การผ่าตัดปอดออกทั้งกลีบ (Lobectomy)

Lobectomy เป็นการผ่าตัดที่แนะนำสำหรับมะเร็งปอดทั่วไป โดยปอดปกติมี 2 ข้าง ซ้ายและขวาในแต่ละข้างจะแบ่งย่อยเป็นกลีบปอด โดยปอดซ้ายแบ่งเป็น 2 กลีบและปอดขวาแบ่งเป็น 3 กลีบ การผ่าตัด lobectomy คือ การผ่าตัดเอาปอดกลีบที่มีรอยโรคออก

ในกลุ่มมะเร็งปอดระยะที่ 1 และ 2 นั้น ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันเราสามารถผ่าตัดปอดออกทั้งกลีบ (Lobectomy) หรือผ่าตัดน้อยกว่าทั้งกลีบ (Sublobar Resection) ด้วยการส่องกล้อง หรือ Video-Assisted Thoracic Surgery (VATS) โดยมีความแตกต่างกับการผ่าตัดเปิดช่องอกแบบเดิม (Thoracotomy) ในประเด็นหลักคือการไม่ใช้เครื่องถ่างขยายซี่โครง (Rib Spreader) ซึ่งการใช้เครื่องถ่างขยายซี่โครงเปิดช่องอกก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้ป่วยได้หลายปัจจัย เช่น ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดสูงขึ้น ขนาดแผลใหญ่ กลับไปทำงานได้ช้าลง โอกาสปวดร้าวหรือชาตามเส้นประสาทในระยะยาวสูงขึ้น เวลาพักฟื้นเพื่อรับเคมีบำบัดนานขึ้น ระยะเวลาที่นอนโรงพยาบาลสูง 5-7 วันเทียบกับ 2-3 วันสำหรับผ่าตัดส่องกล้อง เป็นต้น

ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมากทำให้ความคมชัดของกล้องมากขึ้นและกล้องขนาดเล็กลงเพียง 5 มิลลิเมตร ทำให้ในปัจจุบันผลแทรกซ้อนของการผ่าตัดส่องกล้องต่ำกว่าจากการผ่าตัดแบบเปิดช่องอก การผ่าตัดส่องกล้องจึงเป็นที่นิยมสูง โดยเทคนิคการผ่าตัดแบบส่องกล้องนั้นมีได้ทั้งผ่าตัดแบบ 3 แผล (Three Ports), 2 แผล (Two Ports) และแผลเดียว (Uniport) โดยการเลือกผ่าตัดชนิดใดนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแพทย์ผู้ผ่าตัดและลักษณะโรคของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

ส่วนการที่จะเลือกผ่าตัดเป็นทั้งกลีบหรือน้อยกว่าทั้งกลีบนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดและลักษณะของมะเร็ง การทำงานทางปอดของผู้ป่วย อายุ เป็นต้น โดยจะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป

[Total: 1 Average: 4]