การรักษา ต้อกระจก

                เมื่อสงสัยผู้ป่วยเป็นต้อกระจก ควรแนะนำไปตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวินิจฉัยให้แน่ชัดและนัดหมายในการรักษาด้วยการผ่าตัด

                โดยทั่วไปจะทำการผ่าตัดต้อกระจกเมื่อผู้ป่วยมีสายตามัวจนดำเนินชีวิตประจำวันได้ไม่สะดวก เช่น การอ่านหนังสือ การทำงานที่ต้องใช้สายตา การเดินทาง การขับรถ เป็นต้น หรือต้อกระจกขุ่นมากจนทำให้ไม่สามารถตรวจจอประสาทตา (เช่น ในผู้ป่วยเบาหวาน) หรือเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ต้อหิน

                ส่วนในทารกที่เป็นต้อกระจกมาแต่กำเนิด อาจต้องผ่าตัดเมื่ออายุได้ 6 เดือน เพื่อป้องกันมิให้ประสาทตาเสื่อม

                ในปัจจุบันจักษุแพทย์นิยมทำการผ่าตัดโดยวิธีสลายต้อด้วยคลื่นความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์ (phaco emulsification) ทำให้เนื้อเลนส์ (แก้วตา)สลายตัวและดูดออก แล้วใส่เลนส์เทียม (ซึ่งสามารถใช้งานได้ตลอดชีวิต) เข้าไปแทนในถุงหุ้มเลนส์เดิม วิธีนี้แผลผ่าตัดเล็กใช้เวลาน้อย และไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล** และไม่ต้องใช้แว่นตัดแว่นใส่เวลามองไกล แต่เวลาอ่านหนังสือมักต้องใช้แว่นอ่านหนังสือเช่นเดียวกับผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีทั่วไป เนื่องเพราะเลนส์เทียมจะขาดความยืดหยุ่นแบบเลนส์ของผู้ที่มีอายุมาก ทำให้ไม่สามารถปรับเลนส์ตา (accommodation) ให้เห็นชัดเวลามองใกล้ได้ แพทย์จะรอเวลาหลังผ่าตัด 1-2 เดือน จนสายตาเข้าที่แล้วจึงจะวัดสายตาตัดแว่นอ่านหนังสือ (การผ่าตัดต้อกระจกแบบเก่าต้องเปิดแผลกว้าง นำแก้วตาที่ขุ่นพร้อมถุงหุ้มออกทั้งอัน ต้องนอนพักในโรงพยาบาลนาน 5-7 วัน หลังจากนั้นต้องตัดแว่นใส่เพื่อปรับสายตาให้มองเห็นได้ชัดทั้งมองไกลและมองใกล้)

                 ผลการรักษา จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นสายตาให้กลับมามองเห็นชัดเช่นคนปกติทั่วไป และตาข้างที่ผ่าตัดแล้วจะไม่เป็นต้อกระจกซ้ำอีกถ้าหลังจากผ่าตัดแล้วตาข้างนั้นมีอาการตามัวอีก มักเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ต้อหิน จอตาเสื่อม ถุงหุ้มเลนส์ขุ่น เป็นต้น

[Total: 0 Average: 0]