หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาลภายใน 1 สัปดาห์
มักจะวินิจฉัยโดยการเจาะเลือดตรวจการทำงาน ของไทรอยด์ (จะพบค่า T4, free T4, T3 และ free T3) สูงกว่าปกติ และค่า TSH ต่ำกว่าปกติ) ตรวจหาสารภูมิ ต้านทานต่อไทรอยด์ (thyroid antibody) อาจต้องทำสแกนต่อมไทรอยด์ (thyroid scan) ตรวจคลื่นหัวใจ เอกซเรย์ปอด และอาจตรวจพิเศษอื่น ๆ ถ้าจำเป็น
การรักษา โดยทั่วไปมักจะให้การรักษาด้วยยาเป็นหลักโดยการให้ยาต้านไทรอยด์(antithyroid drug) ซึ่งจะกดการทำงานของต่อมไทรอยด์ ที่ใช้บ่อย คือ เมทิมาโซล (methimazole) ขนาดเม็ดละ 5 มก.หรือ โพรพิลไทโอยูราซิล (propylthiouracil) ขนาดเม็ดละ 50 มก.ยาทั้ง 2 ตัวนี้มีผลดีและผลเสียไม่ต่างกันและมี วิธีใช้เหมือนกัน คือ เริ่มต้นให้ผู้ป่วยกินวันละ 6 เม็ด (2 เม็ด 3 เวลาหลังอาหาร) จนกว่าอาการจะดีขึ้น (น้ำหนัก กลับขึ้นเป็นปกติ เหนื่อยน้อยลง ชีพจรเต้นช้าลง) จึงค่อย ๆ ลดยาลงทีละ 1-2 เม็ดจนกว่าจะเหลือวันละ 1-3 เม็ด แล้วให้กินขนาดนี้ไปเรื่อย ๆ นานประมาณ 18-24 เดือน แล้วลองหยุดยา (หญิงตั้งครรภ์ห้ามใช้เมทิมาโซล แต่ให้ใช้โพรพิลไทโอยูราซิลแทน เพรายาชนิดหลังนี้ ผ่านรกได้น้อย จึงมีผลต่อทารกในครรภ์น้อยกว่ายาชนิด แรก และไม่มีข้อห้ามในการใช้สำหรับมารดาที่ให้นม บุตร แต่ควรทำการทดสอบการทำงานของต่อมไทรอยด์ ของทารกเป็นระยะ ๆ )
ระหว่างการรักษาควรเจาะเลือดตรวจดูระดับของ ฮอร์โมนไทร็อกซีนเป็นระยะ ๆ
ผลการรักษา ส่วนมากมักจะหายขาด แต่ส่วนน้อยอาจมีอาการกำเริบใหม่ ก็ควรจะให้ยารักษาใหม่อีก
บางรายอาจกินยาวันละเม็ดควบคุมอาการไปเรื่อย ๆ
นอกจากยาต้านไทรอยด์แล้วอาจต้องให้ไดอะซีแพม บรรเทาอาการหงุดหงิด นอนไม่หลับ ยาปิดกั้นบีตา เช่น โพรพาโนลอล วันละ 40-120 มก.แบ่งให้วันละ 2-4 ครั้งเพื่อควบคุมอาการใจสั่น มือสั่น
ส่วนยาต้านไทรอยด์ อาจมีผลข้างเคียงดังนี้
- กดการสร้างเม็ดเลือดขาว ทำให้มีภาวะเม็ดเลือด ขาวต่ำ (agranulocytosis) ซึ่งทำให้ร่างกายเป็นโรคติดเชื้อง่าย (มีอาการไข้ เจ็บคอ หรือปากเปื่อยบ่อยๆ) และอาจติดเชื้อรุนแรงเป็นอันตรายได้ พบได้ประมาณร้อยละ 0.5 (1 ใน 200) ของผู้ที่กินยานี้ มักจะเกิดในระยะ 2 เดือน แรกหลังจากเริ่มกินยานี้ ดังนั้นจึงควรตรวจเลือดสัปดาห์ ละครั้ง เป็นเวลาประมาณ 2 เดือน ถ้ามีภาวะดังกล่าว เกิดขึ้นควรหยุดยาทันทีแล้วเม็ดเลือดขาวจะเพิ่มจำนวน ขึ้นเป็นปกติได้เอง(พบในการใช้ยาโพรพิลไทโอยูยาซิลมากกว่าเมทิมาโซล)
- ทำให้เกิดอาการแพ้ มีผื่นคันขึ้นตามผิวหนังอาจแก้ด้วยการให้ยาแก้ควบด้วย หรือเปลี่ยนไปใช้ยาตัวใหม่
- อาจมีผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ตับอักเสบ โลหิต จางจากไขกระดูกฝ่อ เกล็ดเลือดต่ำ หลอดเลือดอักเสบ
- ถ้ากินมากไป อาจทำให้ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนได้น้อยเกินความต้องการของร่างกาย กลายเป็นภาวะขาดไทรอยด์ วิธีแก้ให้ลดยาลง หรือให้ฮอร์โมน ไทรอยด์ เช่น เอลทร็อกซิน (Eltroxin) กินควบด้วย
นอกจากรักษาด้วยยาแล้ว แพทย์อาจพิจารณา ให้การรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์หรือสานไอโอดีน กัมมันตรังสี (radioactive iodine/I131)โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายที่ไม่ตอบสนองต่อยาต้านไทรอยด์ มีอาการกำเริบซ้ำบ่อยมีความไม่สะดวกในการใช้ยาอย่าง ต่อเนื่อง หรือแพ้ รวมทั้งในรายที่มีอาการรุนแรงมาก
การผ่าตัด มักใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี หรือต่อมไทรอยด์โตมาก หรือกดอวัยวะข้างเคียง เป็นเนื้องอกไทรอยด์หรือต่อมไทรอยด์เป็นก้อนเดียว ซึ่งสงสัยว่าอาจเป็นมะเร็ง
ภาวะแทรกซ้อนของการผ่าตัด ที่สำคัญได้แก่ ภาวะเลือดออก ซึ่งอาจอุดกั้นทางเดินหายใจ ภาวะขาด พาราไทรอยด์ (hypoparathyroidism) เนื่องจากตัดถูกต่อมพาราไทรอยด์ซึ่งอยู่ติดกับต่อมไทรอยด์ การตัดถูกเส้นประสาทกล่องเสียง (recurrent laryngeal nerve) ทำให้สายเสียงเป็นอัมพาต มีอาการเสียงแหบอยางถาวร
ในรายที่ผ่าตัดเนื้อเยื่อไทรอยด์ออกน้อยไป ก็อาจมีอาการต่อต่อมไทรอยด์ทำงานเกินกำเริบซ้ำได้อีก
ที่พบบ่อย ก็คือ ภาวะขาดไทรอยด์ อย่างถาวร เนื่องจากผ่าตัดเนื้อเยื่อไทรอยด์ออกมากเกิน ซึ่งจำเป็นต้องให้ฮอร์โมนไทรอยด์เลโวไทร็อกซีน (มีชื่อทางการค้า เช่น เอลทร็อกซิน) วันละ 1-2 เม็ด ทดแทน ตลอดชีวิต
ส่วนการรักษาด้วยการกินสารไอโอดีนกัมมันตรังสี นั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลายเนื้อเยื่อไทรอยด์บางส่วน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณฮอร์โมนที่หลั่งลงไป มักใช้สำหรับ ผู้ป่วยอายุมากกว่า 40 ปี ที่ปฏิเสธการผ่าตัดหรือมีภาวะ แทรกซ้อนที่เป็นข้อห้ามสำหรับการผ่าตัด (เช่น โรคหลอด เลือดหัวใจตีบ) ก่อนให้สารรังสีดังกล่าว จำเป็นต้องให้ ยาต้านไทรอยด์จนระดับฮอร์โมนไทรอยด์ กลับสู่ปกติ เสียก่อน และมีข้อห้ามในการรักษาโดยวิธีนี้ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงที่ให้นมบุตร ผู้ป่วยที่มีอาการตาโปนรุนแรง ต่อมไทรอยด์มีขนาดโตมาก หรือสงสัยเป็นมะเร็งไทรอยด์
ผลข้างเคียงของการรักษาด้วยสารรังสี ที่พบบ่อย ก็คือภาวะขาดไทรอยด์เนื่องจากเนื้อเยื่อไทรอยด์ถูกทำลายมากเกิน ซึ่งจำเป็นต้องให้ฮอร์โมนไทรอยด์ทดแทน เช่นเดียวกับการรักษาด้วยการผ่าตัด