การตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น

การตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น (Upper  gastrointestinal (G.I.) series)
                การตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้ส่วนต้น (Upper  gastrointestinal series) เป็นการตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น โดยเน้นการตรวจกระเพาะอาหารเป็นสำคัญ ผู้ป่วยจะต้องดื่มสารทึบรังสีหรือกลืนแป้งแบเรียมซัลเฟตเพื่อเคลือบกระเพาะอาหารและลำไส้ในระหว่างการถ่ายภาพเอกซเรย์ เพื่อให้เห็นพยาธิสภาพของทางเดินอาหารส่วนต้นทั้งหมด

วัตถุประสงค์ การตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น

1.เพื่อตรวจดูว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติเหล่านี้หรือไม่ เช่น ไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatus hernia) กระเปาะของลำไส้ใหญ่ (Diverticulum) และมีเลือดออก (Varices)
2.เพื่อตรวจดูตำแหน่งของการตีบตันแผล  ก้อนเนื้องอก  การอักเสบ  หรือบริเวณที่มีการดูดซึมไม่ดี
3.เพื่อตรวจดูการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ว่าผิดปกติหรือไม่

การเตรียมผู้ป่วย การตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น

1.บอกผู้ป่วยว่าจะต้องกลืนแป้งแบเรียมแล้วตามด้วยการเอกซเรย์ เพื่อตรวจดูหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก
2.บอกผู้ป่วยให้รับประทานอาหารอ่อนที่มีกากน้อย  งดสูบบุหรี่ 2 – 3 ชั่วโมง  ก่อนตรวจ และตามด้วยการงอดอาหารหลังเที่ยงคืน
3.บอกผู้ป่วยเรื่องการตรวจ ผู้ดูแล และสถานที่ตรวจ
4.ให้ผู้ป่วยถอดของมีค่าที่เป็นโลหะออก
5.แจ้งผู้ป่วยทราบว่าผู้ป่วยจะต้องอยู่ในที่ที่มีโต๊ะเอกซเรย์  ซึ่งจะหมุนได้หลายทิศทาง เช่น แนวดิ่ง แนวขนาน แนวเอียง เป็นต้น
6.บอกผู้ป่วยว่าในการตรวจนี้จะต้องกลืนแป้งแบเรียม ซึ่งคล้ายกับโอวัลติน ประมาณ 500-600 มิลลิลิตร รสชาติจะไม่อร่อย และอาจจะรู้สึกแน่น ๆ ท้อง ไม่สบายในท้อง เนื่องจากมีแป้งไปฉาบผนังในช่องท้องและลำไส้ไว้
7.บอกผู้ป่วยว่าจะต้องงดรับประทานอาหารหลังเที่ยงคืน และยานอนหลับเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพราะยาเหล่านี้จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็ก ยาลดกรด ชนิด H2 receptor antagonists และ proton pump inhibitors อาจจะงดด้วยหากมีการขย้อนในกระเพาะอาหาร
8.ก่อนตรวจให้ผู้ป่วยสวมเสื้อคลุม ถอดของมีค่าออก ถอดฟันปลอมออก และสิ่งต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเอกซเรย์

การตรวจและการดูแลหลังตรวจ การตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น

1.ให้ผู้ป่วยนอนหงายบนเตียงเอกซเรย์ ที่เอียงจนตั้งตรงและเอกซเรย์หัวใจปอด และท้อง
2.ให้ผู้ป่วยกลืนแป้งแบเรียม
3.เอกซเรย์ผู้ป่วยตั้งแต่หลอดอาหารจากมุมด้านบนจากขวาและซ้าย ด้านหน้าและด้านหลัง
4.เมื่อแป้งแบเรียมผ่านเข้าไปยังกระเพาะอาหาร  คลำหรือกดหน้าท้องดูให้แน่ใจว่าแป้งแบเรียมเข้าไปฉาบผนังกระเพาะอาหารพอแล้ว
5.ให้ผู้ป่วยค่อย ๆ กลืนแป้งแบเรียมอีกครั้ง  และถ่ายเอกซเรย์กระเพาะอาหารและลำไส้ จากหลังไปหน้า หน้าไปหลัง ด้านข้าง และด้านเฉียง ในท่าตั้งตรงและ  ท่านอนหงาย
6.แป้งแบเรียมผ่านเข้าไปยังลำไส้เล็ก เอกซเรย์ให้ได้ภาพในระหว่าง 30 ถึง 60 นาที  จนกระทั่งแป้งผ่านเข้าไปถึงวาล์วของลำไส้เล็กต่อลำไส้ใหญ่ (ileocecal valve) หากพบความผิดปกติของลำไส้เล็ก ให้คลำและกดบริเวณนั้น เพื่อช่วยตรวจให้ชัดเจน  ยิ่งขึ้นและถ่ายภาพไว้ การตรวจจะสิ้นสุดเมื่อแป้งเคลื่อนไปยังลำไส้ใหญ่
7.ก่อนที่จะให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารดื่มน้ำ  หรือรับประทานยา ต้องแน่ใจว่าไม่ต้องเอกซเรย์อีกแล้ว
8.ให้ผู้ป่วยค่อย ๆ ดื่มน้ำทีละน้อย (ยกเว้นมีข้อห้าม) เพื่อช่วยขจัดแป้งแบเรียม
9.ให้ยาระบายหรือสวนอุจจาระให้ผู้ป่วย บอกผู้ป่วยว่าอุจจาระจะมีสีขาวเป็นเวลา 24 – 72 ชั่วโมง บันทึกจำนวนและลักษณะอุจจาระขณะที่อยู่โรงพยาบาล  การคั่งค้างของแป้งแบเรียมในลำไส้อาจเป็นสาเหตุของการอุดตันหรืออุจจาระไม่ออก ดังนั้น ต้องรายงานให้แพทย์ทราบถ้าผู้ป่วยไม่สามารถถ่ายเอาแป้งแบเรียมออกได้ใน 2 – 3 วัน เพราะมีผลต่อการตรวจทางเดินอาหารอื่น ๆ ได้

ข้อควรระวัง การตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น

  1. การตรวจนี้อาจเป็นข้อห้าม ในผู้ป่วยที่มีการอุดตัน หรือมีการทะลุของทางเดินอาหาร แป้งแบเรียมอาจทำให้เพิ่มการอุดตันมากขึ้นหรือทำให้มีการไหลซึมเข้าไปในช่องท้อง
  2. การตรวจนี้ห้ามทำในหญิงตั้งครรภ์  เพราะสารทึบรังสีจะมีผลต่อทารกในครรภ์

ผลการตรวจที่เป็นปกติ

หลังจากกลืนแป้งผ่านลิ้นเข้าไปในลำคอ  จะมีการเคลื่อนผ่านไปยังหลอดอาหารใช้เวลาประมาณ 2 วินาที การเคลื่อนของแป้งแบเรียมจะผ่านหลอดอาหารและ  จะเห็นเยื่อบุเรียบและการเคลื่อนอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเคลื่อนมาถึงหลอดหาร  กล้ามเนื้อหูรูดคาร์เดีย (cardiac sphincter) จะเปิดและเคลื่อนผ่านไปยังช่องท้อง เมื่อผ่านไปแล้วกล้ามเนื้อหูรูดคาร์เดียจะปิด

แป้งแบเรียมผ่านไปยังช่องท้อง จะเห็นรูปร่างของกระเพาะอาหารมีลักษณะเรียบและเคลื่อนไหวสม่ำเสมอ ส่วนแป้งแบเรียมผ่านไปยังลำไส้อย่างรวดเร็วไปยังกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะส่วนปลาย (pyloric sphincter) ผ่านไปยังลำไส้เล็กส่วน เจจูนัม (jejunum) และไอเรียม (ileum)

ผลการตรวจที่ผิดปกติ

ภาพเอกซเรย์บริเวณหลอดอาหารอาจพบมีการตีบ  มีก้อนเนื้องอก  มีไส้เลื่อนกะบังลม (hiatus hernia) มีกระเปาะของลำไส้ใหญ่ (diverticula) มีเลือดออก (varices) และมีแผล (ulcer) พบการขยายใหญ่ของหลอดอาหาร พบเยื่อบุผนังมีแผลถลอก มีก้อนเนื้องอกทำให้ลักษณะลำของแป้งแบเรียมผิดปกติ มีการเปลี่ยนแปลงของรูปร่างของเยื่อบุผนังจากก้อนมะเร็ง การตัดชิ้นเนื้อตรวจดูเซลล์ก็เพื่อวินิจฉัยว่ามีการตีบหรือมีก้อนเนื้องอกที่หลอดลมหรือไม่

              มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เช่น มีการเกร็งของหลอดอาหาร  มีการขย้อนเอาแป้งแบเรียมจากกระเพาะอาหารขึ้นมาถึงหลอดอาหาร
              ภาพเอกซเรย์บริเวณหลอดอาหาร  อาจพบก้อนเนื้องอกและแผล  ก้อนมะเร็ง (Malignant  tumors) เช่น มะเร็งชนิดต่อม หรืออะดีโนคาร์ซิโนม่า (Adenocarcinomas) จะขัดขวางการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้ หากพบก้อนเนื้อที่ไม่ใช่มะเร็ง (Benign tumors) เช่น ติ่งเนื้อเมือกชนิดอะดีโนม่า (Adenomatous polyps) และเนื้องอก (Leiomyomas) ทำให้มีความผิดปกติของผนัง เยื่อบุแต่จะไม่ขัดขวางการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาและลำไส้ มักพบแผลใน กระเพาะอาหารและลำไส้ จากภาพเอกซเรย์จะเห็นขอบแผล
             การตรวจนี้ช่วยชี้ชัดว่าอาการที่เกิดขึ้น  เป็นอาการของตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) หรือมะเร็งตับอ่อน (Pancreatic carcinoma) ซึ่งจะเห็นการขยายของ ลำไส้เล็กส่วนต้น อย่างไรก็ตามควรตรวจเพิ่มเติมด้วยการส่องกล้องตรวจทางเดิน น้ำดีและตับอ่อน (Endoscopic retrograde cholangiopancreatography;ERCP) การตรวจอวัยวะในช่องท้องด้วยการใช้คลื่นความถี่สูง (Abdominal ultrasonography) หรือ การถ่ายภาพรังสีโดยใช้คอมพิวเตอร์ (Computed  tomography  scanning; CT scan)
             ภาพถ่ายเอกซเรย์บริเวณลำไส้เล็กจะเห็นลำไส้อักเสบ (Enteritis)  กลุ่มอาการดูดซึมอาหารพิการ (Malabsorption syndrome)
และมีเนื้องอกลำไส้อักเสบเราอาจไม่เห็นความผิดปกติตั้งแต่เริ่มแรก เห็นแต่แผลเล็ก ๆ และมีการบวมของเยื่อบุ มีอาการบวมจะเห็นได้จากลำของแป้งแบเรียม

[Total: 1 Average: 5]