โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

โรคหัวใจขาดเลือด/โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (ischemic heart disease/IHD) หรือโรคหลอดเลือดโคโรนารี (coronary artery disease/CAD) หมายถึง โรคหัวใจที่เกิดการตีบตันของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ดังที่เรียกว่า หลอดเลือดหัวใจ หรือหลอดเลือดโคโรนารี (coronary artery) ทำให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจลดลงหรือชงักไป เมื่อผู้ป่วยมีภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้น หรือมีออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อน้องลง ก็จะทำให้มีอาการเจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราว โดยที่ยังไม่มีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจเกิดขึ้น อาการดังกล่าว
เรียกว่า โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ (angina  pectoris)
                แต่ถ้ากล้ามเนื้อหัวใจมีการตายเกิดขึ้นบางส่วนเนื่องจากหลอดเลือดหัวใจเกิดการอุดตันจากลิ่มเลือดเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้เลย ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง ซึ่งมักจะมีภาวะช็อกและหัวใจวายร่วมด้วย เรียกว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (myocardial infarction / MI)
                โรคนี้มักจะพบได้มากขึ้นตามอายุ ส่วนมากจะมีอาการเริ่มแรกเมื่อมีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มักไม่พบในผู้ชายอายุต่ำกว่า 30 ปี หรือผู้หญิงอายุต่ำกว่า 40 ปี ที่ไม่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อน  พบในผู้ชายมากกว่า  ผู้หญิง
                คนที่อยู่ดีกินดี  คนที่มีอาชีพทำงานนั่งโต๊ะและคนในเมืองมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนยากจน คนที่มีอาชีพใช้แรงงาน และชาวชนบท
ผู้ที่เป็นโรคนี้อาจมีประวัติว่ามีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคนี้ด้วย

สาเหตุ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ส่วนใหญ่เกิดจากหลอดเลือดหัวใจมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ซึ่งเกิดจากความเสื่อมตามอายุหรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ  เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูงหรือผิดปกติ  ความดันโลหิตสูง ความอ้วย  การสูบบุหรี่จัด  การขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น
                นอกจากนี้ยังพบได้ว่า ภาวะโฮโมซิสตีนในเลือดสูง (hyperhomocysteinemia) ภาวะจาดไทรอยด์ ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดแข็งและโรคหัวใจขาดเลือดได้
                ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจแข็ง จะมีไขมัน (คอเลสเตอรอลและไขมันชนิดอื่นๆ) เกาะที่ภายในผนังหลอดเลือดหัวใจเรียกว่าตะกรันท่อเลือดแดง atheroma/atherosclerotic plaque) ทำให้ช่องทางเดินของเลือดตีบแคบลง เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้น้อยลง และจะเกิดอาการของโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดชั่วขณะเมื่อมีภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้น (เช่น การออกแรงมากๆ ขณะร่วมเพศ การมีอารมณ์โกรธ หรือจิตใจเครียด) หรือมีออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจน้องลง (เช่น ภาวะซีด หลอดเลือดหดตัวขณะสูบบุหรี่ เลือดไปเลี้ยงหัวใจน้อยลงหลังกินอาหารอิ่ม)
                ส่วนน้อยอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ลิ้นหัวใจ เออร์ติกตีบหรือรั่ว หัวใจห้องล่างซ้ายโตจากโรคความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจพิการ (cardiomyopathy) การหดเกร็ง (spasm) ของเหลอดหัวใจ หลอดเลือดหัวใจปกติแต่กำเนิด การติดเชื้อหรือการอักเสบของหลอดเลือดหัวใจ การบาดเจ็บ การฉายรังสีบริเวณทรวงอก เป็นต้น
ส่วนโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ส่วนใหญ่เกิดจากมีลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดหัวใจซึ่งเกิดขึ้นฉับพลันทันทีซึ่งเกิดในผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจแข็งและตีบมาก่อน มักเป็นผลจากตะกรันท่อเลือดแดงที่เกาะที่ผนังหลอดเลือดหัวใจมีการขาดหรือแตก เกล็ดเลือดจับเป็นลิ่มเลือดอุดตันช่องทางเดินเลือดอย่างสมบูรณ์ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและตายฉับพลัน
                ส่วนน้อยอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ภาวะมีลิ่มเลือดในหัวใจแล้วหลุดลอยไปอุดตันหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดหัวใจหดเกร็งรุนแรงจากยาเสพติด (ได้แก่ โคเคน แอมเฟตามีน) เป็นต้น

อาการ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ  จะมีอาการปวดเค้นคล้ายมีอะไรกดทับหรือจุกแน่นที่ตรงกลางหน้าอกหรือยอดอก ซึ่งมักจะเจ็บร้าวมาที่ไหล่ซ้ายด้านในของแขนซ้าย บางรายอาจร้าวมาที่คอ ขากรรไกร หลัง หรือแขนขา
                บางรายอาจรู้สึกจุกแน่นที่ใต้ลิ้นปี่  คล้ายอาการอาหารไม่ย่อยหรือท้องอืดเฟ้อ
                ผู้ป่วยมักมีอาการกำเริบเป็นบางครั้งบางคราวเวลาออกแรงมาก ๆ (เช่น ยกของหนัก เดินขึ้นที่สูง ออกกำลังแรง ๆ ทำงานหนัก ๆ แบบที่ไม่เคยทำมาก่อน) มีอารมณ์โกรธ  ตื่นเต้น ตกใจ เสียใจ หรือจิตใจเคร่งเครียด ขณะร่วมเพศ หลังกินข้าวอิ่มจัด ขณะสูบบุหรี่ หรือเวลาถูกอากาศ
เย็น ๆ 
               ผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง เป็นไข้  หรือหัวใจเต้นเร็ว (เช่น หลังดื่มกาแฟ หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคคอพอกเป็นพิษ) ก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการของโรคนี้ได้
                อาการเจ็บหน้าอก มักจะเป็นอยู่นาน 2-3 นาที (มักไม่เกิน 10-15 นาที) แล้วหายไปเมื่อได้พักหรือหยุดกระทำสิ่งที่เป็นสาเหตุชักนำ  หรือหลังจากได้อมยาขยายหลอดเลือด (เช่น ไนฝดตรกลีเซอรีน)
                นอกจากนี้ ขณะมีอาการเจ็บหน้าอก ผู้ป่วยอาจมีอาการใจสั่น เหนื่อยหอบ เหงื่อออก เวียนศีรษะ  คลื่นไส้ร่วมด้วย
                ผู้ป่วยที่มีความรู้สึกเจ็บหน้าอกแบบแปลบๆ เวลาหายใจเข้าลึกๆ ไอหรือจาม หรือเจ็บเวลาก้มหรือเอี้ยวตัว หรือกดถูกเจ็บ หรือรู้สึกเจ็บทั่วหน้าอกอยู่เรื่อยๆ โดยที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดีและเวลาออกกำลังกายหรือทำอะไรเพลินๆหายเจ็บ มักไม่ใช่อาการแสดงของโรคหัวใจขาดเลือด 
                อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เคยมีอาการเจ็บหน้าอกจากโรคหลอดเลือดหัวใจขาดเลือดชั่วขณะเป็นครั้งคราวหากต่อมามีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงขึ้น กำเริบบ่อยขึ้น หรือมีอาการเจ็บหน้าอกแม้ขณะพักหรือออกแรงเพียงเล็กน้อย ให้สงสัยว่าตะกรันท่อเลือดแดงอาจสะสมมากขึ้นจนหลอดเลือดหัวใจเกิดการอุดตันมากขึ้น  หรือตะกรัน เริ่มแตกหรือมีลิ่มเลือดเกิดขึ้น อาการเช่นนี้ เรียกว่า โรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบไม่คงที่ (unstable angina) ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉิน เพราะอาจเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจ ตายเฉียบพลันตามมาได้
ในรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ส่วนใหญ่จะมีอาการเจ็บหน้าอกในลักษณะเดียวกับโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ แต่จะเจ็บรุนแรงและต่อเนื่องนานเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันๆ แม้จะได้นอนพักก็ไม่ทุเลา บางรายอาจมีอาการปวดแน่นท้องคล้ายโรคกระเพาะหรือไม่มีอาการเจ็บหน้าอก
ก็ได้
                ผู้ป่วยมักมีอาการอ่อนเปลี้ยเพลียแรง ใจสั่น หน้ามืด เวียนศีรษะ คลื่นไส้  อาเจียนร่วมด้วยถ้าเป็นรุนแรงจะมีอาการหายใจหอบเหนื่อย เนื่องจากมีภาวะหัวใจวาย หรือเกิดภาวะช็อก (เหงื่อออก ตัวเย็น กระสับกระส่าย ใจหวิว เป็นลม) หรือชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ
                ผู้ป่วยอาจเป็นลม หมดสติ หรือตายในทันทีทันใด
                บางรายอาจมีประวัติว่า เคยมีอาการเจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราวนำมาก่อน เป็นเวลาหลายสัปดาห์
                บางรายอาจไม่มีอาการเจ็บหน้าอกมาก่อนเลยก็ได้

ป้องกัน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

1.โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง และอาจมีอันตรายร้ายแรงเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ควรติดต่อรักษากับแพทย์ประจำและควรพกยาไนโตรกลีเชอรีน หรือไอโซซอร์ไบด์ชนิดอมใต้ลิ้น ติดตัวไว้ใช้เวลามีอาการ
2.สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย เมื่อกลับจากโรงพยาบาลแล้ว  ควรพักฟื้นที่บ้านอีกสักระยะหนึ่ง อย่าทำงานหนัก และงดการร่วมเพศเป็นเวลา 4-5 สัปดาห์ 
                ผู้ป่วยสามารถเริ่มกลับไปทำงานได้หลังมีอาการ 8 -12 สัปดาห์ แต่ห้ามทำงานที่ต้องใช้แรงมาก
                ผู้ป่วยควรป้องกันมิให้มีอาการกำเริบอีกโดยการกินยาตามแพทย์สั่งเป็นประจำ และฏิบัติตัวดังในข้อ 6 สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากก็อาจมีโอกาสหายขาดและมีชีวิตยืนยาวเช่นคนปกติได้ ส่วนในรายที่กำเริบใหม่มักมีโรคอื่นแทรกซ้อนอยู่ก่อนหรือหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมีการตีบตันจำนวนมาก
3.ผู้ที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดบางรายอาจไม่มีอาการเจ็บจุกหน้าอกชัดเจน แต่อาจรู้สึกคล้ายมีอาการปวดเมื่อยที่ขากรรไกร หัวไหล่ หรือท้ายทอย ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเพียงอาการปวดกล้ามเนื้อหรือกระดูก บางายอาจมีอาการเจ็บหน้าอกกำเริบขณะอยู่ในท่านอน (เรียกว่า angina decubitus) หรือเจ็บหน้าอกขณะพัก (ซึ่งพบในผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากาการหดเกร็งของหลอดเลือดหัวใจแขนงใหญ่) ดังนั้น ถ้าพบผู้ป่วยมีอาการกำเริบบ่อย  และมีอายุมากหรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ (เช่น สูบบุหรี่จัด ความดันโลหิตสูง  เบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง อ้วน เป็นต้น) ก็ควรจะตรวจเช็กให้แน่ใจ
4.โรคนี้บางครั้งอาจมีอาการจุกแน่นลิ้นปี่ เหมือนอาการอาหารไม่ย่อย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นหลังกินอาหารใหม่ๆอาจทำให้วินิจฉัยผิดว่าเป็นโรคกระเพาะหรืออาหารไม่ย่อยได้   ดังนั้น  ถ้าพบอาการจุกแน่นลิ้นปี่ในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง  มีประวัติสูบบุหรี่ หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ก็ควรจะตรวจเช็กให้แน่ใจ ก่อนที่จะวินิจฉัยว่าเป็นเพียงโรคกระเพาะหรืออาหารไม่ย่อย
5.บางรายอาจมีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบโดยไม่ปรากฏอาการก็ได้  ดังนั้นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคนี้ควรตรวจเช็กหัวใจ และอาจต้องให้การรักษาตามความเหมาะสมต่อไป
6. ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วย ซึ่งจะมีส่วนช่วยรักษาให้มีชีวิตยืนยาวได้เท่าหรือเกือบเท่าคนปกติ ได้แก่
ก.เลิกบุหรี่เด็ดขาด
ข.ถ้าอ้วน ควรหาทางลดน้ำหนัก
ค.อย่ากินอาหารที่มีไขมันสัตว์สูง และใช้น้ำมันจากพืช (ยกเว้นกะทิ) แทนน้ำมันหมู
ง.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หักโหม และควรค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อยทางที่ดีควรขอคำแนะนำจากแพทย์เสียก่อนที่จะออกกำลังกายมากๆ การออกกำลังกายที่แนะนำให้ทำกัน ได้แก่ เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น
จ.หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการโรคหัวใจกำเริบ เช่น

  • อย่าทำงานหักโหมเกินไป
  • อย่ากินข้าวอิ่มเกินไป
  • ระวังอย่าให้ท้องผูก โดยการดื่มน้ำมากๆ กินผลไม้ให้มากๆ และควรกินยาระบายเวลาท้องผูก
  • ควรงดดื่มชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่ใส่กาเฟอีน
  • หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้อารมณ์เครียด ตื่นเต้นตกใจ หรือการกระทบกระเทือนทางจิตใจ และทำจิตให้เบิกบานอยู่เสมอ

โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่างๆ (ความเครียดอาจทำให้ความดันโลหิตสูง  เบาหวาน  และภาวะไขมันในเลือดสูงกำเริบ หรือชักนำให้ผู้ป่วยสูบบุหรี่ได้) ระวังอย่าให้อ้วน ลดการกินอาหารที่มีไขมันสูงรักษาภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และเบาหวานให้อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้อย่างต่อเนื่อง และกินยาป้องกัน (เช่น แอสไพริน) ตามคำแนะนำของแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวานและผู้ที่เคยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมาก่อน

การรักษา โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

1.ในรายที่สงสัยเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ (มีอาการเจ็บหน้าอกเพียงชั่วขณะ เป็นบางครั้งบางคราว) ควรแนะนำผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาล แพทย์มักจะวินิจฉัยโดยการตรวจคลื่นหัวใจ(electrocardiography/ECG/EKG) ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ (ดูว่าเป็นเบาหวานมีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ หรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ หรือไม่)
                ในกรณีที่คลื่นหัวใจบอกผลได้ไม่ชัดเจน อาจจำเป็นต้องทำการตรวจคลื่นหัวใจซ้ำ  หรือทำการตรวจพิเศษอื่นๆเพิ่มเติม เช่นการตรวจคลื่นหัวใจขณะออกกำลังกาย (exercise stress test) โดยการวิ่งบนสายพานหรือปั่นจักรยาน การถ่ายภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (echocardiography) การถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจ (coronary angiography) เป็นต้น
การรักษา  แพทย์จะให้ยาขยายหลอดเลือดหัวใจกลุ่มไนเทรต เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก ได้แก่ ไนโตรกลีเซอรีน (nitroglycerine) หรือไอโซซอร์ไบด์ (isosorbide) อมใต้ลิ้นทัทีเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกยานี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการปวดศีรษะแบบตุบๆ ที่ขมับคล้ายไมแกรน เนื่องจากหลอดเลือดที่ขมับขยายตัว บางรายอาจมีอาการเป็นลมขณะลุกขึ้นยืน ดังนั้น เวลาจะอมยากลุ่มนี้  ควรนั่งลงเสียก่อนอย่าอยู่ในท่ายืน นอกจากนี้ อาจให้ยาขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดออกฤทธิ์นาน เช่น ไอโซซอร์ไบด์ (isosorbide) มีชื่อการค้า เช่น ไอซอร์ดิล (Isordil) ไดไพริดาโมล (dipyridamole )มีชื่อการค้า  เช่น เพอร์แซนทิน (Persantin) เพนตาอีริไทรทอล (pentaerythritol) มีชื่อการค้า เช่น เพอริเทรต (Peritrate) กินวันละ 2- 40 ครั้ง ครั้งละ 1 เม็ด เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการ
                ผู้ป่วยทุกราย แพทย์จะให้ยาต้านเกล็ดเลือดได้แก่ แอสไพริน ขนาด 75-325 มก.วันละครั้ง เพื่อไม่ให้เกล็ดเลือดจับเป็นลิ่มเกาะที่ผนังหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น ถ้าแพ้แอสไพรินหรือมีข้อห้ามใช้ยานี้อาจให้ไทโคลพิดีน (ticlopidine) 250 มก. วันละ 2 ครั้ง หรือโคลพิเกรล (clopidogrel) 75 มก.วันละครั้ง
                บางครั้งอาจต้องให้ยาปิดกั้นบีตา เช่น โพรพราโนลอล กินวันละ 4 ครั้ง ครั้งละ 20-80 มก. ยาต้านแคลเซียม เช่น ไนเฟดีพินชนิดออกฤทธิ์นาน 30-90 มก.วันละครั้ง หรือยาต้านเอช เช่น รามิพริล (ramipril) เริ่มด้วยขนาด 2.5 มก./วัน แล้วค่อยๆ เพิ่มจนถึง 10 มก./วัน ซึ่งสามารถลดการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และป้องกันการเสียชีวิตได้
                ถ้าผู้ป่วยมีโรคที่เป็นสาเหตุ เช่นภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ก็ต้องให้ยารักษาโรคเหล่านี้ร่วมด้วย
                ในรายที่มีอาการเจ็บหน้าอกบ่อยหรือใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์จะทำการถ่ายภาพหลอดเลือดหัวใจ ถ้าพบว่ามีการอุดกั้นรุนแรงหรือหลายแห่งก็จะทำการแก้ไข โดยการขยายหลอดเลือดด้วยบัลลูน (นิยมเรียกว่า  การทำบัลลูน) และใส่หลอดลวดตาข่าย (stent) คาไวในหลอดเลือดบริเวณที่ตีบตัน
                 ในบางครั้งแพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดเปิดทางระบาย (ทางเบี่ยง)ของหลอดเลือดหัวใจ (นิยมเรียกว่า การผ่าตัดบายพาส) วิธีมักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง ใช้ยารักษาไม่ได้ผล หรือไม่สามารถทำบัลลูนหรือทำบัลลูนไม่ได้ผล

2.ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงหรือต่อเนื่องเป็นชั่วโมงๆ ถึงเป็นวันๆ มีภาวะหัวใจวาย  ช็อกหรือหมดสติหรือมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงและบ่อยขึ้นกว่าเดิม หรือมีอาการเจ็บหน้าอกขณะพักหรือออกแรงเพียงเล็กน้อยควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลด่วน ถ้าเป็นไปได้ก่อนส่งควรให้อมไนโตรกลีเซอรีน หรือไอโซซอร์ไบด์  ฉีดยาระงับ ปวด เช่น มอร์ฟีน และให้แอสไพรินขนาด 162-325 มก.( ยาเม็ดแอสไพรินขนาดผู้ใหญ่ 1 เม็ด) เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืนพร้อมน้ำ พร้อมทั้งให้น้ำเกลือและ ออกซิเจนระหว่างทางด้วย
                แพทย์จะทำการตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจเลือด (มักพบระดับของ creatine  kinase-MB และ troponin ในเลือดสูงกว่าปกติในผู้ป่วยที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน) และตรวจพิเศษอื่นๆ ถ้าพบว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบไม่คงที่  (unstable angina) ก็จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล
การรักษา ในรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน แพทย์จะให้แอสไพรินเคี้ยวก่อนกลืน (ถ้ายังไม่ได้รับมาก่อน  ซึ่งจะช่วยลดขนาดของลิ่มเลือดที่อุดตัน ช่วยให้รอดชีวิตได้)ให้ยาปิดกั้นบีตา (เพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดการทำงานของหัวใจ  ป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายมากขึ้น) ให้ยาต้านเอช (เพื่อลดการพองตัวของหัวใจ รักษาภาวะหัวใจวายช่วยลดการตายลงได้) ฉีดมอร์ฟีนระงับปวด  และให้ออกซิเจน
                นอกจากนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจพิจารณาให้การรักษาขั้นต่อไป คือ การให้ยาละลายลิ่มเลือด (throm-bolytic agent ได้แก่ ทีพีเอ  (tPA/recombinant  tissuetype plasminogen activator)หรือสเตรปโตเนส (streptokinase) ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ (ซึ่งจะได้ผลดีเมื่อให้ภายใน 6 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ)  หรือไม่ก็อาจพิจารณาทำบัลลูนหรือผ่าตัดบายพาสแบบฉุกเฉิน
                บางกรณี แพทย์อาจให้สารกันเลือดเป็นลิ่มได้แก่  เฮพารินชนิดน้ำหนักโมเลกุลต่ำ (lor molecular weight heparin/LMWH) เสริมในรายที่ให้ที่พีเอ (tPA) หรือทำบัลลูน
                ใน 2-3 วันแรก  ผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนพักอยู่บนเตียง (ห้ามลงจากเตียง) ผู้ป่วยต้องงดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด แพทย์จะให้ยาระบายเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยแบ่งถ่ายอุจจาระเพราะท้องผูก ให้ยาจิตประสาทเพื่อควบคุมภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า โดยทั่วไปหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนผู้ป่วยจำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน 5-7 วัน เมื่ออาการทุเลาดีแล้ว ก็จะเริ่มทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูสภาพหัวใจให้แข็งแรง และให้ยารักษาแบบเดียวกับโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะอย่างต่อเนื่องต่อไป
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบไม่คงที่  แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ให้ยาแบบเดียวกับโรคหัวใจขาดเลือดทั่วไป รวมทั้งให้สารกันเลือดเป็นลิ่ม (ได้แก่ เฮพาริน) และยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น แอสไพริน ไทโคลพิดีน หรือโคลพิโดเกรล) ให้ยาปิดกั้นบีตา และให้ไนโตรกลีเซอรีนชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อลดการทำงานของหัวใจ ถ้าไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา ก็จะทำการถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจและทำบัลลูนหรือผ่าตัดบายพาส
                ผลการรักษาขึ้นกับความรุนแรงของโรค สภาพของผู้ป่วย โรคที่พบร่วมและวิธีรักษา
                ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง มักได้ผลการรักษาที่ดี การใช้แอส-ไพรินสามารถป้องกันไม่ให้กลายเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายและลดการตายลงได้ ส่วนการทำบัลลูนและการผ่าตัดบายพาส ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงอยู่รอดปลอดภัยมากขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้ผลการรักษาไม่สู่ดีได้แก่ ผู้ป่วยอายุมาก เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ มีอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน (เช่น หัวใจวาย)
                ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดแบบไม่คงที่ถ้าเริ่มมีกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน หรือมีความล่าช้าในการถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจและการบำบัดที่   เหมาะสม  ผลการรักษามักจะไม่ดี
                ส่วนผู้ป่วยที่เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน  ถ้าเป็นรุนแรงหรือกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายปริมาณมาก ก็มักจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็วหรือทันทีทันใดในรายที่สามารถมีชีวิตรอดได้  2-3 วันหลังเกิดอาการก็มักจะฟื้นตัวจนเป็นปกติได้  ซึ่งบางรายอาจกำเริบซ้ำและเสียชีวิตภายใน 3-4  เดือนถึง 1 ปีต่อมา  ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการต่อเนื่อง เช่น เจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราว หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือภาวะหัวใจวาย มักพบอัตราตายและการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน หรือมีภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัวร่วมด้วย 

ส่วนในรายที่ได้รับการทำบัลลูนหรือผ่าตัดบายพาส  มักจะฟื้นสภาพได้ดี   และมีชีวิตได้ยืนยาวขึ้นแต่บางรายก็อาจมีหลอดเลือดหัวใจตีบตันช้ำ   ซึ่งอาจต้องทำบัลลูนหรือผ่าตัดบายพาสซ้ำ


[Total: 1 Average: 5]