สเตรปโตค็อกคัส: ระวังไข้หูดับ เสี่ยงถึงตาย

ฉบับนี้ นพ.พรเทพ ศิริวนาสังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เตือนให้ประชาชนเฝ้าระวัง “โรคไข้หูดับ” หรืออาจรู้จักกันในเรื่อง โรค “สเตรปโตค็อกคัส ซูอิส” โดยโรคไข้หูดับในบ้านเรา มักเกิดจากการติดเชื้อผ่านสารคัดหลั่งของหมู เช่น น้ำมูก น้ำลาย โดยผู้ที่มีความเสี่ยงส่วนใหญ่ มาจากการเป็นผู้จำหน่าย หรือผู้ที่รับประทานหมูแบบดิบๆ สุกๆ เช่น ลาบ หลู้ โดยส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักจะระบาดในภาคอีสานและภาคเหนือ ซึ่งลาบดิบๆ ยังเป็นอาหารยอดนิยมของพื้นที่ดังกล่าว โดยจังหวัดที่มีผู้ป่วยโรคไข้หูดับสูง ได้แก่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ตาก นครสวรรค์ นครพนม สกลนคร อุดรธานี และขอนแก่น

นอกจากจะทำให้หูดับแล้ว ยังอาจทำให้ผู้ป่วยหูหนวกทั้งสองข้าง หากลุกลามมากขึ้นก็อาจเกิดอาการจากการติดเชื้อในกระแสเลือด หรือเยื้อหุ้มสมองอักเสบจนเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ นพ.พรเทพ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ผู้ที่มีความเสี่ยงกับเชื้อสเตรปโตค็อกคัส ซูอิส มักเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับหมู โดยคุณหมอได้แนะนำวิธีการป้องกันโรคไข้หูดับ โดยให้ผู้ที่ต้องทำงานเกี่ยวกับหมูควรหลีกเสี่ยงการสัมผัสหมู รวมถึงซากหมูด้วยมือเปล่า นอกจากนี้ยังควรสวมถุงมือ ใส่รองเท้าที่หุ้มเท้า ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาวและอาบน้ำ ชำระร่างกาย ทุกครั้งหลังสัมผัสหมู

ขณะที่ผู้ค้าเนื้อหมูต้องระวังอย่าให้มีบาดแผล หรือรอยถลอกบริเวณแขนและมือ โดยควรเลือกซื้อหมูจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานมาขาย และเก็บเนื้อหมูไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส และที่สำคัญที่สุด คือ กลุ่มผู้ที่รับประทานหมู ควรเลือกซื้อหมูสด ไม่มีสีแดงคล้ำ หรือมีเลือดคลั่งมากๆ

นอกจากนี้ การปรุงเนื้อหมูก็ควรนำเนื้อหมูมาปรุงสุกเท่านั้น ไม่ควรกินเนื้อหมู เลือด และอวัยวะภายในที่ดิบๆ หรือปรุงสุกๆ ดิบๆ และต้องล้างมือด้วยสบู่ก่อนและหลังการสัมผัสเนื้อหรืออวัยวะของหมู โดยเฉพาะในบริเวณผิวหนังที่มีบาดแผล

อย่างไรก็ตาม หากสงสัยในวิธีการป้องกันตัว สามารถสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข 1422 หรือศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทร. 02–590-3333 ได้

[Total: 1 Average: 5]

Leave a Reply

Discover more from HEALTH ME NOW

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading