ต้อกระจก

ต้อกระจก คือ ภาวะที่แก้วตาหรือเวลน์ตา (lens) ภายในลูกตามีลักษณะขุ่นขึ้นจากปกติที่มีลักษณะโปร่งใสเหมือนกระจก เมื่อแก้วตาขุ่นขาวก็จะมีลักษณะทึบแสง ไม่ยอมให้แสงผ่านเข้าสู่ลูกตาไปรวมตัวที่จอตา (เรตินา) ทำให้เกิดอาการสายตาฝ้าฟางหรือสายตามัวคล้ายเห็นมีหมอกบัง

สาเหตุ ต้อกระจก

  1. ส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 80) เกิดจากภาวะเสื่อมตามวัย ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีจะเป็นต้อกระจกแทบทุกราย แต่อาจเป็นมากน้อยต่างกันไป เรียกว่า ต้อ กระจกในผู้สูงอายุ (senile cataract)
  2. ส่วนน้อยอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
  • เป็นมาแต่กำเนิดซึ่งจะพบในทารกที่เป็นหัดเยอรมันแต่กำเนิด
  • เกิดจากการได้รับบาดเจ็บ หรือกระทบกระเทือนที่ตาอย่างรุนแรง
  • เกิดจากความผิดปกติของตา เช่น ม่านตาอักเสบ ต้อหิน 
  • เกิดจากยา เช่น การใช้ยาหยอดตาที่เข้าสตีรอยอด์ หรือกินสตีรอยด์นานๆ การใช้ยาลดความอ้วนบางชนิด เป็นต้น
  • เกิดจากการถูกรังสีที่บริเวณตานานๆ (เช่น ผู้ที่เป็นมะเร็งลูกตาเมื่อรักษาด้วยรังสีบ่อยๆ) หรือถูกแสงแดดหรือแสง อัลตราไวโอเลต ก็อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้
  • ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานหรือผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ หรือผื่นแพ้จากกรรมพันธุ์  ก็มักจะเกิดต้อกระจกก่อนวัยได้ภาวะขาดอาหาร การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์จัด ก็อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้เร็วกว่าปกติ

อาการ ต้อกระจก

ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตาค่อย ๆ มัวลงเรื่อย ๆ ทีละน้อย ในระยะเริ่มแรกจะรู้สึกมีอาการตามัวเหมือนมีหมอกบัง มองในที่มือชัดกว่าที่สว่าง* หรือถูกแสงสว่างจะรู้สึกตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ หรือเห็นภาพซ้อน โดยไม่มีอาการเจ็บปวดหรือตาแดงแต่อย่างใด

อาการมัวจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ กินเวลาเป็นแรม เดือนแรมปี จนในที่สุดเมื่อแก้วตาขุ่นขาวจนหมด (เรียกว่า ต้อสุก) ก็จะมองไม่เห็น สำหรับต้อกระจกในผู้สูงอายุ มักจะเป็นที่ตาทั้ง 2 ข้าง  แต่จะสุกไม่พร้อมกัน

การป้องกัน ต้อกระจก

  1. อาการตามัวอาจมีสาเหตุอื่น นอกจากต้อกระจก ควรซักถามอาการ และตรวจดูให้แน่ใจว่าไม่ใช่เกิดจากภาวะร้ายแรง เช่น ต้อหิน
  2. การรักษาต้อกระจกมีอยู่วิธีเดียว คือ การผ่าตัด ไม่มียาที่ใช้กินหรือหยดแก้อาการของต้อกระจกได้
  3. ต้อกระจกที่พบในผู้ที่มีอายุน้อย หรือวัยกลางคน อาจมีสาเหตุจากเบาหวาน หรืออื่นๆ ได้ ควรแนะนำ ไปตรวจที่โรงพยาบาล
  4. ผู้ป่วยที่เป็นต้อกระจกควรหลีกเลี่ยงการไปรักษาตามแบบพื้นบ้านซึ่งบางคนยังนิยม เพราะกลัวการผ่าตัดหรือกลัวเสียค่าใช้จ่ายมาก หมอเหล่านี้ (ซึ่งไม่ใช่แพทย์) จะทำการเดาะแก้วตา (couching) โดยการใช้เข็มดันแก้วตาให้หลุดไปด้านหลังของลูกตา แสงก็จะผ่านเข้าไปในตาได้ทำให้มองเห็นแสงสว่างได้ทันที และให้ใส่แวนทำให้มองเห็นได้ชัดขึ้น แต่ไม่ช้าจะเกิดภาวะ แทรกซ้อนตามมา เช่น ต้อหิน เลือดออกในวุ้นลูกตา หรือประสารทตาเสื่อมทำให้ตาบอดอย่างถาวร

การรักษา ต้อกระจก

                เมื่อสงสัยผู้ป่วยเป็นต้อกระจก ควรแนะนำไปตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวินิจฉัยให้แน่ชัดและนัดหมายในการรักษาด้วยการผ่าตัด

                โดยทั่วไปจะทำการผ่าตัดต้อกระจกเมื่อผู้ป่วยมีสายตามัวจนดำเนินชีวิตประจำวันได้ไม่สะดวก เช่น การอ่านหนังสือ การทำงานที่ต้องใช้สายตา การเดินทาง การขับรถ เป็นต้น หรือต้อกระจกขุ่นมากจนทำให้ไม่สามารถตรวจจอประสาทตา (เช่น ในผู้ป่วยเบาหวาน) หรือเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ต้อหิน

                ส่วนในทารกที่เป็นต้อกระจกมาแต่กำเนิด อาจต้องผ่าตัดเมื่ออายุได้ 6 เดือน เพื่อป้องกันมิให้จอประสาทตาเสื่อม

                ในปัจจุบันจักษุแพทย์นิยมทำการผ่าตัดโดยวิธีสลายต้อด้วยคลื่นความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์ (phaco emulsification) ทำให้เนื้อเลนส์ (แก้วตา)สลายตัวและดูดออก แล้วใส่เลนส์เทียม (ซึ่งสามารถใช้งานได้ตลอดชีวิต) เข้าไปแทนในถุงหุ้มเลนส์เดิม วิธีนี้แผลผ่าตัดเล็กใช้เวลาน้อย และไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล** และไม่ต้องใช้แว่นตัดแว่นใส่เวลามองไกล แต่เวลาอ่านหนังสือมักต้องใช้แว่นอ่านหนังสือเช่นเดียวกับผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีทั่วไป เนื่องเพราะเลนส์เทียมจะขาดความยืดหยุ่นแบบเลนส์ของผู้ที่มีอายุมาก ทำให้ไม่สามารถปรับเลนส์ตา (accommodation) ให้เห็นชัดเวลามองใกล้ได้ แพทย์จะรอเวลาหลังผ่าตัด 1-2 เดือน จนสายตาเข้าที่แล้วจึงจะวัดสายตาตัดแว่นอ่านหนังสือ (การผ่าตัดต้อกระจกแบบเก่าต้องเปิดแผลกว้าง นำแก้วตาที่ขุ่นพร้อมถุงหุ้มออกทั้งอัน ต้องนอนพักในโรงพยาบาลนาน 5-7 วัน หลังจากนั้นต้องตัดแว่นใส่เพื่อปรับสายตาให้มองเห็นได้ชัดทั้งมองไกลและมองใกล้)

                 ผลการรักษา จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นสายตาให้กลับมามองเห็นชัดเช่นคนปกติทั่วไป และตาข้างที่ผ่าตัดแล้วจะไม่เป็นต้อกระจกซ้ำอีกถ้าหลังจากผ่าตัดแล้วตาข้างนั้นมีอาการตามัวอีก มักเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ต้อหิน จอตาเสื่อม ถุงหุ้มเลนส์ขุ่น เป็นต้น

[Total: 1 Average: 4]