ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแต่อย่างใด และมักจะตรวจพบโดยบังเอิญขณะไปให้แพทย์ตรวจรักษาด้วย ปัญหาอื่น
ส่วนน้อยอาจมีอาการปวดมืนท้ายทอยตึงที่ต้นคอ เวียนศีรษะ มักจะเป็นเวลาตื่นนอนใหม่ ๆ พอตอนสายจะทุเลาไปเอง
บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะตุบ ๆ แบบไมแกรนได้
ในรายที่เป็นนาน ๆ หรือความดันโลหิตสูงมาก ๆ อาจมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ มือเท้าชา ตามัว หรือมีเลือดกำเดาไหล
เมื่อปล่อยทิ้งไว้นาน ๆโดยไม่ได้รับการรักษา ก็อาจแสดงอาการของภาวะแทรกซ้อน เช่น เจ็บหน้าอกบวม หอบเหนื่อย แขนขาเป็นอัมพาต เป็นต้น
ในรายที่เป็นความดันโลหิตสูงชนิดทุติยภูมิ ก็อาจมีอาการแสดงของโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น มีระดับความ ดันโลหิตแกว่งขึ้น ๆ ลง ๆ ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ใจสั่นและเหงื่อออกเป็นพักๆ (อาจเป็นเนื้องอกต่อมหมวกไตฟีโอโครโมไซโตมา) ปวดหลังร่วมกับปัสสาวะขุ่นแดง (อาจเป็นนิ่วไต) ต้นแขนและขาอ่อนแรงเป็นเป็นพัก ๆ (อาจเป็นภาวะแอลโดสเตอโรนสูงชนิดปฐมภูมิ) มีอาการนอนกรนผิดปกติ (อาจเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ) รูปร่างอ้วนฉุ หน้าอูม มีไขมัน (หนอกควาย) ที่หลังคอ และมีประวัติกินยาสตีรอยด์ ยาชุด หรือยาลูกกลอน (อาจเป็นโรคคุชซิง) เป็นต้น
ข้อแนะนำ
1.วิธีการวินิจฉัยโรความดันโลหิตสูง รวมทั้งการติดตามผลการรักษาที่แน่นอนคือการตรวจวัดความดันโลหิต การอาศัยแต่สังเกตดูอาการเพียงอย่างเดียวมักจะไม่แน่นอน เพราะโรคนี้ส่วนมากจะไม่มีอาการแสดงแต่อย่างใด คนทั่วไปมักมีความเข้าใจผิดว่าความดันโลหิตสูงจะทำให้มีอาการปวดศีรษะ (ถ้าไม่ปวดศีรษะก็นึกว่าไม่เป็นความดันโลหิตสูง) ความจริงแล้ว ความดันโลหิตสูงที่จะแสดงอาการปวดศีรษะนั้นนับว่ามีเพียงส่วน น้อย และอาการปวดศีรษะส่วนมากก็เกิดจากความเครียด ไมแกรน และอื่น ๆ มากกว่าความดันโลหิตสูง
2. ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ ด้วยการใช้ยาลดความดันเพียง1-2 ชนิด มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ต้องใช้ยาลดความดันมากกว่า 2 ชนิด
3. ภาวะแทรกซ้อนจะเกิดขึ้นต่อเมื่อปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอยู่นานเป็นแรมปี หากได้รับการรักษาอย่างจริงจัง โอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนก็จะลดน้อยลง และสามารถมีชีวิตยืนยาวเช่นคนปกติ ดังนั้นจึงควรแนะนำให้ผู้ป่วยติดต่อรักษากับแพทย์อย่าได้ขาด และถึงแม้รู้สึกสบายดี (ไม่มีอาการผิดปกติอะไร) ก็ควรหมั่นวัดความดันเป็นประจำ อาจเป็นเดือนละ 1-2 ครั้ง อาจวัดกันเองที่บ้าน หรือไหว้วานให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้านช่วยวัดให้ก็ได้ ควรลงสมุดบันทึกแล้วนำไปให้แพทย์ดู ในการตรวจครั้งต่อไป
ผู้ป่วยบางรายวัดที่บ้านจะมีค่าความดันปกติแต่เมื่อไปวัดที่สถานพยาบาลจะพบว่าความดันโลหิตสูง(อาการลักษณะนี้เรียกว่า“White-coat hypertension”) ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรมีเครื่องวัดความดันคอยวัดเองที่บ้านซึ่งจะช่วยประเมินค่าความดันได้ดีกว่า
4. ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาเอง ถึงแม้จะรู้สึกสบายดีหรือความดันลดลงแล้วก็ตาม การลดยาหรือหยุดยา ควรให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้พิจารณาโดยจะถือหลักว่า เมื่อให้ยาจนความดันลดเป็นปกติได้ติดต่อกันนาน1 ปี อาจลองลดขนาดยาลงที่ละน้อย แล้วตรวจวัดความดันเป็น ระยะ ๆ ถ้าความดันปกติก็ให้ยาขนาดนั้น ๆ หรือค่อย ๆ ลดลงจนหยุดยาไปเลย แต่ต้องหมั่นตรวจวัดความดันต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าขึ้นสูงใหม่ก็ให้ยาใหม่ หรือเพิ่มขนาดยา ขึ้นไปใหม่ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยจำเป็นต้องใช้ยาควบคุมความดันไปตลอดชีวิต
5.ในการให้ยารักษาความดัน ควรเริ่มให้ทีละน้อยก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มเขนาดขึ้นไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้เพื่อระวังไม่ให้ยาเกินขนาด จะทำให้ความดันตกมากเกินไป ผู้ป่วยจะมีอาการหน้ามืดเป็นลมเวลาลุกนั้น
6. ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัว อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนช่วยใน การควบคุมความดันโนโลหิตให้ปกติและป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ถ้าปฏิบัติตัวได้ดี ความดันอาจลดโดย ไม่ต้องใช้ยารักษา (ถ้าเป็นระดับที่ 1) หรือไม่ก็ช่วยลด ขนาดของยาที่ใช้ (ถ้าเป็นระดับที่ 2 และ 3)
7. ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แม้ว่าจะรู้สึกสบายดี ก็ควรตรวจวัดความดันอย่างน้อยทุก 2 ปี และอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจความดันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีรูปร่างอ้วน หรือมีพ่อแม่ พี่น้องเป็นโรคนี้ ควรตรวจวัดความดันที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เช่น สถานีอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิก แพทย์ เป็นต้น