พิษคางคก

พิษคางคก คือ ต่อมเมือกใกล้หู (parotid gland) ของคางคกจะขับเมือก (เรียกว่า ยางคางคก) ที่มีสารพิษ (bufotoxins/ toad toxins) ซึ่งประกอบด้วยสารเคมี หลายชนิดที่มีผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย ที่สำคัญคือ กลุ่มดิจิทาลอยด์ ซึ่งออกฤทธิ์คล้ายดิจิทาลิส ทำให้เกิดพิษร้ายแรง ต่อหัวใจ ถึงเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ยังมีสาระสำคัญอื่น ๆ เช่น กลุ่มคาเทโคลามีน (catecholamines) ที่มีผลต่อหัวใจและหลอดเลือด และกลุ่มอินโลไคลามีน (indolekylamines) ซึ่ง มีฤทธิ์ทำให้มีอาการประสาทหลอน

พิษมีอยู่ในหนัง เลือด ไข่ และเครื่องในของคางคก แทบทุกชนิดที่มีในบ้านเรา พิษมีความทนต่อความร้อน การบริโภคคางคกที่ทำให้สุกแล้วก็เกิดพิษได้ เด็กจะทนต่อพิษคางคกได้มากกว่าผู้ใหญ่ ในบ้านเรามีรายงานผู้ที่ป่วยและตายจากการบริโภคคางคกเป็นครั้งคราว

อาการ พิษคางคก

ผู้ป่วยจะมีอาการแสดงคล้ายได้รับพิษดิจิทาลิส เกินขนาด อาการจะเกิดขึ้นช้า ๆ หลังจากกินคางคก หลายชั่วโมง แรกเริ่มจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน บางรายอาจมีอาการปวดท้อง ท้องเดินร่วมด้วย

ต่อมาจะมีอาการอ่อนเพลีย เวียนศีรษะ เห็นภาพเป็นสีเหลือง มีการเปลี่ยนแปลงของระดับสติ เริ่มจากอากาสับสน เพ้อ ง่วงซึม มีอาการประสาทหลอน หรือ อาการทางจิต จนในที่สุดมีอาการชัก หมดสติ ที่ร้ายแรง คือ หัวใจเต้นช้า และเต้นผิดจังหวะใน ที่สุดเกิดภาวะหัวใจห้องล่างเต้นระรัว (ventricular fibrillation) และเสียชีวิตในเวลารวดเร็วจากภาวะหัวใจวาย หรือการไหลเวียนล้มเหลว

การป้องกัน พิษคางคก

  1.  หลีกเลี่ยงการกินคางคกทุกชนิด ไม่ว่าจะปรุง หรือเตรียมให้สุกด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม
  2.  หลีกเลี่ยงการกินยาจีนหรือยาแผนโบราณที่มีส่วนประกอบของคางคกผสม 

การรับพิษคางคกส่วนใหญ่เกิดจากการกินคางคก ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่มีรายงานว่าในสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยด้วยพิษคางคกจากการกินยาจีนที่ทำจากหนังคางคก (เชื่อว่าเป็นยาบำรุงทางเพศ) ดังนั้นจึงควรมีความระมัดระวังในการใช้ยาแผนโบราณเป็นอย่างยิ่ง

การรักษา พิษคางคก

หากสงสัย เช่น มีอาการอาหารเป็นพิษ ร่วมกับระดับสติเปลี่ยนแปลง มีอาการทางจิต หรือชีพจรเต้นช้า และมีประวัติกินคางคก ควรให้การปฐมพยาบาล แล้วรีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที

แพทย์จะวินิจฉัยโรคนี้จากลักษณะอาการและประวัติ การกินคางคกเป็นสำคัญ ในบางแห่งอาจทำการตรวจหาสารดิจิทาลิสในเลือดและมักจะทำการติดตามประเมิน อาการด้วยการตรวจคลื่นหัวใจ และตรวจหาระดับโพแทสเซียมเป็นระยะๆ

การรักษา ให้การรักษาขั้นพื้นฐาน ถ้าพบว่าคลำชีพจรไม่ได้หรือหยุดหายใจให้ทำการกู้ชีพ

นอกจากนี้จะให้การักษาแบบประคับประคอง เช่น ในรายที่ชีพจรเต้นช้า ให้อะโทรพีน ถ้าไม่ได้ผล อาจต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ (pacemaker)

 ในรายที่ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ให้ยาแก้ไข เช่น ลิโดเคน (lidocaine) เฟนิโทอิน ควินิดีน อะมิโอดาโรน (amiodarone) เป็นต้น

[Total: 1 Average: 3]