5 ประโยชน์ของยาม่วง หรือ เจนเชียนไวโอเลต

ข่าวสุขภาพ อัพเดต สาธาณสุข

เจนเชียนไวโอเลต / เยนเชียนไวโอเลต (Gentian violet) หรือ คริสตัลไวโอเลต (Crystal Violet) หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “ยาม่วง” เป็นน้ำยาสีม่วงที่หลายคนรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเป็นสารเริ่มต้นที่ใช้ในอุตสาหกรรมการย้อมสีและห้องทดลอง หรือที่เรียกว่า การย้อมแกรม (Gram’s method) เพื่อใช้แยกแยะประเภทของแบคทีเรียว่าเป็นเชื้อแกรมลบ (gram negative) หรือเชื้อแกรมบวก (gram positive)

ประวัติของเจนเชียนไวโอเลต

เจนเชียนไวโอเลตได้ถูกสังเคราะห์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1828 (พ.ศ. 2371) ต่อมาหลังจากนั้นอีกไม่นาน จักษุแพทย์ชาวเยอรมันนามว่า Jakob Stilling ได้ค้นพบว่าเจนเชียนไวโอเลตนั้นมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ยีสต์ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้ เจนเชียนไวโอเลตจึงถูกนำมาใช้เป็นยาทารักษาการติดเชื้อทางผิวหนัง ในรูปแบบของยาน้ำประเภทสารละลายสีม่วง

เนื่องจากยาเจนเชียนไวโอเลต สามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อได้ จึงทำให้องค์การอนามัยโลกบรรจุยาชนิดนี้ ไว้ในรายการยาจำเป็นขั้นพื้นฐานในระดับชุมชน และสำหรับในประเทศไทยเอง องค์การอาหารและยา ก็ได้บรรจุยาเจนเชียนไวโอเลตไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้วยเช่นกัน โดยมีข้อบ่งใช้เป็นยาสำหรับหยอดหูและใช้เป็นยาทาภายนอก ซึ่งยาเจนเชียนไวโอเลตสามารถหาซื้อได้ง่าย มีขายทั่วไปตามร้านขายยา

ประโยชน์ของ เจนเชียนไวโอเลต

  1. ใช้รักษาโรคเชื้อราแคนดิดา เช่น เชื้อราในช่องปาก เชื้อราที่ขาหนีบ หรืออวัยวะสืบพันธุ์
  2. ใช้รักษากระพุ้งแก้มและลิ้นเป็นฝ้าขาวจากเชื้อรา
  3. ใช้ทารักษาปากเปื่อยเป็นแผล ลิ้นเปื่อย ลิ้นแตกเป็นขุม
  4. ใช้รักษาโรคติดเชื้อที่ผิวหนังจากเชื้อแบคทีเรียพวกแกรมบวก
  5. ใช้เป็นยาทาแผลที่ถูกน้ำกัดตามมือตามเท้า แผลพุพอง แผลภายนอกเนื่องจากเชื้อรา

ข้อควรระวังในการใช้ยา เจนเชียนไวโอเลต

การทราบถึงข้อควรระวังต่าง ๆ จะช่วยทำให้ผู้ป่วยใช้ยาเจนเชียนไวโอเลตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย

  • ในขณะใช้ยาควรระวังอย่าให้ยากระเด็นเข้าตาและหกเลอะเสื้อผ้า
  • การป้ายยาในปากควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและป้ายยาตรงในบริเวณที่มีการติดเชื้อเท่านั้น เพราะการใช้ยามากเกินไปอาจทำให้ผู้ป่วยกลืนยาและมีอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและลำไส้ตามมาได้
  • เมื่อใช้ยานี้ไปได้ 2-3 วันแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำและปรับเปลี่ยนแผนการรักษาใหม่
  • ต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบอาการบวม แดง ร้อน ในบริเวณที่ทายาเจนเชียนไวโอเลต
  • ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมตัวเอง แม้ว่ายังไม่มีรายงานว่ายานี้ก่อให้เกิดโทษต่อทารก แต่เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้เสมอ
  • สำหรับคุณแม่ที่ยังเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตัวเอง ควรหลีกเลี่ยงการทายานี้บริเวณหัวนม เพราะจะทำผิวหนังบริเวณนั้นแห้งและแตก
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาในรูหูกับผู้ป่วยที่มีภาวะเยื่อแก้วหูทะลุ
  • ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยาเจนเชียนไวโอเลต
  • ห้ามใช้ยานี้ของผู้อื่นหรือแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้ และควรตรวจสอบความผิดปกติของตนเองหลังใช้ยาทุกครั้ง เช่น อาการผื่นขึ้น หน้าบวม และปากบวม
  • ห้ามใช้ยานี้ในบริเวณที่มีบาดแผล
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กทารกแรกเกิด เพราะอาจก่อให้เกิดแผลในบริเวณที่ทายาได้
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ

เจนเชียนไวโอเลตแต่เดิมนั้นถูกนำมาใช้เป็นสารเคมีเพื่อย้อมแบคทีเรียในห้องปฏิบัติการ แต่ด้วยสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา จึงทำให้มีการใช้ยาชนิดนี้ เพื่อรักษาโรคติดเชื้อบนผิวหนังและในช่องปาก แม้ว่ายาเจนเชียนไวโอเลตจะมีความปลอดภัยสูง เป็นยาใช้ภายนอก แต่ก่อนใช้ยานี้ทุกครั้ง ผู้ป่วยควรแจ้งประวัติแพ้ยาให้กับแพทย์และเภสัชกรทราบ นอกจากนี้ การใช้ยาเจนเชียนไวโอเลตในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ด้วยจะดีที่สุด

[Total: 5 Average: 4.8]

Leave a Reply