จับตาสถานการณ์วัคซีนทั่วโลก กับความหวังของทุกประเทศ ขณะที่สหรัฐอาจยังไม่สามารถทดลองใช้วัคซีนได้ก่อน 25 พ.ย. หรือก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เหตุมีปัจจัยเรื่องความปลอดภัย
ในขณะที่ทั่วโลกกำลังรอข่าวดีจากการผลิตวัคซีนป้องกันโรค Covid-19 ที่บริษัทยาชั้นนำทั่วโลกต่างเร่งทำการทดลอง วิจัย และพัฒนาวัคซีนให้ประสบความสำเร็จโดยเร็วที่สุดนั้น ความหวังที่จะได้วัคซีนมาใช้เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดที่เพิ่มสูงขึ้นในหลายประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอินเดีย และเพื่อนบ้านของเรา อย่างเช่น มาเลเซีย และเมียนมากลับชะงักงัน เมื่อหลายบริษัททั้งในฝากฝั่งอเมริกาและยุโรป ออกมาเปิดเผยถึงการหยุดการทดลองวัคซีนในมนุษย์ชั่วคราว หลังจากพบผลข้างเคียงจากการทดลองวัคซีนดังกล่าว
ล่าสุดบริษัทแจนเซน ฟาร์มาซูติเคิล ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทจอนซัน แอนด์ จอนซัน (Janssen Pharmaceutical companies of Johnson&Johnson) และเป็น 1ใน 6 บริษัทที่ทำการวิจัยและพัฒนาวัคซีน Covid-19 กับพลเมืองในสหรัฐอเมริกา ได้ออกแถลงการณ์แจ้งหยุดการทดลองในมนุษย์ ชั่วคราว หลังจากพบผลข้างเคียงจากการเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุของผู้ที่ทดลองใช้วัคซีน โดยในแถลงการณ์ระบุว่า การเกิดผลข้างเคียงเป็นเรื่องปรกติทั่วไปในการทดลองวัคซีนกับผู้คนจำนวนมาก แต่ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงสุด เมื่อเกิดผลกระทบข้างเคียงใดๆ จำเป็นต้องมีการศึกษาในตัววัคซีนใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ดังนั้นจึงต้องหยุดการทดลองในคนชั่วคราวจนกว่าจะมีการพิจารณาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่งว่าจะสามารถกลับมาทดลองในคนได้อีกเมื่อไหร่ ก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้มีการทดสอบวัคซีนดังกล่าวกับอาสาสมัครมากกว่า 60,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงสุดในการทดสอบวัคซีนเมื่อเทียบกับการทดลองจากบริษัทอื่นๆในสหรัฐอเมริกา โดยการทดลองในระยะที่ 3 ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายน นับได้ว่าวัคซีนจากบริษัทดังกล่าวถือว่าเป็นความหวังครั้งสำคัญของชาวอเมริกา เพราะมีความคืบหน้าค่อนข้างมาก และวัคซีนตัวนี้มีคุณลักษณะพิเศษที่สามารถใช้แค่หนึ่งโดสเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน จึงสามารถร่นระยะในการทดสอบได้ เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับวัคซีนจากบริษัทอื่น อย่าง โมเดอนา และไฟเซอร์ ซึ่งต้องใช้ถึงสองโดสเพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน และใช้เวลาในการทดสอบที่ยาวนานกว่า
ก่อนหน้านี้ บริษัทเอสทราเซนนิกา (AstraZeneca) ที่ได้ร่วมผลิตและพัฒนาวัคซีนร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดในประเทศอังกฤษ ได้ออกมาชี้แจงว่าทางบริษัทได้ชะลอการทดลองในระยะ 3 เนื่องจากพบผลกระทบข้างเคียงทางระบบประสาทในอาสาสมัครทดลองวัคซีนเมื่อเดือนที่ผ่านมา แต่ล่าสุดทางบริษัทได้ประกาศทำการทดลองต่อในระยะที่ 3 ในประเทศต่างๆ เช่น บราซิล แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น และรวมถึงประเทศอังกฤษเอง แต่ยังไม่สามารถดำเนินการทดลองต่อในสหรัฐอเมริกาได้ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการสอบสวนขององค์การอาหารและยาของสหรัฐ การกลับมาทำการทดลองใหม่อีกครั้งอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยคนส่วนใหญ่ให้ความกังวลในเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นโอกาสที่สำคัญในการทดลองวัคซีนอย่างเร่งด่วนเพื่อยุติการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ความหวังของคนอเมริกันที่จะมีวัคซีนใช้ภายในปีนี้ดูช่างริบหรี่ เช่นเดียวกับความหวังของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ที่ต้องการให้ประชาชนสหรัฐมีวัคซีนใช้ก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้ โดยบริษัทยาชั้นนำอย่าง โมเดอนา ออกมาประกาศชัดเจนว่ายังไม่มีความพร้อมที่จะขอใช้สิทธิการใช้ยาในภาวะฉุกเฉินก่อนวันที่ 25 พฤศจิกายน นั่นก็หมายความว่ามีความเป็นไปได้สูงว่าจะไม่มีวัคซีนที่จะนำมาใช้ในภาวะฉุกเฉินก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างที่ทรัมป์หวังเอาไว้
ในขณะเดียวกัน องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ได้ออกระเบียบการพิจารณาในการอนุญาตให้ใช้วัคซีนในภาวะฉุกเฉิน โดยระบุอย่างชัดแจนว่า จะต้องใช้ระยะเวลากว่าสองเดือนเพื่อศึกษาข้อมูลความปลอดภัยของการใช้วัคซีนหลังจากที่มีการให้ยาในโดสที่สองกับอาสาสมัครแล้วก่อนที่จะพิจารณาอนุมัติให้บริษัทใดๆใช้วัคซีนกับบุคคลทั่วไปภายใต้ภาวะฉุกเฉินได้ ซึ่งกฏระเบียบดังกล่าวออกมาเพื่อขจัดความห่วงใยของคนอเมริกาส่วนใหญ่ที่มองว่า อาจมีแรงกดดันทางการเมืองในการนำวัคซีนมาใช้เพื่อผลประโยชน์ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบความปลอดภัยด้านสุขภาพ