาร ดังนั้น จึงควรระมัดระวังในการบริโภคอาหารที่ทำจากเนื้อปลาตามร้านอาหาร และ ควรบริโภคเนื้อปลาที่ทราบชนิดแน่ชัดว่าไม่ใช่ปลาปักเป้า
  3. โรคนี้ในระยะแรกอาจมีอาการแบบอาหารเป็นพิษ (คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย) แต่มักมีอาการ ชาที่ริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้า และแขนขาร่วมด้วย ดังนั้น เมื่อพบผู้ป่วยมีอาการอาหารเป็นพิษ ควรชักถามอาการชา และประวัติอาหารการกิน ควรส่งโรงพยาบาลทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าได้ประวัติว่าผู้ป่วยกินปลาปักเป้าก่อนมีอาการ
  4. เมื่อพบผู้ป่วยเป็นโรคนี้ ไม่ว่าจะมีอาการรุนแรง มากน้อยเพียงใด ก็ควรส่งตัวเข้าไปรักษาอยู่ในโรงพยาบาล และเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดอย่างน้อย 24 ชั่วโมง โดยทั่วไป ถ้าผู้ป่วยสามารถรอดชีวิตได้ภายหลัง 24 ชั่วโมง หลังมีอาการ ก็มักจะหายได้เป็นปกติ
  5. ควรให้ความรู้แก่คนทั่วไปให้ทราบถึงพิษภัย จากการกินปลาปักเป้าและอาการแสดง ของโรคนี้ เพื่อให้รู้จักระวังตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ บริโภคอาหารที่มีเนื้อปลาเป็นส่วนประกอบและอาหาร ทะเลตามร้านอาหาร(แม้จะเตรียมให้สุก พิษก็ไม่ถูก ทำลาย) ถ้าพบว่ามีอาการแบบอาหารเป็นพิษ และรู้สึกชาที่ริมฝีปาก (อาจร่วมกับชาที่ลิ้น ใบหน้า) หลังบริโภคอาหารเหล่านี้ควรรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็ว
  6. โรคนี้มีอาการคล้ายโรคโบทูลิซึม คือมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเป็นอัมพาตและหยุดหายใจ ต่างกันตรงการเรียงลำดับ โรคนี้จะเป็นจากส่วนปลาย เข้าหาส่วนกลาง (ascending paralysis) คือเริ่มจากแขน ขาก่อนแล้วไปที่หน้า (คอหอยกับกล่องเสียง) และไปสิ้นสุดที่หน้าอก หน้าท้อง (หยุดหายใจ)

ส่วนโบทูลิซึมจะเป็นจากบนลงล่าง (descending paralysis) คือเริ่มที่หน้า (ตา คอหอย กล่องเสียง)ก่อน ค่อยลงมาที่หน้าอก หน้าท้อง (หยุดหายใจ) แล้วไปสิ้นสุดที่แขนขา นอกจากนี้ โรคนี้จะมีอาการชาที่ปาก ลิ้น หน้า และแขนขา ขณะที่อีกโรคหนึ่งไม่มีอาการชา

การรักษา พิษปลาปักเป้า

หากมีอาการน่าสงสัย เช่น อาการชาที่ริมฝีปาก และลิ้น (อาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดินร่วมด้วย) หรือแขนขนอ่อนแรง หลังกินปลาปักเป้าหรือ แมงดาถ้วย ควรให้การปฐมพยาบาลแล้ว รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลมันที และควรติดตามเฝ้าดู อาการอย่างใกล้ชิด หากพบว่าผู้ป่วยหยุดหายใจ ควรให้การช่วยเหลือ (เช่น เป่าปาก หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ) จนกว่าจะถึงโรงพยาบาล

แพทย์มักจะวินิจฉัยจากลักษณะอาการ (ชา และ กล้ามเนื้ออ่อนแรง) และประวัติการกินปลาปักเป้าเป็นสำคัญ

การรักษา ให้การรักษาขั้นพื้นฐานมักจะต้องรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล และเฝ้าติดตามดูอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด

เนื่องจากไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ จึงให้การรักษา แบบประคับประคองและแก้ไขตามอาการที่พบต่อไปเช่น ในรายที่หายใจไม่ได้ ต้องใส่ท่อหายใจ และใช้เครื่องช่วยหายใจจนกว่าพิษจะถูกขับออกจากร่างกายจนหมด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 9-12 ชั่วโมง

  • ควรให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำแก่ผู้ป่วยทุกราย
  • ถ้าความดันโลหิตต่ำมาก ให้ยากระตุ้นความดัน เช่น โดพามีน
  • ชีพจรเต้นช้า ให้อะโทรฟีน หากไม่ได้ผลอาจต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ (pacemaker)
  • บางรายอาจให้นีโอสติกมีน (neostigmine) หรือ อีโดรโฟเนียม (edrophonium) ช่วยให้อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงดีขึ้น

ผลการรักษา หากได้รับการช่วยเหลือได้ทัน (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ไขอาการหายใจไม่ได้เนื่องจาก กล้ามเนื้อหัวใจเป็นอัมพาต)ผู้ป่วยมักจะรอดชีวิต และ ฟื้นหายเป็นปกติภายใน 24-48 ชั่วโมง

[Total: 0 Average: 0]