สายตาขี้เกียจ

สายตาขี้เกียจ คือ ภาวะที่ความสามารถในการมองเห็นของดวงตา ข้างใดข้างหนึ่งด้อยกว่าอีกข้างหนึ่ง โดยดวงตาข้างที่เป็นสายตาขี้เกียจจะมองเห็นภาพต่าง ๆ มัวกว่าดวงตาอีกข้างที่เป็นปกติ ภาวะสายตาขี้เกียจนี้มักเกิดขึ้นในเด็กเฉพาะเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 -7 ปี ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจจะทำให้มีอาการตามัวเช่นนี้อย่างถาวร และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการใช้แว่นตา ทานยา หยอดยา การผ่าตัด หรือการทำเลสิกเพื่อรักษาปัญหาทางสายตา

สาเหตุ สายตาขี้เกียจ

สาเหตุของสายตาขี้เกียจ ได้แก่

  • การทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวดวงตาทำงานไม่สมดุลกัน
  • การเบี่ยงเบนสายตามาใช้ตาเพียงข้างใดข้างหนึ่ง เช่น มีการติดเชื้อหรือเป็นต้อกระจกบริเวณตาข้างขวา ทำให้ใช้เพียงตาข้างซ้ายในการมองเห็น ฯลฯ
  • มีสายตายาว สั้น หรือเอียงทั้งสองข้างมากเกินไป หรือไม่เท่ากันทั้งสองข้าง
  • ความบกพร่องของอวัยวะรับภาพ หรือแปลผลภาพ เช่น เส้นประสาทตาฝ่อ แผลบริเวณจุดรับภาพในจอตา และการเสียหายของสมองส่วนที่แปลภาพจากการขาดออกซิเจน ฯลฯ

อาการ สายตาขี้เกียจ

โรคนี้ค่อนข้างสังเกตได้ยาก และตัวเด็กเองก็อาจแยกออกไม่ออกว่าเกิดอาการกับดวงตาข้างใดข้างหนึ่งหรือไม่ ยกเว้นในกรณีที่มองเห็นความผิดปกติจากดวงตาได้ชัดเจน ผู้ป่วยมักมีอาการ ดังนี้

  • การมองเห็นของดวงตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้างแย่ลง
  • มีอาการตาเหล่ ต้องเอียงศีรษะหรือปิดตาไว้ข้างหนึ่ง เพื่อให้มองเห็นได้ชัด
  • การกะระยะหรือวัดความห่างระหว่างวัตถุกับสิ่งอื่น ๆ ทำได้ยาก
  • ดวงตาเบนเข้าด้านในหรือออกด้านนอก
  • ปวดศีรษะ

การรักษา สายตาขี้เกียจ

  1. การรักษาโดยการผ่าตัด : กรณีที่สามารถทำการผ่าตัดเพื่อรักษาได้ เช่น ผ่าตัดต้อกระจก, เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา, หนังตาตก  ควรได้รับการผ่าตัดก่อน จากนั้นจึงค่อยรับการทำการพัฒนาการมองเห็น โดยการปิดตาข้างที่ดีกว่าเพื่อกระตุ้นให้ดวงตาอีกข้างที่ด้อยกว่าได้ถูกใช้งานบ้าง
  2. การรักษาโดยการใช้แว่นสายตา : ในกรณีที่สายตาขี้เกียจจากปัญหาความผิดปกติทางสายตา จะเริ่มโดยการใช้แว่นสายตาก่อน ซึ่งหากเด็กเริ่มมองเห็นชัดจากการใช้แว่น ก็ถือเป็นการกระตุ้นพัฒนาการในการมองเห็นได้
  3. การรักษาในกรณีที่มีตาเหล่ หรือเริ่มมีอาการตาขี้เกียจแล้ว : จะกระตุ้นโดยการปิดตาข้างที่ดี เพื่อให้ตาข้างที่ด้อยกว่าได้รับการใช้งาน ซึ่งควรปิดอย่างน้อยวันละ 6 ชั่วโมง จนกว่าสายตาทั้งสองข้างจะมองเห็นปกติ แต่ละรายอาจจะใช้เวลาไม่เท่ากัน

ทั้งนี้ การรักษาโรคสายตาขี้เกียจมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากคุณพ่อคุณแม่ เริ่มตั้งแต่สังเกตพฤติกรรมในการมองของลูก หากพบอาการผิดปกติควรรีบพาไปพบจักษุแพทย์ และหากต้องการได้รับการรักษา เช่น การปิดตานั้น ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในความสำเร็จของการรักษา โดยจะต้องดูแลให้เด็กปิดตาในข้างที่กำลังรักษาตามเวลาที่แนะนำ หากเด็กไปโรงเรียนแล้วถูกเพื่อนล้อ อาจจะต้องคอยให้กำลังใจ และพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

[Total: 0 Average: 0]