โรคก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ (Ganglion Cyst) คือโรคที่มีถุงก้อนเนื้อเยื่อที่เต็มไปด้วยของเหลว มักเกิดขึ้นบริเวณหลังข้อมือ ลักษณะของถุงน้ำเป็นเยื่อบุข้อหรือเยื่อซีสต์หุ้มเส้นติดกับเอ็น โรคก้อนถุงน้ำที่ข้อมืออาจเกิดขึ้นที่ข้อเท้าได้เช่นกัน ก้อนถุงน้ำจะมีขนาดใหญ่มากกว่า 1 นิ้ว ก้อนถุงน้ำที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะบางใสจนสามารถมองเห็นใต้ผิวหนัง แต่บางถุงอาจมีขนาดเล็กจนมองไม่เห็นใต้ผิวหนัง โรคก้อนถุงน้ำที่ข้อมือสามารถเกิดขึ้นได้ง่าย แต่ไม่เป็นอันตราย และสามารถหายได้เอง
สาเหตุ โรคก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ
ก้อนถุงน้ำเกิดจากการสะสมของของเหลวภายในข้อต่อ หรือบริเวณเส้นเอ็นโดยรอบ ตามตำแหน่งเหล่านี้
- มือ
- ข้อมือ
- เท้า
- ข้อเท้า
สาเหตุที่ทำให้เกิดการสะสมของเหลวจนกลายเป็นก้อนถุงน้ำบริเวณข้อต่างๆดังกล่าว ยังไม่สามารถบอกได้ชัดเจน แต่อาการดังกล่าวสามารถเกิดจากการได้รับบาดเจ็บ การสึกหรอของข้อ หรือการใช้งานที่มากเกินไป โรคก้อนถุงน้ำที่ข้อมือสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งชายและหญิง หรือผู้ที่ใช้ข้อมือบ่อยๆ เช่น นักยิมนาสติก
อาการ โรคก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ
อาการที่พบมากที่สุดของผู้ป่วยที่เป็นโรคก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ จะมีอาการเจ็บตรงบริเวณที่เกิดก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ หากผู้ป่วยบางรายเกิดเป็นก้อนถุงน้ำที่ข้อเท้า เวลาเดินจะมีอาการปวด หรือปวดมากเวลาสวมใส่รองเท้า และไม่สามารถเดินได้อย่างคล่องตัว
หากก้อนถุงน้ำอยู่ใกล้เส้นประสาท จะทำให้มีอาการดังนี้
- ขาดความคล่องตัวในการทำงานหรือการใช้ข้อมือ เช่น การจับสิ่งของ
- รู้สึกชา
- มีอาการปวด
- รู้สึกเสียววูบวาบ
ก้อนถุงน้ำสามารถใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงตามระยะเวลา
การรักษาโรคก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ
แพทย์จะทำการตรวจสอบถุงก้อนเนื้อและตรวจร่างกาย และซักประวัติของผู้ป่วย สอบถามถึงระยะเวลาที่เริ่มมีอาการของก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ ในกรณีที่ไม่สามารถมองเห็นก้อนถุงน้ำที่ข้อมือแพทย์อาจทำการ เอ็กซเรย์ หรืออัลตราซาวน์หรือ MRI และอาจตรวจเช็คเพิ่มเติมหากมีอาการข้ออักเสบ รวมทั้งตรวจดูว่ามีเนื้องอกด้วยหรือไม่ แพทย์อาจใช้เข็มดูดเพื่อเอาของเหลวภายในก้อนถุงออกมาและทำการวินิจฉัย
โรคก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ หากไม่มีอาการเจ็บปวด ก้อนถุงน้ำสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องรักษา ผู้ป่วยควรทำตามคำแนะนำของแพทย์ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวข้อมือบ่อยๆ
- ควรสวมใส่สายรัดข้อมือเพราะแรงรัด จะช่วยทำให้ก้อนถุงน้ำหดตัว
- หากเกิดก้อนถุงน้ำบริเวณเท้าหรือข้อเท้า ควรสวมรองเท้าที่ไม่เกิดการเสียดสีกับก้อนถุงน้ำ
หากมีอาการปวดบริเวณก้อนถุงน้ำและไม่สามารถทนอาการเจ็บปวดได้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด แพทย์จะนำเอาของเหลวออกจากก้อนถุงน้ำที่เกิดขึ้น หรืออาจผ่าตัด แต่วิธีผ่าตัดจะเป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษา ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น ก้อนถุงน้ำสามารถกลับมาเป็นได้อีกถึงแม้แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดไปแล้วก็ตาม