อัพเดตผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในไทยตั้งแต่รายที่ 1 – 7

อัพเดตสถานการณ์ ฝีดาษลิง ในต่างประเทศ ในไทย Monkeypox #ฝีดาษลิง

ฝีดาษลิงรายที่ 7: หญิงไทยอายุ 37 ปี อยู่ในกรุงเทพ

โรคฝีดาษลิง รายที่ 7 เป็นเพศหญิง อาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ ทีมปฏิบัติการสอบสวนโรค กองระบาดวิทยา ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ระบาดวิทยา สถาบันบำราศนราดูร ทำการสอบสวนโรคในวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อยืนยันการระบาดและสายพันธุ์ของเชื้อก่อโรค พร้อมค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมและฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด รวมถึงแนะมาตรการสำหรับการป้องกันควบคุมโรคที่เหมาะสมให้กับผู้เสี่ยงสูงและเสี่ยงต่ำ

จากการสอบถามประวัติของผู้ป่วย เป็นหญิงสัญชาติไทย อายุ 37 ปี มีโรคประจำตัว อาศัยอยู่บ้านคนเดียวที่กรุงเทพฯ ไม่มีประวัติสัมผัสสัตว์ฟันแทะ และไม่ได้ไปประเทศที่มีการระบาด ประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชายต่างชาติผิวสีก่อนมีอาการป่วย

ฝีดาษลิงรายที่ 6: หญิงไทย กลับจากกาตาร์ สัมผัสเสี่ยงสูง 4 ราย เสี่ยงต่ำ 24 ราย

พบผู้ติดเชื้อยืนยันโรค “ฝีดาษลิง” เป็นเพศหญิง อายุ 21 ปี สัญชาติไทย ไปประกอบอาชีพพนักงาน นวดแผนไทย ที่ประเทศกาตาร์ และใน วันที่ 10 ส.ค. 65 เริ่มมีตุ่มขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ วันที่ 21 ส.ค. 65 เดินทางกลับมาประเทศไทย และเดินทางกลับบ้านที่ จ.มหาสารคาม วันที่ 22 ส.ค. 65 เข้าพบแพทย์ที่โรงพยาบาลพยัคฆภูมิพิสัย พบว่ามีตุ่มน้ำใส และอาการป่วยเข้าได้กับนิยามผู้ป่วยสงสัย “ฝีดาษลิง” จึงได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจ วันที่ 24 ส.ค. 65 ผลตรวจยืนยันพบเชื้อโรคฝีดาษลิง โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจากการค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิด พบ ผู้สัมผัสจำนวน 28 คน แบ่งเป็นเสี่ยงสูง 4 คน และเสี่ยงต่ำ 24 คน และให้ผู้สัมผัสทุกคนสังเกตอาการตนเอง

ฝีดาษลิงรายที่ 5: หญิงกลับจากต่างประเทศ มีประวัติแบบนี้ก่อนตรวจเจอ

“ฝีดาษลิง” รายที่ 5 เป็นผู้หญิงไทย อายุ 25 ปี ไปอยู่ต่างประเทศและมีอาการป่วยที่ต่างประเทศและเดินทางกลับมาจากดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เข้ามาถึงไทยวันที่ 14 ส.ค. เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีระบบคัดกรอง ตรวจและสังเกตอาการ พบเข้าข่ายสงสัย เนื่องจากดูมีอาการเหมือนไม่ค่อยสบาย พอเข้าไปสอบถามก็สังเกตเห็นตุ่ม จากการซักประวัติก็ให้ความร่วมมือดี จึงนำมารับการตรวจวินิจฉัยใน รพ. ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันว่าเป็นโรค “ฝีดาษลิง” เข้าสู่การรักษาตามระบบปกติ

ฝีดาษลิงรายที่ 4: หญิงไทยรายแรกในกรุงเทพมหานคร

ล่าสุด ไทยพบผู้ป่วย ฝีดาษลิง รายที่ 2 ของกรุงเทพมหานคร เป็นหญิงไทย ซึ่งเป็นหญิงไทยรายแรก และเป็นรายที่ 4 ของไทย ขณะนี้เข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค แล้ว

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรคได้รับรายงานพบผู้ป่วยยืนยัน โรคฝีดาษลิง รายที่ 4 ของประเทศไทย เป็นหญิงไทย อายุ 22 ปี มีประวัติเสี่ยงไปเที่ยวสถานบันเทิง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ย่านที่ชาวต่างชาตินิยมมาเที่ยว เป็นประจำประมาณสัปดาห์ละครั้ง และมีการสัมผัสใกล้ชิดกับชายชาวต่างชาติ

โดยผู้ป่วยเริ่มมีไข้ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 แต่ยังไปเที่ยวสถานบันเทิงพร้อมเพื่อนชาวไทย และชาวต่างชาติ วันที่ 30 กรกฎาคม 2565 เริ่มมีตุ่มขึ้นที่แขนขา แล้วลามไปทั่วร่างกาย ร่วมถึงอวัยะเพศ วันที่ 3 สิงหาคม 2565 จึงเดินทางเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และห้องปฏิบัติการที่ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันพบเชื้อฝีดาษลิง (Monkeypox virus) วันที่  4 สิงหาคม 2565 ก่อนส่งตัวผู้ป่วยมารับการดูแลรักษาต่อที่สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค นับเป็นผู้ติดเชื้อ โรคฝีดาษลิง เป็นรายที่ 4 และเป็นเพศหญิงรายแรกในประเทศ

ฝีดาษลิงรายที่ 3: ชายชาวเยอรมันที่ภูเก็ต

เป็นผู้ป่วยชาย อายุ 25 ปี สัญชาติเยอรมนี เดินทางเข้าไทยเมื่อวันที่ 18 ก.ค.65 ที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งทางจังหวัดกำลังจะรายงานไทม์ไลน์ผู้ป่วยมาให้กรมควบคุมโรค โดยเบื้องต้น ผู้ป่วยรายดังกล่าวเมื่อเข้ามาถึงไทยไม่นานก็เริ่มมีอาการ จึงคาดว่า น่าจะติดเชื้อจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้ป่วยให้ประวัติว่าเดินทางมาเที่ยวในไทย เคยไปๆมาๆ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด กลุ่มเสี่ยงเพื่อคัดกรองโรคฝีดาษลิง ซึ่งเบื้องต้นผลยังไม่พบผู้ติดเชื้อในผู้สัมผัส แต่ตามแนวทางจะต้องให้สังเกตอาการ 21 วัน โดยสามารถไปไหนมาไหนได้โดยระวังการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้อื่น

ฝีดาษลิงรายที่ 2: ชายชาวไทยคนแรกในกรุงเทพมหานคร

เป็นชายไทย อายุ 47 ปี ประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชายชาวต่างชาติ มีอาการสงสัยป่วย เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2565 จากนั้น 2 วันเริ่มมีไข้ ปวดตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต และ 1 สัปดาห์ต่อมามีผื่นที่อวัยวะเพศ ลำตัว หน้า แขนขา จึงไปตรวจที่ รพ. ขณะนี้รับไว้ใน รพ.และติดตามผู้สัมผัสมาตรวจและเฝ้าสังเกตอาการต่อให้ครบ 21 วัน

ต่อมาผู้ป่วยไปซื้อยามาทา ทำให้ตุ่มหนองแห้ง แต่เริ่มขึ้นใหม่บริเวณแขน ขา ใบหน้า ศีรษะ และได้เข้ามารักษาที่ รพ.ด้วยอาการผื่นและอวัยวะเพศบวม เจ็บ แสบ ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจ หาเชื้อก่อโรค โดยห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ. และห้องปฏิบัติการ ที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลการตรวจ PCR ทั้ง 2 แห่ง ตรงกัน พบเชื้อ Monkeypox virus

ฝีดาษลิงรายที่ 1: ชายชาวไนจีเรีย

หลังจากพบผู้ป่วยฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง ที่เป็นชายชาวไนจีเรียในประเทศไทยรายแรกตามที่มีการแถลงไปก่อนหน้านี้นั้น ซึ่งรายนี้ก็จะเป็นประเทศที่ 66 ของทั่วโลกที่พบผู้ป่วย ชายต่างชาติไนจีเรียอายุ 27 ปีมีอาการต้องสงสัยเข้าได้กับฝีดาษลิงหรือวานร เพราะมีตุ่มขึ้นใบหน้า ลำตัว แขนขา อวัยวะเพศ มีการส่งสิ่งส่งตรวจต่างๆไปยังรพ.จุฬาลงกรณ์ พบว่า มีเชื้อฝีดาษวานร อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนเมื่อพบรายแรกๆ จะต้องมีผลตรวจจากห้องปฏิบัติการ 2 แห่งเพื่อยืนยัน คือ ห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยืนยันตรงกันเมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา จากนี้จะรวบรวมข้อมูลของผู้ป่วยรายนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลคลินิก ระบาดวิทยา เสนอต่อคณะกรรมการวิชาการในพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เพื่อยืนยัน ซึ่งได้ประกาศยืนยันเมื่อวานตอนเย็นที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา

ผู้ป่วยรายนี้ได้ติดตามโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทางภูเก็ต โดยให้ข้อมูลตอนเข้าประเทศไทยว่า จะมาเรียนภาษาที่เชียงใหม่ แต่ไม่ปรากฏว่า เขาไปทำอะไร อย่างไร และเมื่อเจ้าหน้าที่ติดต่อไปก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ลักษณะไม่เหมือนนักท่องเที่ยวทั่วไปที่เวลาเป็นโรคอะไร ส่วนใหญ่จะให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่ รวมถึงมีพฤติกรรมหลบหนี เวลาติดต่อเจ้าหน้าที่จะหลบเลี่ยง ล่าสุดพบสัญญาณมือถือแถวจังหวัดชายแดน ซึ่งนักท่องเที่ยวรายนี้ไม่ใช่นักท่องเที่ยวธรรมดา น่าจะมีคนช่วยเหลือหลบหนีในประเทศไทย จากนี้ขอให้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพราะกรณีจะมีกฎหมายอื่นใช้ร่วมกัน

[Total: 3 Average: 5]

Leave a Reply

Discover more from HEALTH ME NOW

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading