การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST)

การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise stress test) เป็นการตรวจหาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือตรวจหาการเต้นของหัวใจผิดจังหวะที่เกิดขณะออกกำลังกาย ผู้ป่วยเหล่านี้อาจไม่มีอาการ หรือความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะพัก แต่เมื่อออกกำลังกายหัวใจจะมีเลือดไปเลี้ยงไม่พอ ทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดมีอาการแสดงและการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้

ชนิดของเครื่องมือที่ใช้ทดสอบสมรรถภาพหัวใจ มี 2 แบบ คือ

1. แบบสายพานไฟฟ้า (Treadmill) สามารถปรับตั้งโปรแกรมการทดสอบได้หลากหลายกว่า โดยปรับตั้งทั้งความเร็วและความชันของสายพานวิ่ง

2. แบบจักรยาน (Bicycle ergometer) เครื่องมือราคาถูกกว่า และกินเนื้อที่ในการติดตั้งน้อยกว่าแบบสายพาน และยังใช้ได้ดีในผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องการเดิน การทรงตัว

ประโยชน์ที่ได้จากการทำ Exercise Stress Test คืออะไร?

 Exercise Stress Test มีประโยชน์ในแง่ต่าง ๆ ดังนี้ 

  • ใช้สำหรับการวินิจฉัยแยกโรคผู้ป่วยที่มาด้วยอาการเหนื่อยง่าย แน่นหน้าอกว่ามีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่
  • ใช้สำหรับประเมินความเสี่ยงว่าผู้ป่วยจะมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ แต่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคระดับปานกลางขึ้นไป
  • ใช้สำหรับประเมินผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่เดิมว่ามีความจำเป็นจะต้องรับการตรวจเพิ่มเติมหรือทำการรักษาด้วยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจหรือไม่
  • ใช้ประเมินประสิทธิภาพและผลในการรักษาด้วยยาในผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่เดิม
  • ใช้ในการประเมินและวินิจฉัยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด
  • ใช้ประเมินประสิทธิภาพความสามารถสูงสุดของร่างกายและหัวใจในการออกกำลังกาย
  • ใช้ประเมินระดับความสามารถสูงสุดในการออกกำลังกายสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

 การเตรียมตัวก่อนการทดสอบสมรรถภาพหัวใจ

  • ควรงดรับประทานอาหารมื้อหนักๆ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 3-4 ชั่วโมง ก่อนการทดสอบ อนุญาติให้ทานอาหารอ่อนๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก
  • ควรสอบถามแพทย์ถึงยาที่รับประทานอยู่ ว่าควรหยุดก่อนการทดสอบหรือไม่ เช่น ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาความดันโลหิต เป็นต้น

การแปรผล Exercise Stress Test 

อายุรแพทย์โรคหัวใจจะเป็นผู้แปรผลการตรวจ Exercise Stress Test โดยการแปรผลจะประเมินจากระยะเวลาในการเดินสายพาน อาการแน่นหน้าอก การเปลี่ยนแปลงของกราฟไฟฟ้าหัวใจ การเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิตขณะออกกำลังกายและขณะพัก ข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้จะนำไปพิจารณาร่วมกับระดับความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่ผู้ป่วยมีอยู่เดิม เพื่อทำการวิเคราะห์ถึงโอกาสในการมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบของผู้ป่วย ซึ่งผลสามารถแจ้งให้ผู้ป่วยทราบได้ภายในวันที่ทำการตรวจ เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้ทราบถึงแนวทางการรักษาต่อไป 

[Total: 0 Average: 0]