ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด

หลอดเลือดดำบริเวณขา บางครั้งอาจเกิดลิ่มเลือดขึ้นอยู่ภายในหลอดเลือด ถ้าเกิดที่หลอดเลือดดำบริเวณผิว มักจะทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดร่วมด้วย เรียกว่า หลอดเลือดดำส่วนผิวอักเสบมีลิ่มเลือด (superficial thrombophlebitis)*

                แต่ถ้าเกิดที่หลอดเลือดดำส่วนที่อยู่ลึกในกล้ามเนื้อ(ส่วนใหญ่เกิดที่บริเวณน่อง) มักไม่มีอาการอักเสบร่วม ด้วยเรียกว่า ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด ลิ่มเลือดอาจหลุดลอยเข้าไปในปอดเป็นอันตรายได้

                ภาวะนี้มักพบในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เลือดแข็งตัวง่ายหรือไหลเวียนช้า ดังนั้นจึงพบบ่อยในผู้สูงอายุผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด กินยาเม็ดคุมกำเนิด หรือไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายอยู่นาน ๆ

สาเหตุ ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด

เกิดจากมีลิ่มเลือด (blood clot หรือ thrombus) ก่อตัวขึ้นในหลอดเลือด ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงมากมาย เช่น

  • การไม่ได้ลุกขึ้นเดินเป็นเวลานาน เช่น นั่งรถ
  • หรือเครื่องบินระยะทางไกล
  • การนอนพักฟื้นอยู่บนเตียงนาน ๆ เช่น ผู้ป่วย     
  • หลังผ่าตัด กระดูกหัก หรือเป็นโรคหัวใจ
  • ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก
  • ผู้ป่วยที่มีแขนขาเป็นอัมพาต
  • ผู้ป่วยเป็นมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งตับอ่อนที่ทำให้เลือดแข็งตัวง่าย
  • ผู้หญิงที่กินยาเม็ดคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทนสำหรับหญิงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งทำให้เลือดแข็งตัวง่าย
  • หญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดใหม่ๆซึ่งจะทำให้มีแรงดันสูงในหลอดเลือดดำที่บริเวณเชิงกรานและขา
  • ผู้สูงอายุโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทีภาวะขาดน้ำหรือ สูบบุหรี่
  • ผู้ที่รูปร่างอ้วน
  • การมีภาวะบาดเจ็บต่อหลอดเลือดดำ เช่น การผ่าตัดหลอดเลือด หรือฉีดสารระคายเคืองเข้าหลอดเลือด
  • การมีความผิดปกติที่ทำให้เลือดจับเป็นลิ่มง่าย หรือมีประวัติพ่อแม่พี่น้องมีภาวะเลือดจับเป็นลิ่มง่าย

อาการ ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด

            ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด จะไม่มีอาการแสดงใด ๆ จนกว่ามีภาวะแทรกซ้อนที่ปอดก็จะมีอาการเจ็บหน้าอก

            ส่วนกลุ่มที่มีอาการจะรู้สึกปวดหน่วง ๆ ตึง ๆ หรือเจ็บบริเวณน่อง หรือข่าข้างหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาเดิน ซึ่งเกิดขึ้นฉับพลัน และอาจมีอาการบวมที่ข้อเท้า เท้า หรือตันขาร่วมด้วย

การป้องกัน ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด

  1. โรคนี้อาจมีอันตรายร้ายแรงได้ หากสงสัย เช่น มีอาการปวดเจ็บน่องและขาบวมข้างหนึ่ง เกิดขึ้นฉับพลัน ก็รีบไปโรงพยาบาลโดยเร็ว
  2. ผู้ป่วยที่รับสารกันเลือดเป็นลิ่ม อาจมีเลือดออกได้ง่าย ควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุหรือบาดแผล และถ้ามีเลือดออก ควรรีบไปโรงพยาบาล
  3. อาการขาบวมข้างหนึ่ง อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ที่สำคัญคือ ทางเดินน้ำเหลืองอุดกั้น ซึ่งอาจเกิดจากมะเร็งภาวะแทรกซ้อนจากการ ฉายรังสี การติดเชื้อ (เช่น โรคเท้าช้าง) สาเหตุเหล่านี้มักไม่มีอาการเจ็บปวดอย่างไรก็ตาม เมื่อพบอาการขาบวมข้างหนึ่งก็ควรปรึกษาแพทย์  เพื่อตรวจสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

1.สำหรับผู้ที่นั่งรถหรือเครื่องบินควรป้องกันไมให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ โดยการปฏิบัติดังนี้

  • ถ้านั่งเครื่องบิน ควรลุกขึ้นเดินในห้องน้ำโดยสารทุก ๆ ชั่วโมง ถ้านั่งรถ ทุก ๆ ชั่วโมงควรหยุดรถ และเดินไปมารอบรถสักครู่
  • ขณะนั่งอยู่กับที่ หมั่นบริหารขาโดยการงอเหยียดข้อเท้าขึ้นลง 10 ครั้ง

ในกรณีโดยสารเครื่องบินนานเกิน 6 ชั่วโมงควรปฏิบัติเพิ่มเติม  ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าหรือเข็มขัดรัดเอว
  • ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ

                 2. ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยอัมพาต คนอ้วน ผู้หญิงที่กินยาเม็ดคุมกำเนิดหรือฮอร์โมนทดแทน ควรมีการออกกำลังกาย   หรือเคลื่อนไหวร่างกาย (เช่น เดิน) อยู่บ่อย ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ (อย่าให้ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ) หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หมั่นบริหารขาโดยการงอ - เหยียดข้อเท้าขึ้นลง

                 3. สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เคยมีภาวะหลอดเลือดดำมีลิ่มเลือดมาก่อน มีภาวะเลือดจับเป็นลิ่มง่าย ผู้ที่ต้องรับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพก ผู้ป่วยโรค หัวใจหรืออัมพาต เป็นต้น ถ้าจำเป็นต้องรับการผ่าตัด หรือเข้าพักรักษาตัว (นอนบนเตียง) ในโรงพยาบาลนาน ๆ แพทย์อาจพิจารณาให้สารกันเลือดจับเป็นลิ่มป้องกัน

การรักษา ภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด

หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง แต่หากมีอาการเจ็บหน้าอก หรือหายใจหอบร่วมด้วยควรส่งโรงพยาบาลด่วน

                แพทย์จะทำการวินิจฉัยด้วยการตรวจ อัลตราซาวด์ (Doppler ultrasonography) การถ่ายภาพรังสีเลือดดำด้วยการฉีดสารทึบรังสี  (venography) ในกรณี สงสัยว่าอาจมีภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอดก็จะทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม

การรักษา  มักจะต้องรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลโดยให้ผู้ป่วยนอนพักและยกเท้าสูง 6 นิ้วให้สารกันเลือดเป็นลิ่ม ได้แก่ เฮพาริน   (heparin) ฉีดเข้าใต้ผิวหนังแล้วให้กินยาเม็ดวาร์ริน (warfarin) ต่อซึ่งอาจต้องกินนาน 2-6 เดือน ยานี้ทำให้เลือดออกได้ง่าย  จำเป็นต้องตรวจเลือดดู clotting time แล้วปรับขนาดยาให้เหมาะสม

การรักษาอื่น ๆ ได้แก่ การพันด้วยผ้าพันแผลชนิด ยืด หรือการสวมใส่ถุงเท้าชนิดยืด (elastic stoching) เพื่อแก้ไขอาการบวมและป้องกันภาวะแทรกซ้อน การผ่าตัดเอาลิ่มเลือดออกบางกรณีอาจสอดใส่ “ตัวกรอง (filter)ไว้ในท่อเลือดดำส่วนล่าง (inferior vena cava) เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ่มเลือดหลุดลอยเข้าปอด

[Total: 1 Average: 5]