อาการ อีสุกอีใส

เด็กจะมีไข้ต่ำ ๆ  อ่อนเพลียและเบื่ออาหารเล็กน้อย ในผู้ใหญ่มักมีไข้สูงและปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน

ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้น  ซึ่งจะขึ้นพร้อม ๆ กันกับวันที่เริ่มมีไข้  หรือ 1 วันหลังจากมีไข้ เริ่มแรกจะขึ้นเป็นผื่นราบสีแดงขนาดเล็กๆ ก่อน 2-3 ชั่วโมงต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูนและตุ่มน้ำใสขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3  มม. มีฐานสีแดงอยู่โดยรอบ ตุ่มใสมักมีอาการคัน ภายใน  24 ชั่วโมงต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำขุ่น  ขนาดใหญ่ขึ้นและแตกง่าย  แล้วฝ่อหายไปหรือกลายเป็นสะเก็ด  สะเก็ด มักหลุดหายไปภายใน 7-10 วัน (บางรายอาจนาน  2-3 สัปดาห์) โดยไม่เป็นแผลเป็น  นอกจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน  อาจกลายเป็นตุ่มหนองและกลายเป็นแผลเป็น

ผื่นและตุ่มจะขึ้นตามลำตัว(หน้าอก  แผ่นหลัง)ก่อน แล้วไปที่หน้า หนังศีรษะ และแขนขา มักพบตุ่มกระจายอยู่ตามบริเวณลำตัวมากกว่าบริเวณอื่น ผื่นและตุ่มอันใหม่จะทยอยขึ้นเป็นระลอก ๆ ตามมาเป็นเวลา 3-6 วัน (ส่วนใหญ่ประมาณ 4 - 5 วัน)  แล้วก็จะหยุดขึ้น ผื่นที่ขึ้นก่อนจะกลายเป็นตุ่มขุ่น (ตุ่มสุก) และตกสะเก็ดก่อนผื่นที่ขึ้นทีหลัง  ดังนั้นมักจะพบว่าในบริเวณเดียวกันจะมีผื่นตุ่มทุกรูปแบบทั้งตุ่มสุกและตุ่มใส  ชาวบ้านจึงเรียกว่าอีสุกอีใส

อาจมีผื่นตุ่มใสในลักษณะเดียวกันขึ้นตามเยื่อบุปาก (เช่น  เพดานปาก ลิ้น  คอหอย) ซึ่งแตกเป็นแผลตื้นๆ ทำให้มีอาการเจ็บปาก  เจ็บลิ้น  เจ็บคอ บางรายอาจขึ้นที่เยื่ออื่นๆ เช่น เยื่อบุตา กล่องเสียง หลอดลม ทวารหนัก  ท่อปัสสาวะ ช่องคลอด  เป็นต้น

          ในเด็กอาการมักจะไม่รุนแรง ไข้มักไม่สูง  บางรายอาจไม่มีไข้  มีเพียงผื่นตุ่มขึ้น  ซึ่งในวันแรกๆ  อาจวินิจฉัยไม่ได้ชัดเจน  หรือคิดว่าเป็นเริม  ผื่นตุ่มในเด็กมัก ขึ้นไม่มากและมักหายได้เองภายใน  7 – 10  วัน
          ในผู้ใหญ่มักจะมีไข้สูง  ปวดเมื่อย  มีผื่นตุ่มขึ้นจำนวนมาก  และมักหายช้ากว่าเด็ก

          บางรายอาจติดเชื้อไวรัสอีสุกอีใส  โดยไม่มีอาการแสดงก็ได้  ทำให้ไม่รู้ตัวว่าเคยเป็นโรคนี้มาก่อน

สิ่งตรวจพบ อีสุกอีใส

          ในวันแรกๆ  จะพบผื่นแดง ตุ่มนูน และตุ่มน้ำใสขนาดเล็กๆ อยู่กระจายตามใบหน้า หน้าอก และแผ่นหลัง ในวันหลังๆจะพบผื่นและตุ่มหลายลักษณะอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน อาจพบผื่นตุ่มที่หนังศีรษะ  แผลเปื่อยที่เพดานปาก ลิ้น  หรือคอหอย

           ในเด็กอาจมีไข้ต่ำๆ  (37.5-38.5 องศาฯ) หรือไม่มีไข้
           ในผู้ใหญ่  มักพบว่ามีไข้สูง (39-40 ซ.)

ภาวะแทรกซ้อน อีสุกอีใส

                  พบได้น้อยในเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงอยู่เดิม แต่ถ้าเป็นในผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง  เอดส์ ปลูกถ่ายอวัยวะ ใช้ยารักษามะเร็งหรือสตีรอยด์ เป็นต้น) จะมีภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยและรุนแรง

                  ที่พบได้บ่อย คือ การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เนื่องจากไม่ได้รักษาความสระอาดหรือใช้เล็บเกา จนกลายเป็นแผลพุพอง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังอักเสบ หรือไฟลามทุ่ง ซึ่งอาจเป็นแผลเป็นได้

                  ที่ร้ายแรง คือ ปอดอักเสบ มักพบในผู้ที่มีมากกว่า 20  ปี หญิงตั้งครรภ์  หรือผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ  มักเกิดจากไวรัสอีสุกอีใส บางรายอาจเกิดจากการติดเชื้อสแตฟีโลค็อกคัสแทรกซ้อน  อาการมักจะรุนแรงและมีอัตราตายสูง

                  อาจเกิดสมองอักเสซึ่งพบได้ประมาณ 1 ใน 1,000  พบในเด็กบ่อยกว่าผู้ใหญ่  มีอัตราตายร้อยละ 5 - 30  นอกนั้นมักจะหายได้เป็นปกติ

                  ที่พบได้น้อยแต่รุนแรงอีกอย่างก็ คือ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ทำให้มีเลือดออกในตุ่มน้ำใส  หรือเลือดออกตามปากและจมูก  มักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

                  หญิงตั้งครรภ์ในระยะไตรมาสแรกหรือไตรมาสที่ 2  ถ้ามีการติดเชื้ออีสุกอีใส  อาจทำให้ทารกน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อยหรือทารกพิการได้  เรียกว่า  กลุ่มอาการอีสุกอีใสแต่กำเนิด(congenital varicella syndrome) เช่น มีแผลเป็นตามตัว แขนขาลีบ ต้อกระจก ตาเล็ก  ศีรษะเล็ก  ปัญญาอ่อน  เป็นต้น  ความพิการในทารกได้ประมาณร้อยละ 0.5-6.5 (เฉลี่ยร้อยละ 2) ของทารกทีมีแม่เป็นอีสุกอีใสในช่วงไตรมาสแรก

                  นอกจากนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นอีสุกอีใสภายใน  5 วันคลอด  หรือภายใน 48 ชั่วโมงหลังหลอด  ทารกที่เกิดมาอาจเป็นอีสุกอีใสชนิดรุนแรงซึ่งมีอัตราตายสูง

                  ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ  ที่อาจพบได้แต่น้อยมากเช่น โรคเรย์ซินโดรม ข้ออักเสบ ตับอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จอประสาทตาอักเสบ หน่วยไตอักเสบ อัณฑะอักเสบ  เป็นตัน

[Total: 0 Average: 0]