อีสุกอีใส

อีสุกอีใส คือ โรคที่พบบ่อยในเด็ก มีอัตราป่วยสูงสุดในช่วงอายุ 5 – 9 ปี รองลงมาคือ 0-4  ปี 10- 14 ปี 15- 24  ปี และ  25-34  ปี ตามลำดับ ในคนอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปก็อาจพบได้บ้าง  ซึ่งมักเป็นคนที่ไม่เคยเป็นโรคนี้ลงหรือไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มาก่อน (ปัจจุบันนิยมเรียกว่า ไข้สุกใส หรือ โรคสุกใส)

โรคนี้สามารถระบาดแพร่กระจายได้ง่าย พบได้ ตลอดทั้งปี มีอุบัติการณ์สูงในเดือนมกราคมถึงเมษายน อาจพบระบาดตามชุมชน โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก

สาเหตุ อีสุกอีใส

เกิดจากเชื้ออีสุกอีใส งูสวัด ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่าไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (varicella-zoster  virus หรือ VZV) หรือ human herpesvirus type 3

เชื้อนี้จะก่อโรคอีสุกอีใสในผู้ที่เพิ่งติดเชื้อครั้งแรกหลังจากนั้นเชื้อจะหลบซ่อนอยู่ในปมประสาท  เมื่ออายุมากขึ้นหรือภูมิคุ้มกันต่ำ เชื้อที่หลบซ่อนนั้นก็จะเจริญขึ้นใหม่ก่อให้เกิดโรคงูสวัด กับไข้หวัดหรืออีกทางหนึ่งก็โดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองของน้ำลายหรือเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด  หรือออกมาแขวนลอยอยู่ในอากาศ (airborne transmission) แบบเดียวกับไข้หวัดใหญ่ไม่ว่าติดต่อโดยทางใด  เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางระบบทางเดินหายใจแล้วเข้าสู่กระแสเลือด กระจายไปทั่วร่างกาย  รวมทั้งที่ผิวหนัง ระยะฟักตัว  10 - 20  วัน (เฉลี่ย 14 - 17 วัน)

อาการ อีสุกอีใส

เด็กจะมีไข้ต่ำ ๆ  อ่อนเพลียและเบื่ออาหารเล็กน้อย ในผู้ใหญ่มักมีไข้สูงและปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน

ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้น  ซึ่งจะขึ้นพร้อม ๆ กันกับวันที่เริ่มมีไข้  หรือ 1 วันหลังจากมีไข้ เริ่มแรกจะขึ้นเป็นผื่นราบสีแดงขนาดเล็กๆ ก่อน 2-3 ชั่วโมงต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูนและตุ่มน้ำใสขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3  มม. มีฐานสีแดงอยู่โดยรอบ ตุ่มใสมักมีอาการคัน ภายใน  24 ชั่วโมงต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำขุ่น  ขนาดใหญ่ขึ้นและแตกง่าย  แล้วฝ่อหายไปหรือกลายเป็นสะเก็ด  สะเก็ด มักหลุดหายไปภายใน 7-10 วัน (บางรายอาจนาน  2-3 สัปดาห์) โดยไม่เป็นแผลเป็น  นอกจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน  อาจกลายเป็นตุ่มหนองและกลายเป็นแผลเป็น

ผื่นและตุ่มจะขึ้นตามลำตัว(หน้าอก  แผ่นหลัง)ก่อน แล้วไปที่หน้า หนังศีรษะ และแขนขา มักพบตุ่มกระจายอยู่ตามบริเวณลำตัวมากกว่าบริเวณอื่น ผื่นและตุ่มอันใหม่จะทยอยขึ้นเป็นระลอก ๆ ตามมาเป็นเวลา 3-6 วัน (ส่วนใหญ่ประมาณ 4 - 5 วัน)  แล้วก็จะหยุดขึ้น ผื่นที่ขึ้นก่อนจะกลายเป็นตุ่มขุ่น (ตุ่มสุก) และตกสะเก็ดก่อนผื่นที่ขึ้นทีหลัง  ดังนั้นมักจะพบว่าในบริเวณเดียวกันจะมีผื่นตุ่มทุกรูปแบบทั้งตุ่มสุกและตุ่มใส  ชาวบ้านจึงเรียกว่าอีสุกอีใส

อาจมีผื่นตุ่มใสในลักษณะเดียวกันขึ้นตามเยื่อบุปาก (เช่น  เพดานปาก ลิ้น  คอหอย) ซึ่งแตกเป็นแผลตื้นๆ ทำให้มีอาการเจ็บปาก  เจ็บลิ้น  เจ็บคอ บางรายอาจขึ้นที่เยื่ออื่นๆ เช่น เยื่อบุตา กล่องเสียง หลอดลม ทวารหนัก  ท่อปัสสาวะ ช่องคลอด  เป็นต้น

          ในเด็กอาการมักจะไม่รุนแรง ไข้มักไม่สูง  บางรายอาจไม่มีไข้  มีเพียงผื่นตุ่มขึ้น  ซึ่งในวันแรกๆ  อาจวินิจฉัยไม่ได้ชัดเจน  หรือคิดว่าเป็นเริม  ผื่นตุ่มในเด็กมัก ขึ้นไม่มากและมักหายได้เองภายใน  7 – 10  วัน
          ในผู้ใหญ่มักจะมีไข้สูง  ปวดเมื่อย  มีผื่นตุ่มขึ้นจำนวนมาก  และมักหายช้ากว่าเด็ก

          บางรายอาจติดเชื้อไวรัสอีสุกอีใส  โดยไม่มีอาการแสดงก็ได้  ทำให้ไม่รู้ตัวว่าเคยเป็นโรคนี้มาก่อน

สิ่งตรวจพบ อีสุกอีใส

          ในวันแรกๆ  จะพบผื่นแดง ตุ่มนูน และตุ่มน้ำใสขนาดเล็กๆ อยู่กระจายตามใบหน้า หน้าอก และแผ่นหลัง ในวันหลังๆจะพบผื่นและตุ่มหลายลักษณะอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน อาจพบผื่นตุ่มที่หนังศีรษะ  แผลเปื่อยที่เพดานปาก ลิ้น  หรือคอหอย

           ในเด็กอาจมีไข้ต่ำๆ  (37.5-38.5 องศาฯ) หรือไม่มีไข้
           ในผู้ใหญ่  มักพบว่ามีไข้สูง (39-40 ซ.)

ภาวะแทรกซ้อน อีสุกอีใส

                  พบได้น้อยในเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงอยู่เดิม แต่ถ้าเป็นในผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง  เอดส์ ปลูกถ่ายอวัยวะ ใช้ยารักษามะเร็งหรือสตีรอยด์ เป็นต้น) จะมีภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยและรุนแรง

                  ที่พบได้บ่อย คือ การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เนื่องจากไม่ได้รักษาความสระอาดหรือใช้เล็บเกา จนกลายเป็นแผลพุพอง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังอักเสบ หรือไฟลามทุ่ง ซึ่งอาจเป็นแผลเป็นได้

                  ที่ร้ายแรง คือ ปอดอักเสบ มักพบในผู้ที่มีมากกว่า 20  ปี หญิงตั้งครรภ์  หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ  มักเกิดจากไวรัสอีสุกอีใส บางรายอาจเกิดจากการติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัสแทรกซ้อน  อาการมักจะรุนแรงและมีอัตราตายสูง

                  อาจเกิดสมองอักเสซึ่งพบได้ประมาณ 1 ใน 1,000  พบในเด็กบ่อยกว่าผู้ใหญ่  มีอัตราตายร้อยละ 5 - 30  นอกนั้นมักจะหายได้เป็นปกติ

                  ที่พบได้น้อยแต่รุนแรงอีกอย่างก็ คือ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้มีเลือดออกในตุ่มน้ำใส  หรือเลือดออกตามปากและจมูก  มักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

                  หญิงตั้งครรภ์ในระยะไตรมาสแรกหรือไตรมาสที่ 2  ถ้ามีการติดเชื้ออีสุกอีใส  อาจทำให้ทารกน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อยหรือทารกพิการได้  เรียกว่า  กลุ่มอาการอีสุกอีใสแต่กำเนิด(congenital varicella syndrome) เช่น มีแผลเป็นตามตัว แขนขาลีบ ต้อกระจก ตาเล็ก  ศีรษะเล็ก  ปัญญาอ่อน  เป็นต้น  ความพิการในทารกได้ประมาณร้อยละ 0.5-6.5 (เฉลี่ยร้อยละ 2) ของทารกทีมีแม่เป็นอีสุกอีใสในช่วงไตรมาสแรก

                  นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นอีสุกอีใสภายใน  5 วันคลอด  หรือภายใน 48 ชั่วโมงหลังหลอด  ทารกที่เกิดมาอาจเป็นอีสุกอีใสชนิดรุนแรงซึ่งมีอัตราตายสูง

                  ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ  ที่อาจพบได้แต่น้อยมากเช่น โรคเรย์ซินโดรม ข้ออักเสบ ตับอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จอประสาทตาอักเสบ หน่วยไตอักเสบ อัณฑะอักเสบ  เป็นตัน

การป้องกัน อีสุกอีใส

โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใส  แนะนำให้ฉีดในเด็กช่วงอายุ 12 -18  เดือน ส่วนเด็กที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้และไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน  จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้และไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน  จะฉีดช่วงอายุใดก็ได้  ส่วนผู้ใหญ่แนะนำให้ฉีดเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น บุคคลกรทางการแพทย์  ผู้ดูแลเด็กในสถานรับเลี้ยงเด็ก ครูอนุบาลหรือชั้นประถมศึกษา  หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่วาง  แผนตั้งครรภ์ในอนาคต
เป็นต้น  ก่อนฉีดวัคซีนอาจต้อง เจาะเลือดตรวจว่าเคยเป็นโรคนี้มาก่อนหรือไม่ ถ้าเคยก็ไม่ต้องฉีดวัคซีน

การฉีดวัคซีน  สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 13  ปี ฉีดเพียงครั้งเดียว อายุตั้งแต่ 13 ปี ขึ้นไป  ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 4 - 8 สัปดาห์ วัคซีนนี้ห้ามฉีดในผู้ที่กำลังมีไข้สูง  ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง  หรือกินยากดภูมิคุ้มกัน  รวมทั้งยาสตีรอยด์ (ในขนาดเพร็ดนิโซโลนตั้งแต่ 2 มก. /กก./วัน  นานตั้งแต่ 14 วันขึ้นไป ควรให้หลังหยุดสตีรอยด์อย่างน้อย 1 เดือน)

 วัคซีนไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ไดรับวัคซีนควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 1 เดือน

  1. โรคนี้ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง และหายได้เอง โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ไข้อาจมีอยู่เพียงไม่กี่วัน  ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดหลุดหายใน 7-12 วัน ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้ อาจเป็นนานและมีความรุนแรงมากกว่าเด็ก
  2. โรคนี้เมื่อเป็นแล้ว  มักมีภูมิคุ้มกันต่ำ  อาจกำเริบซ้าๆได้) เมื่อตุ่มยุบหายแล้ว เชื้อมักหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทและอาจมีโอกาสเป็นงูสวัดในภายหลังได้
  3. ไม่ควรใช้ยาที่เข้าสตีรอยด์ทั้งยากิน (เช่น ยาชุด) และยาทา  เพราะอาจทำให้โรคลุกลามได้
  4. ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหากจนพ้นระยะติดต่อ (ระยะติดต่อตั้งแต่ระยะ  24 ชั่วโมงก่อนมีผื่นขึ้น  จนกระทั่งตุ่มทั้งหมดสะเก็ดแล้ว หรือประมาณ 6 วันหลังตุ่มขึ้น)
  5. ไม่มีของแสลงสำหรับโรคนี้  ควรให้ผู้ป่วยกินอาหารพวกโปรตีน (เช่น เนื้อ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ) ให้มาก ๆ เพื่อให้มีภูมิต้านทานโรค

การรักษา อีสุกอีใส

1.แนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย เช่น พักผ่อน  ดื่มน้ำมาก ๆ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้สูง อาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด  ถ้าตุ่มคันให้ใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบหรืออาบน้ำเย็นบ่อยๆ (ถ้าไม่ทำให้หนาวสั่น) และอยู่ในที่ ๆ อากาศเย็นสบาย  ถ้าเจ็บปากหรือปากเปื่อยลิ้นเปื่อยใช้น้ำเกลือกเย็น  ๆ  กลั้วคอ กินอาหารเหลว หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด เปรี้ยว เคี้ยวยาก ผู้ป่วยควรตัดเล็บให้สั้น และหลีกเลี่ยงการการแกะหรือเกาตุ่มที่คัน อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียกลายเป็นแผลเป็นได้

2.ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ถ้าทีไข้สูงให้พาราเซตามอลผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ชินโดรม ถ้าคันมากให้ยาแก้แพ้หรือไดอะซีเพม  และทายาแก้ผดผื่นคัน 

3.ถ้าตุ่มมีการติดเชื้อแบคทีเรีย (เช่น เป็นแผลพุพอง) ให้ทาด้วยขี้ผึ้งเตตราไชคลีน หรือเจนเชียนไวโอเลต ถ้าเป็นมากให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน  อีริโทรไมซิน  หรือร็อกซิโทรไมซิน

4.ถ้ามีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น หอบ ชัก ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว เลือดออก เป็นต้น ควรส่งโรงพยาบาลด่วน  ส่วนผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์  หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่นเอดส์ มะเร็ง) ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

5.การให้ยาต้านไวรัส  สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และมีสุขภาพแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องให้ยากลุ่มนี้  แพทย์จะพิจารณาให้เฉพาะผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรง  เช่น  ผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคเรื้อรังทางปอดหรือโรคผิวหนัง ได้แก่ ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้  หรือผู้ที่ได้รับยาแอสไพรินหรือสตีรอยด์อยู่ประจำ โดยผู้ใหญ่ให้กินยาอะไซโคลเวียร์ ขนาด 8000 มก. วันละ 5 ครั้ง (เด็กอายุต่ำกว่า 12  ปี ให้ขนาด 20 มก./กก./ครั้ง สูงสุด 800 มก. ทุก 6 ชั่วโมง) นาน 5 วัน  ควรรีบให้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังผื่นขึ้น จะช่วยลดความรุนแรงและระยะของโรคลง

                ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำร่วมด้วย  แพทย์จะใช้อะไซโคลเวียร์ฉีดเข้าหลอดเลือด  เด็กให้ขนาด 1,500 มก./ตร.ม./วัน  ผู้ใหญ่ให้ขนาด 30  มก./กก./วัน แบ่งให้ 3 ครั้ง  นาน 7-10  วัน

6.ในการวินิจฉัยโรคนี้  ส่วนใหญ่ดูจากลักษณะอาการเป็นสำคัญ ในกรณีจำเป็นต้องวินิจฉัยให้แน่ชัด  แพทย์จะทำการทดสอบน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานต่อไวรัสอีสุกอีใส  หรือตรวจหาเชื้อจากตุ่มน้ำ

[Total: 0 Average: 0]