ภาวะขาดไทรอยด์

ภาวะขาดไทรอยด์ (ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย) หมายถึง ภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนได้น้อยกว่า ปกติเกิดอาการไม่สบายต่าง ๆ ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน เป็นโรคที่พบได้บ่อยนัก พบได้ในคนทุกวัย แต่จะพบมากในผู้หญิงวัยกลางคน

สาเหตุ ภาวะขาดไทรอยด์

                อาจมีสาเหตุได้หลายอย่าง และบางรายอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ (เชื่อว่าอาจเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง)  

                ส่วนที่ทราบสาเหตุแน่ชัด ก็ได้แก่ ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาโรคคอพอกเป็นพิษ (จะโดยวิธีให้ยาต้านไทรอยด์ กินสารกัมมันตรังสี  หรือผ่าตัดก็เป็นได้เหมือน ๆ กัน) หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนของต่อมไทรอยด์ อักเสบเรื้อรัง  

                บางรายอาจเกิดจากผลข้างเคียงของการฉายรังสี รักษาโรคมะเร็ง (เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง) ที่บริเวณคอหรืออาจเกิดจากการใช้ยา  เช่น ลิเทียม อะมิโอดาโรน (amiodarone) เป็นต้น

                บางรายอาจมีสาเหตุจากความผิดปกติของต่อมใต้สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ เช่น โรคซีแฮน เนื้องอกต่อมใต้สมอง เนื้องอกสมอง เป็นต้น

                ในเด็กเล็ก อาจเกิดจากภาวะขาดไอโอดีนในมารดา ระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร หรือต่อมไทรอยด์เจริญไม่ได้เต็มที ซึ่งเป็นมาแต่กำเนิด

อาการ ภาวะขาดไทรอยด์

ในผู้ใหญ่ อาการจะค่อย ๆ เกิดขึ้นช้า ๆ กินเวลา เป็นแรมเดือน หรือแรมปี

                ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เฉื่อยชาทำงานเชื่องช้า คิดช้า ขาดสมาธิ ความจำไม่ดี ปวดเมื่อย กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว  ลำไส้มักจะเคลื่อนไหว ช้า ทำให้มีอาการท้องผูกเป็นประจำ

                เนื่องจากร่างกายทำงานเชื่องช้า มีอาการใช้พลังงานน้อย ผู้ป่วยจึงมักมีรูปร่างอ้วนขึ้น ทั้ง ๆ ที่กินไม่มาก และจะรู้สึกขี้หนาว (รู้สึกหนาวกว่าคนปกติ จึงชอบอากาศร้อนมากกว่าอากาศเย็น)

                อาจมีอาการเสียงแหบ หูตึง ปวดชาปลายมือเนื่องจากเส้นประสาทมือถูกพังผืดรัดแน่น ทั้งนี้เนื่องจากมีสารมิวโคโพลีแซ็กคาไรด์สะสมที่กล่องเสียงประสาทหู และช่องที่เส้นประสาทมือผ่าน

                บางรายอาจไม่มีความรู้สึกทางเพศ

                ในผู้หญิงอาจมีประจำเดือนออกมากหรือประจำเดือนไม่มา

                ถ้าเป็นรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการซึมลงจนหมดสติ เรียกว่า “Myxedema coma” ซึ่งมักมีสาเหตุกระตุ้น เช่น ถูกความเย็นมาก ๆได้รับบาดเจ็บ  เป็นโรคติดเชื้อใช้ยาแก้ปวดกลุ่มนาร์โคติก (narcotic) เป็นต้น

ในทารกแรกเกิด จะมีอาการซึม ไม่ร้องกวน หลับมาก ต้องคอยปลุกขึ้นให้นม มักมีอาการเสียงแหบ ท้องผูกบ่อย และอาจมีอาการดีซ่านอยู่นานกว่าปกติ

                เมื่ออายุมากขึ้น เด็กจะมีการเจริญเติบโตช้า ฟันขึ้นช้า ผิวหนังหยาบแห้ง ขี้หนาว กินไม่เก่ง เฉื่อยชา (ทำให้ดูคล้ายเลี้ยงง่ายไม่กวน)

                ถ้าไม่ได้รับการรักษา เด็กจะมีรูปร่างเตี้ยแคระ พุงป่อง สมองทึบ ปัญญาอ่อน หูหนวก เป็นใบ้ เรียกว่า สภาพแคระโง่ (cretinism) หรือเด็กเครติน (cretin) ซึ่งทางภาคเหนือเรียกว่า โรคเอ๋อ

การป้องกัน ภาวะขาดไทรอยด์

                การป้องกันมิให้เกิดสภาพแคระโง่ สามารถกระทำได้โดยการตรวจระดับฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ (TSH) และฮอร์โมนไทร็อกซีนในเลือดของทารกแรกเกิด ถ้าพบว่ามีภาวะขาดไทรอยด์จะได้ให้การรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ ช่วยให้เด็กเจริญเติบโตเป็นปกติได้

                ดังนั้น จึงแนะนำให้มีการตรวจเลือดทารกแรกเกิดทุกคน (ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม) โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งทารกที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการขาดสารไอโอดีน ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้สูง

การรักษา ภาวะขาดไทรอยด์

                หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาล

                มักจะวินิจฉัยโดยการตรวจเลือด (พบว่ามีระดับของฮอร์โมนไทร็อกซีนต่ำกว่าปกติ ระดับฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ หรือTSH มักจะสูง  ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ระดับน้ำตาลและโซเดียมในเลือดต่ำ เป็นต้น) อาจต้องตรวจพิเศษอื่น ๆ เช่น เอกซเรย์ (อาจพบว่ามีภาวะหัวใจโต เนื่องจากมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มหัวใจ ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด)

การรักษา ให้ผู้ป่วยกินฮอร์โมนไทร็อกซีน เช่น เอลทร็อกซิน (Eltroxin) วันละ 1-3 เม็ดทุกวัน ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นเพียงในเวลาไม่กี่วัน และร่างกายจะเป็น ปกติภายในเวลาไม่กี่เดือน ผู้ป่วยจะต้องกินยานี้ไปตลอดชีวิต ถ้าหากขาดยา อาการก็จะกลับกำเริบได้ใหม่

                สำหรับทารกแรกเกิด ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ก่อนอายุได้ 1เดือน (ก่อนมีอาการชัดเจน) เด็กก็จะ สามารถเจริญเติบโตได้เป็นปกติทั้งทางร่างกายและสมองแต่เด็กจะต้องกินยาทุกวันห้ามหยุดยา

[Total: 1 Average: 5]