สายตาผู้สูงอายุ

สายตาผู้สูงอายุ คือ ภาวะเสื่อมตามอายุ ภาวะดังกล่าวมักจะเกิด ในคนแทบทุกคนเมื่ออายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป

สาเหตุ สายตาผู้สูงอายุ

ตาคนปกติจะมองดูวัตถุไกลๆ ได้สบายๆ แต่ถ้าต้องดูวัตถุที่อยู่ใกล้ กล้ามเนื้อปรับสายตาจะหดตัว เพื่อปรับให้แก้วตามีความโค้งและหนาตัวมากขึ้น (accommo Dation) ทำให้แสงหักเหตกที่จอตาพอดี แต่ในผู้สูงอายุเนื่องจากความเสื่อมตามอายุ ทำให้เลนส์ตาขาดความยึดหยุ่นจึงทำให้ความสามารถในการปรับสายตาดังกล่าวลดน้อยลง จึงมีความลำบากในการมองดูวัตถุที่อยู่ใกล้

อาการ สายตาผู้สูงอายุ

ผู้ป่วยจะมีอาการมองใกล้ไม่ชัด เวลาอ่านหนังสือต้องถือหนังสือออกไปไกลกว่าระยะปกติ จนบางครั้งยื่นออกไปจนสุดแขน หากเพ่งมองนานๆ ก็อาจมีอาการปวดเมื่อยตา (ตาล้า ตาเพลีย) และปวดศีรษะ

ผู้ป่วยมักใช้สายตามองระยะใกล้ๆ (เช่น อ่านหนังสือ เย็บผ้า สนเข็ม เป็นต้น) ได้ลำบาก และจะเป็นมากขึ้นเมื่อแสงสลัวหรือหนังสือตัวเล็กมาก

ผู้ป่วยที่เป็นสายตาสั้นอยู่ก่อน อาจสังเกตว่าต้องถอดแว่นสายตาสั้นออกเมื่อต้องอ่านหนังสือในระยะใกล้ตา โดยสามารถถือหนังสือให้ห่างจากตาเท่ากับคนอายุน้อยที่สายตาปกติ

การรักษา สายตาผู้สูงอายุ

หากสงสัย ควรไปตรวจวัดสายตาที่โรงพยาบาลและตัดแว่นชนิดเลนส์นูนใส่ เพื่อช่วยให้มองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ได้ดีขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น อาจต้องเปลี่ยนแว่นให้หนาขึ้นทุก 2-3 ปี เนื่องจากกำลังในการหักเหแสงของตาจะอ่อนลงตามอายุ

ในผู้ที่เป็นสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียงอยู่ก่อน อาจต้องใช้แว่นสายตา 2 อัน เพื่อใช้มองไกลอันหนึ่งและมองใกล้อันหนึ่ง หรือาจใช้แว่นชนิดอเนกประสงค์เพียงอันเดียว ซึ่งสามารถใช้มองไกล (ผ่านเลนส์ชั้นบน) และใช้มองใกล้ (ผ่านเลนส์ชั้นล่าง)

[Total: 0 Average: 0]