งูสวัด

 งูสวัด คือ โรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดอีสุกอีใส พบมากในผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ มักเกิดบริเวณผิวหนังตามร่างกาย และแสดงอาการออกมาในลักษณะของผื่นหรือตุ่ม จะขึ้นบริเวณแนวบั้นเอว หรือแนวชายโครง บางคนอาจขึ้นที่ใบหน้า แขน หรือขาแต่จะมีลักษณะการขึ้นที่คล้ายกัน คือขึ้นเพียงซีกหนึ่งซีกใดของร่างกายเท่านั้น โดยผู้สูงอายุ ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ที่ได้รับยากดภูมิ ผู้ที่เปลี่ยนถ่ายอวัยวะ จะมีเสี่ยงต่อการเกิดโรคงูสวัด

งูสวัด ไม่มีอันตรายร้ายแรงและหายเองได้เป็นส่วนใหญ่ แต่บางคนหลังจากแผลหายแล้วอาจมีอาการปวดตามเส้นประสาทนาน หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ สำหรับในรายที่เสียชีวิตเกิดจากร่างกายอยู่ในช่วงอ่อนแอ และขาดภูมิต้านทาน โรคเชื้อไวรัสที่อยู่ในผื่นสามารถติดต่อโดยการสัมผัส สำหรับผู้ที่ไม่เคยเป็นไข้สุกใสมาก่อนก็อาจจะกลายเป็นไข้สุกใสได้ หรือคนที่เป็นไข้สุกใสมาแล้วก็จะมีโอกาสเป็นงูสวัดเพิ่มมากขึ้น

สาเหตุ งูสวัด

งูสวัดมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลาซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus: VZV) ซึ่งเป็นเชื้อชนิดเดียวกับเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคอีสุกอีใส โรคอีสุกอีใสสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่งูสวัดนั้นจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อนเท่านั้น โดยเมื่อเชื้อดังกล่าวจู่โจมร่างกายจนเป็นโรคอีสุกอีใสแล้วก็จะไปหลบตามปมประสาท และกลายเป็นงูสวัดในภายหลัง ขณะที่กลุ่มเสี่ยงโรคงูสวัดโดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาทางด้านระบบภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่ใช้การรักษาด้วยยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ผู้ที่อยู่ในช่วงการรักษาโรคมะเร็งด้วยรังสีวิทยาหรือเคมีบำบัด เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะมีภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอกว่าคนปกติจึงทำให้เสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป

งูสวัดกับอีสุกอีใสแตกต่างกันอย่างไร

แม้โรคงูสวัดกับอีสุกอีใสจะเกิดจากเชื้อไวรัสตัวเดียวกัน แต่อาการที่แสดงออกมานั้นจะแตกต่างกัน คือ โรคงูสวัดจะเกิดตุ่มนูนที่เรียงเป็นกลุ่ม หรือเป็นแถวยาวตามแนวของเส้นประสาท และจะไม่กระจายทั่วตัวเหมือนตุ่มของอีสุกอีใส

อาการ งูสวัด

อาการของโรคงูสวัดสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 เป็นช่วงที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำลง เชื้อไวรัสจึงเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ ในเส้นประสาท ส่งผลให้ผู้ป่วยเริ่มมีอาการปวดแสบปวดร้อน โดยหาสาเหตุไม่ได้
  • ระยะที่ 2 เมื่อมีอาการแสบร้อนโดยหาสาเหตุไม่ได้ประมาณ 2-3 วัน จะเริ่มปรากฏผื่นแดงขึ้น และกลายเป็นตุ่มน้ำใสเรียงตัวกันเป็นแนวยาวตามเส้นประสาทของร่างกาย เช่น ตามความยาวของแขน รอบเอว รอบหลัง ใบหน้า ต้นขา เป็นต้น ต่อมาตุ่มน้ำใสนั้นจะแตกออกเป็นแผล จากนั้นจะตกสะเก็ด แล้วจะหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ และอาจมีไข้ร่วมด้วย
  • ระยะที่ 3 แม้แผลจะหายดีแล้ว แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะยังคงมีอาการปวดแสบปวดร้อนอยู่ตามรอยแนวของแผลที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจเกิดอาการปวดประสาทหลังเป็นโรคงูสวัด ซึ่งจะปวดต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือนหลังจากที่ตุ่มใสเริ่มเกิดขึ้น

การรักษา งูสวัด

 แพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาบรรเทาอาการปวด หรือลดไข้ ถ้าตุ่มกลายเป็นหนองเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนก็จะให้ยาปฏิชีวนะ

  • สำหรับผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรืองูสวัดขึ้นที่บริเวณหน้า หรือมีอาการปวดรุนแรงตั้งแต่แรกที่มีผื่นขึ้น แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสภายใน 2-3 วัน หลังเกิดอาการ เพื่อลดความรุนแรง และช่วยให้โรคหายเร็วขึ้น รวมทั้งช่วยลดอาการปวดแสบ ปวดร้อนในภายหลังได้
  • สำหรับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เป็นโรคเอดส์ หรือเป็นงูสวัดชนิดแพร่กระจายทั้งตัว แพทย์จะให้ยาต้านไวรัสชนิดฉีดเข้าหลอดเลือดดำ รวมถึงต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล
  • สำหรับผู้ป่วยที่เป็นงูสวัดขึ้นที่ตา ต้องรักษาร่วมกับจักษุแพทย์ ซึ่งจะได้รับยาต้านไวรัสชนิดทาน และหยอดตาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางตา
[Total: 0 Average: 0]