อาการ วัยหมดประจำเดือน

                ระยะใกล้ถึงวัยหมดประจำเดือนซึ่งเรียกว่าวัยใกล้ หมดประจำเดือน (perimenopause) อยู่ในช่วงอายุ ระหว่าง 40-50 ปีผู้ป่วยอาจมีอาการผิดปกติซึ่งมีความ รุนแรงมากน้อยแตกต่างกันไป ก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำ เดือนประมาณ 2-8 ปี บางรายอาจไม่มีอาการแสดงให้เห็นเด่นชัด
ก็ได้

                อาการผิดปกติที่เกิดขึ้น เกี่ยวเนื่องกับความแกร่ง ขึ้นลงของระดับฮอร์โมนแอสโทรเจน รวมทั้งภาวะพร่องเอสโทรเจนในที่สุด โดยมักมีอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอเป็นอาการแรกเริ่ม อาจมาก่อนหรือช้ากว่า ปกติ อาจออกน้อยหรือมากไม่แน่นอน บางรายประจำ เดือนอาจหายไปหลายเดือนแล้วกลับมามีประจำเดือนเป็นปกติใหม่ หรืออาจมีประจำเดือนสม่ำเสมอทุกเดือนจนกระทั่งเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนก็ได้

                ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการร้อนซู่ซ่าตามผิวกาย ซึ่งพบได้ประมาณ 3 ใน 4 คนโดยมีอาการร้อนตามใบหน้า ต้นคอหัวไหล่แผ่นหลังในช่วงสั้นๆ ประมาณ 30 วินาที ถึง 5 นาที (เฉลี่ยประมาณ 2-3 นาที) อาจเป็นทุกชั่วโมง หรือทุก 2-3 วัน และมักจะเป็นในช่วงกลางคืน ในราย ที่เป็นมากอาจทำให้รู้สึกไม่สุขสบาย หงุดหงิด หรือนอนไม่หลับ อาการร้อนซู่ซ่ามักเป็นอาการชักนำให้ผู้ป่วยมา ปรึกษาแพทย์  มักมีอาการนำมาก่อนจะถึงวัยหมดประจำเดือน 1-2 ปี และจะหายไปหลังจากหมด ประจำเดือน แล้วประมาณ 1-2 ปี มักไม่เกิน 5 ปี แต่บางรายอาจนานเกิน 5 ปีขึ้นไป ความถี่และความรุนแรงของอาการร้อนซู่ซ่าจะแตกต่างกันไปในหญิงแต่ละคน นอกจากนี้ยังขึ้นกับปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการถี่ขึ้นได้ เช่น การกินอาหารเผ็ดการดื่มกาแฟหรือแอลกอฮอล์ อากาศร้อน ความเครียด ปัญหาครอบครัว เป็นต้น

                ผู้ป่วยอาจมีอาการเหงื่อออก โดยเฉพาะตอนกลางคืน และอาจมีอาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์และจิตใจ (อาการทางจิตประสาท) เช่น หงุดหงิด โมโหง่าย อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล ซึมเศร้าจิตใจห่อเหี่ยว ความจำเสื่อม หลงๆ ลืม ๆ ไม่มีสมาธินอนไม่หลับ เป็นต้น

                นอกจากนี้ยังอาจมีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ บ้านหมุน อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายใจสั่น ปวดตามข้อ เป็นต้น

                ในระยะต่อมา เมื่อเกิดภาวะพร่องเอสโทรเจน ก็อาจมีอาการเยื่อบุช่องคลอดแห้ง อาการผิดปกติของการถ่ายปัสสาวะ ผิวหนังแห้ง ริมฝีปากแห้ง ผมแห้ง ผมร่วงเป็นต้น

[Total: 0 Average: 0]