ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ

ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ หมายถึง ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ (ค่าปกติประมาณ 8.5-10.5 มก./ดล.) เป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก อาจพบได้ทั้งในทารกและผู้ใหญ่

สาเหตุ ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ

1.  ผู้ใหญ่ส่วนมาก มีสาเหตุจาการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (เช่น ผู้ป่วยที่เคยเป็นคอพอกเป็นพิษ หรือต่อมไทรอยด์โตมาก) แล้วตัดเอาต่อมพาราไทรอยด์ (ที่อยู่ใกล้ กัน) ออกไปด้วยจึงทำให้เกิดภาวะขาดพาราไทรอยด์ hypoparathy roidism) ต่อมนี้มีหน้าที่สร้างฮอร์โมรช่วยรักษาระดับของแคลเซียมในเลือดให้อยู่ในสมดุล เมื่อต่อมนี้ทำงานได้น้อยก็จะทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ ซึ่งอาจแสดงอาการภายหลังผ่าตัดแล้วเป็นปีๆ ก็ได้ และอาจเป็นชั่วคราวหรือถาวรก็ได้

นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากภาวะขาดพาราไทรอยด์โดยไม่ทราบสาตุ ภาวะไตวายเรื้อรัง การใช้ยาาตุแคลเซียมได้น้อย โรคพิษสุราเรื้อรัง ภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง ภาวะโลหิตเป็นพิษ ภาวะเลือดเป็นด่าง (alkalosis) ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันเป็นต้น

2.  ในทารกแรกเกิด ถ้ามีอาการภายใน 3 วัน หลังคลอด อาจมีสาเหตุจากมารดาเป็นเบาหวานหรือมีภาวะขาดพาราไทรอยด์ ทารกมีภาวะขาดออกซิเจนขณะคลอด ทารกคลอดก่อนกำหนด

ถ้ามีอาการหลังคลอดเป็นสัปดาห์ขึ้นไป อาจมีสาเหตุจากการให้ทารกกินนมวัวที่มีสารฟอตเฟตสูง ทารกมีภาวะลำไส้ไม่ดูดซึมแคลเซียม หรือเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากโรคอุจจาระร่วง ทารกมีภาวะขาดพาราไทรอยด์ หรือภาวะขาดวิตามินดี (โรคกระดูกอ่อน) หรือภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ (hypomagnesemia)

อาการ ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ

ที่พบได้บ่อย คือ ผู้ป่วยจะมีอาการมือจีบเกร็งทั้ง 2 ข้าง แบบเดียวกับที่พบในผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน

นอกจากนี้อาจเป็นตะคริวที่ขา ใบหน้า หรือปวดบิดในท้อง บางรายอาจมีความรู้สึกชาที่ริมฝีปาก ลิ้น และปลายมือปลายเท้า ถ้าเป็นรุนแรงอาจมีอาการชัก

ในทารก อาจมีอาการชัก หายใจลำบาก ตัวเขียว บางรายอาจมีอาการอาเจียน (ซึ่งอาจรุนแรงจนเข้าใจผิดว่ามีภาวะกระเพาะลำไส้อุดกั้น)

สิ่งตรวจพบ

มือจีบเกร็งทั้ง 2 ข้าง อาจเป็นตะคริวที่ขาหรือชัก

ภาวะแทรกซ้อน

ถ้ามีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำมากๆ อาจทำให้หัวใจวาย กล่องเสียงเกร็งตัวจนหายใจไม่ได้

ถ้าเกิดจากภาวะขาดพาราไทรอยด์ หากปล่อยไว้เรื้อรัง อาจทำให้เป็นต้อกระจก บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลงซึมเศร้า

ถ้าหากเป็นตั้งแต่เล็กๆ หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ฟันเสีย ร่างกายไม่เจริญเติบโต และปัญญาอ่อนได้

การรักษา ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ

หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

ในรายที่มีประวัติการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ (สังเกตเห็นรอบแผลที่คอ) อาจให้การรักษาเบื้องต้น ด้วยการฉีดแคลเซียมกลูโคเนต 10 มล. เข้าหลอดเลือดดำช้าๆ ซึ่งจะช่วยให้หายชักเกร็งทันที

ควรจะเจาะเลือดตรวจดูระดับแคลเซียม (มักจะต่ำกว่า 7.5 มก./ดล.) และทำการตรวจหาสาเหตุ

อาจต้องให้ผู้ป่วยกินเกลือแคลเซียม เช่น แคลเซียมกลูโคเนต เป็นประจำทุกวัน

ในรายที่เกิดจากภาวะขาดพาราไทรอยด์ อาจให้กินวิตามินดี เช่น แคลซิเฟอรอล (calciferol) ร่วมด้วยเป็นประจำทุกวัน ผู้ป่วยอาจต้องกินยาติดต่อกันตลอดไป โดยแพทย์จะนัดตรวจระดับแคลเซียมในเลือดเป็นครั้งคราว

ในรายที่มีสาเหตุจากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ บางรายอาจมีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำชั่วระยะหนึ่ง และอาจหายได้เอง แต่บางรายก็อาจเป็นถาวร ซึ่งต้องคอยกินยารักษาตลอดไป

[Total: 0 Average: 0]