COVID-19: รอศบค.ชี้ขาด! หลัง สธ.เสนอจำกัดการเดินทาง -อนุมัติ รพ. ตรวจเชื้อโควิดแบบ “แรบิด แอนติเจน เทส”

ข่าวสุขภาพ อัพเดต สาธาณสุข

กระทรวงสาธารณสุข เสนอ ศบค. 5 มาตรการ “อนุมัติ รพ.ตรวจ Rapid Antigen test ควบคู่การตรวจ RT-PCR – จัดระบบ Home isolation และ Community isolation ให้ดูแลแบบครอบครัวได้ – เพิ่ม WFH -เร่งฉีดวัคซีน 1-2 สัปดาห์ 1 ล้านโดส- จำกัดการเดินทางพื้นที่เสี่ยงและกันชน” รอ ศบค.ชี้ขาด!

เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงมาตรการควบคุมสถานการณ์การระบาดโควิด ว่า เมื่อช่วงเช้าได้มีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข หรือ อีโอซี ซึ่งมีอาจารย์แพทย์ ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากในการร่วมกันพิจารณา ซึ่งวันนี้พบตัวเลขติดเชื้อสูงกว่า 7 พันราย สะสมกว่า 2.8 แสนราย ซึ่งส่วนใหญ่มีการระบาดในกทม.และปริมณฑล และแพร่ระบาดไปยังต่างจังหวัด ขณะเดียวกันประชาชนมาเรียกร้องขอตรวจเชื้อจำนวนมาก ทำให้มีการรอคอยกันนาน ประกอบกับเมื่อพบเชื้อก็มีการเข้ารักษามากทั้งกลุ่มผู้ป่วยสีแดง สีเหลือง หรือสีเขียว ส่งผลให้ฝ่ายรักษาอยู่ในภาวะเหนื่อยล้า

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ล่าสุด สธ.ได้พิจารณาหามาตรการเพื่อควบคุมโรคมากยิ่งขึ้น โดยออกมาตรการ ประกอบด้วย

1.การใช้ Rapid Antigen test เดิมการตรวจเชื้อจะใช้วิธี RT-PCR ซึ่งเป็นการตรวจในห้องปฏิบัติการและใช้เวลาในการรอผลตรวจนาน ยิ่งคนมาตรวจมากการรออาจต้องข้ามวัน จึงมีการตกลงกันว่า จะใช้ Rapid Antigen test สนับสนุนการตรวจ ซึ่งรอผลได้เลย ใช้เวลาไม่นาน แต่ให้ใช้เฉพาะสถานพยาบาลที่มีการขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น โดยให้ตรวจแอนติเจนเทส หลักๆ ใช้บุคลากรทางการแพทย์ช่วย หรือผู้ป่วยสามารถดำเนินการเอง แต่ต้องทำในรพ. ตรงนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของโรงพยาบาลนั้นๆ โดยหากสถานพยาบาลไหนพร้อมดำเนินการได้ทันที เพื่อลดจำนวนการรอการตรวจ โดยหากผลเป็นลบก็สามารถกลับบ้านได้ แต่หากผลเป็นบวกก็ต้องมีการตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR เพื่อความแม่นยำ และหากเป็นบวกก็เข้าสู่ระบบการรักษาแยกตามกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว เหลือง แดง

“ต่อไปทางสธ.ก็พยายามทำชุดตรวจแบบตรวจเองที่บ้าน (Home Use) แต่ตอนนี้ยังไม่มี เพราะต้องมีการวางระบบมารองรับ ตรงนี้จะเป็นระยะต่อไป” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

2. มาตรการการจัดระบบรักษา โดยการตรวจเหล่านี้ต้องควบคู่กับการจัดระบบรักษาที่บ้านเฉพาะกลุ่มสีเขียว ที่เรียกว่า Home isolation และ Community isolation ซึ่งจัดระบบรองรับเข้าไปดูแล โดยคนไข้ในระบบนี้ต้องเป็นสีเขียวเท่านั้น ทั้งนี้ จะร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ดูแลเป็นครอบครัว โดยจะลดเกณฑ์การดูแลคนเดียวลง ให้ดูแลเป็นครอบครัวได้ ซึ่งสปสช.จะสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เครื่องวัดไข้ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่รักษาอยู่ในวันที่ 10 หรือสั้นกว่านั้นให้สามารถกลับไป Home isolation ได้ เพื่อลดปริมาณการครองเตียง เป็นต้น

3.เน้นมาตรการบุคคลต่างๆ อย่างเข้มงวด เพราะตอนนี้มีความกระจาย โดยต้องเน้นสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ โดยที่ทำงานก็ต้องระวัง อย่ารับประทานอาหารร่วมกัน ที่บ้านก็เช่นกัน ขอให้ต่างคนต่างรับประทานอาหาร และขอให้ Work From Home มากขึ้น

4.มาตรการฉีดวัคซีนโควิด โดยต้องเร่งฉีดพื้นที่เสี่ยง และเน้นฉีดวัคซีนให้แก่กลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง ตอนนี้มีนโยบายใช้วัคซีนที่เราให้ไปไม่ต่ำกว่า 80% ต้องฉีด 2 กลุ่มนี้ก่อน เพื่อลดอัตราการป่วยและเสียชีวิต โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง เช่นกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งสัปดาห์หน้าต้องฉีดให้ได้มากกว่า 1 ล้านโดสขึ้นไป ขณะนี้กรุงเทพฯฉีดไปแล้ว 4 ล้านโดส ดังนั้น เร่งฉีด 1-2 สัปดาห์จะได้ขึ้นไปอีกมากกว่า 50% โดยต้องระดมทุกภาคส่วน ซึ่งสธ.จะหาคนไปช่วยกทม. ในการฉีด โดยหากสามารถฉีดได้ 1 ล้าน ช่วงสิ้นเดือนก็จะได้ถึง 60%

5. สธ.จะเสนอ ศปก.ศบค. เรื่องการจำกัดการเดินทาง อยากให้ทุกคนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ โดยจะเสนอห้ามเดินทางข้ามจังหวัด และให้ปิดสถานที่มีความเสี่ยงทั้งหมด อย่างสถานที่รวมกลุ่มคนไม่จำเป็น แต่ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นสถานที่จำเป็นยังเปิดได้ โดยมาตรการนี้จะใช้ในพื้นที่เสี่ยง และพื้นที่กันชน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน ซึ่งเสนอศบค.ชุดเล็กแล้ว และจะเสนอศบค.ชุดใหญ่ต่อไป เพื่อลดการระบาดของโควิดในเขตกรุงเทพฯปริมณฑล เพื่อให้ระบบสาธารณสุขดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีการจำกัดการเดินทางเรียกว่า ล็อกดาวน์ได้หรือไม่ นพ.เกียรติภูเมิ กล่าวว่า เราเสนอจำกัดการพื้นที่เสี่ยงและกันชน ส่วนจะเรียกว่าอะไรนั้น เนื้อหาหลักๆ คือ การจำกัดการเดินทางที่ไม่จำเป็น ส่วนรายละเอียดขอให้สอบถาม ศบค.

เมื่อถามถึงกรณีการตรวจเชื้อแรบิด เทส จะเริ่มใช้ได้ทันทีในทุกรพ. ของกทม. หรือทั่วประเทศ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ในต่างจังหวัดหากไม่ได้รอนานมากก็ใช้วิธีการตรวจแบบ RT-PCR แต่หากมีคนจำนวนมากก็ใช้แรบิด เทสได้ เพราะการตรวจอาร์ทีพีซีอาร์ เมื่อมีคนมากก็จะเป็นคอขวด เพราะต้องมีคนสว็อปเชื้อ ทำได้เต็มที่ 800-1,000 คนต่อวัน และใช้เวลานาน เมื่อมีจำนวนมากอาจข้ามวัน แต่แรบิดเทส รอผลได้เลย โดยอยู่ที่ความพร้อมของรพ. ในการแบ่งโซนพื้นที่ แต่เมื่อผลบวกก็ต้องเข้าสู่ระบบต่อไป สำหรับพื้นที่ไหนพร้อมก็ดำเนินการได้ อาจเป็นวันพรุ่งนี้ แต่หลักการทำได้เลย อยู่ที่การดำเนินการสั่งแรบิดเทส

เมื่อถามการจำกัดการเคลื่อนย้ายในพื้นที่เสี่ยง และพื้นที่กันชน คือ พื้นที่ไหนบ้าง นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า เราเสนอเป็นหลักการไป ต้องรอสอบถามทาง ศบค.ในรายละเอียด โดยเราจำกัดการเดินทางพื้นที่เสี่ยง ที่เรียกว่าพื้นที่สีแดง โดยเราเคยพิสูจน์ว่า เราเคยใช้ระบบกันชนในการควบคุมโรคที่ผ่านมา มีการแบ่งเขียว เหลือง แดง ตอนนั้นก็ทำให้การเดินทางยาก แต่มีกันชนก็จะเป็นอีกระดับหนึ่ง แต่รายละเอียดทาง ศบค.จะให้ข้อมูลอีกครั้ง

เมื่อถามว่าจากการดำเนินการแบบนี้จะลดผู้ติดเชื้อได้มากน้อยแค่ไหน นพ.โอภาส กล่าวว่า ภาพรวมมาตรการนี้ใช้เวลา 2 สัปดาห์ หรือ 14 วันในระยะฟักตัวของโรค ซึ่งมาตรการนี้อย่างน้อยจะเท่ากับเม.ย. 63 ร่วมกับมาตรการฉีดวัคซีน และความร่วมมือของพี่น้องประชาชนก็จะลดลงได้

[Total: 2 Average: 5]

Leave a Reply

Discover more from HEALTH ME NOW

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading