การส่องกล้องดูในช่องอก (Thoracoscopy)

การส่องกล้องดูในช่องอก (Thoracoscopy) เป็นการส่องกล้องเข้าไปโดยตรงที่ผนังทรวงอกผ่านทางช่องเยื่อหุ้มปอด  ผนังทรวงอกเมดิแอสตินั่มและเยื่อหุ้มหัวใจ การส่องกล้องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษา ซึ่งจะช่วยลดการเป็นโรค  ลดอาการปวด หรือความพิการ (โดยไม่ต้องผ่าตัดแบบเปิดทรวงอก) และลดการเกิดอาการเจ็บหลังผ่าตัด  ลดขั้นตอนการผ่าตัด  ลดเวลาการให้ยาสลบ และฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย ได้เร็วขึ้น

วัตถุประสงค์
1.เพื่อวินิจฉัยโรคที่เยื่อหุ้มปอด
2.เพื่อตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ
3.เพื่อรักษาพยาธิสภาพที่เกิดกับเยื่อหุ้มปอด เช่น ถุงน้ำ(cysts) ตุ่มใส ๆ (blebs) น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด โรคโพรงเยื่อหุ้มปอดมีก้อนเนื้องอก

การเตรียมผู้ป่วย
1.บอกผู้ป่วยว่า  การตรวจนี้ช่วยให้เห็นผนังทรวงอก จนถึงช่องเยื่อหุ้มปอดเมดิแอสตินั่มและเยื่อหุ้มหัวใจ
2.บอกผู้ป่วยเกี่ยวกับการตรวจ และข้อห้าม เช่น การตรวจนี้จะต้องเปิดทรวงอก เพื่อวินิจฉัยหรือรักษาและต้องดมยาสลบ
3.แนะนำผู้ป่วยว่าต้องงดน้ำและอาหาร 10 – 12 ชั่วโมงก่อนตรวจ
4.ก่อนตรวจ จะต้องตรวจสอบว่าผู้ป่วยเหมาะสมกับการตรวจนี้หรือไม่เช่น  ตรวจดูหน้าที่ของปอด ทดสอบการแข็งตัวของเลือด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography; EKG) ถ่ายภาพรังสีทรวงอก (Chest  X – ray) และให้ผู้ป่วยเซ็นใบยินยอมรับการตรวจรักษาให้เรียบร้อย
5.บอกผู้ป่วยว่า จะต้องใส่ท่อในทรวงอก และมีระบบระบายหลังจากผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับยาแก้ปวด และการตรวจนี้จะเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยมาก
6.การตัดชิ้นเนื้อหรือรอยโรคออกมาตรวจ ซึ่งอาจทำขณะส่องกล้องตรวจแล้วมองเห็นสิ่งผิดปกติ เพื่อนำชิ้นเนื้อออกมาวินิจฉัย

การตรวจและการดูแลภายหลังตรวจ
1.ให้ผู้ป่วยดมยาสลบ และใส่ท่อหลอดลมคอเป็นแบบมี 2  รู (double – lumen)
2.ผ่าตัดปอดด้านข้าง  ลงมือกรีดผิวหนังที่ช่องซี่โครง ใส่ท่อโทรคา (trocar) เข้าไป
3.ใส่เลนส์ (lens) เพื่อการมองเห็นผ่านกล้องขณะตรวจ
4.ใส่ท่อแล้วต่อลงขวดเป็นแบบความดันลบ (negative pressure) ระบบระบายใช้น้ำเป็นตัวปิดกั้นไม่ให้ลมเข้าไปในปอด (water  sealed  drainage  system) ปิดแผลด้วยพลาสเตอร์  และทำแผล
5.บันทึกสัญญาณชีพหลังผ่าตัดทุก 15 นาที  เป็นเวลา 1 ชั่วโมง แล้วบันทึกทุก 30 นาทีเป็นเวลา 2 ชั่วโมง  บันทึกทุก 1 ชั่วโมงอีก 2 ชั่วโมงต่อมา  และทุก 4 ชั่วโมงจนกระทั่งสัญญาณชีพคงที่
6.ประเมินการหายใจลำบาก จากภาวะที่มีลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด (pneumothorax) และการทำงานของท่อระบายทรวงอก
7.ให้ยาแก้ปวดตามที่ผู้ป่วยต้องการ  เมื่อมีอาการปวด และบันทึกไว้ให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมเล็กน้อย

ข้อควรระวัง
1.ให้ส่งสิ่งส่งตรวจ (specimen) ไปยังห้องตรวจทันที
2.ห้ามส่องกล้องดูในช่องอก (thoracoscopy) ของผู้ป่วยถ้าเลือดมีการแข็งตัว (coagulogram) ผิดปกติ หรือมีรอยโรคใกล้ ๆ หลอดเลือด ผู้ที่เคยผ่าตัดทรวงอกมาไม่นาน หรือผู้ที่ไม่สามารถได้รับออกซิเจนด้วยปอดข้างเดียว
3.ระวังภาวะแทรกซ้อน  แต่พบน้อย เช่น มีเลือดออก เส้นประสาทได้รับบาดเจ็บ กะบังลมทะลุ มีอากาศเข้าไปอุดตันในหลอดเลือด (air  emboil)  และเกิดความดันจากลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอด (tension  pneumothorax)

ผลการตรวจที่เป็นปกติ
ช่องเยื่อหุ้มปอดมีน้ำหล่อลื่นเล็กน้อย เพื่อช่วยให้ปอดและผนังทรวงอกเคลื่อนไหวได้ เยื่อบุทั้งด้านนอกและด้านในปอดไม่มีรอยโรค และแยกจากกันในแต่ละชั้น

ผลการตรวจที่ผิดปกติ
พบรอยโรค เช่น เนื้องอก แผล และตำแหน่งที่มีเลือดออก เห็นรอยที่ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ  การวินิจฉัยอาจรวมถึงมะเร็ง  หนอง  น้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด  วัณโรคหรือมีการอักเสบ

[Total: 1 Average: 5]