ช่วงโควิด-19 ระบาด เจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยเฉพาะ”พยาบาล” ชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากกำลังหนีออกนอกประเทศ ออกจากประเทศของตน ห่างไปจากครอบครัวที่อยู่เบื้องหลัง เพื่อหางานทำในต่างประเทศที่พวกเขาได้รับเงินมากกว่าถึง 10 เท่าเมื่อเทียบกับรายได้เล็กน้อยในประเทศ
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมากถึง 10% ลาออกเพื่อไปทำงานต่างประเทศ การลาออกไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยเกิดขึ้นมาก่อนการระบาดใหญ่ แต่ถ้าหากเกิดเหตุการณ์นี้ต่อเนื่อง ดร.โฮเซ่ เรเน่ เด กราโน ประธานสมาคมโรงพยาบาลเอกชนแห่งฟิลิปปินส์ เตือนว่า จะทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศเป็นอัมพาต หรือแย่ลงไปอีกในช่วง 6 เดือนข้างหน้า
เพื่อควบคุมกระแสของบุคลากรทางการแพทย์ที่เดินทางไปต่างประเทศ รัฐบาลได้กำหนดข้อจำกัดห้ามบุคคลากรทางการแพทย์เดินทางไปต่างประเทศห้ามเกิน 5,0000 คน ต่อปี แต่ถึงอย่างนั้นก็มีโอกาสว่า จะหาบุคคลากรมาทดแทนไม่ทัน
สาเหตุสำคัญที่พยาบาลฟิลิปปินส์ตัดสินใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศ
เพราะ อัตราค่าจ้างที่ต่ำ ขณะที่งานค่อนข้างหนัก
การลาออกส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งรายได้ขั้นต่ำต่อเดือนสำหรับพยาบาลคือ 11,814 เปโซต่อเดือน (ประมาณ 7,700 บาท) ขณะที่หากไปทำงานในสหรัฐ จะได้รับค่าตอบแทนประมาณ 3,800 เหรียญ (ประมาณ 125,000 บาท) หรือในอังกฤษ ได้รับประมาณ 1,662 ปอนด์ (ประมาณ 74,000 บาท)
ยิ่งไปกว่านั้น ในสถานการณ์โควิด-19 พยาบาลและ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องเผชิญกับความยากลำบากในการทำงาน ทั้งทัศนคติที่ไม่ดีจากทางการ คนเหล่านี้ต้องเสี่ยงชีวิตในช่วงการระบาดใหญ่นี้โดยไม่มีการป้องกันที่เหมาะสม รวมทั้งค่าชดเชยที่เพียงพอ
ดังกรณีของมาเรีย เทเรซา ครูซ พยาบาลที่เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 เมื่อปีที่แล้ว ก่อนที่เธอจะเสียชีวิต เธอได้รับค่าเสี่ยงภัยเพียง 60 เปโซต่อวัน (ประมาณ 40 บาท)
หลังการประท้วงครั้งใหญ่ของบุคลากรทางการแพทย์ รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหานี้ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น 14.3 พันล้านเปโซ (ประมาณ 9,340 ล้านบาท) ซึ่งครอบคลุมค่าเสี่ยงภัย ค่าอาหาร ที่พัก แต่การแจกจ่ายก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า
Maristela Abenojar ประธานสหภาพพยาบาล กล่าวว่าเธอไม่ตำหนิพยาบาลคนอื่น ๆ ที่ออกเดินทางไปต่างประเทศ เพราะค่าจ้างที่ค่อนข้างต่ำ อีกทั้งเงินเดือนของพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน อาจต่ำได้ถึง 8,000-10,000 เปโซต่อเดือน (ประมาณ 5,200-6,500 บาท) เพราะโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน / TheJapanNews