แผลปริที่ปากทวาร

แผลปริที่ปากทวาร มีลักษณะเป็นแผลปริแยกในบริเวณผนังเยื่ออ่อน (เยื่อเมือก) ตรงปากทวารหนักกว่าร้อยละ 90 พบตรงแนวกึ่งกลางของผนังทวารด้านหลังเนื่องจากมีความอ่อนเปราะเพราะมีเลือดไปเลี้ยงน้อย

ภาวะนี้เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของอาการเจ็บปวดขณะถ่ายอุจจาระในคนทั่วไป และถ่ายอุจจาระเป็นเลือดในทารกพบได้ในคนทุกวัย แต่จะพบมากในวัยหนุ่มสาวโรคนี้มักหายได้เอง บางรายอาจเป็นเรื้อรัง แต่ไม่มีอันตรายร้ายแรง

สาเหตุ แผลปริที่ปากทวาร

เกิดจากได้รับบาดเจ็บซ้ำ ๆ จากก้อนอุจจาระที่แข็ง หรือการขับเคลื่อนของลำไส้ใหญ่มักพบในผู้ที่มีอาการท้องผูก หรือถ่ายอุจจาระเป็นก้อนแข็งหรือก้อนโต บางครั้งอาจพบในผู้ที่มีอาการท้องเดินเรื้อรังหรือใช้ยาระบายเป็นประจำ

นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการร่วมเพศทางทวารหนัก  หรือการใช้เครื่องมือส่องตรวจทวารหนัก แผลปริที่เกิดขึ้น ส่งแผลให้กล้ามเนื้อหูรูด (sphincter) เกิดอาการเกร็งตัว ทำให้หลอดเลือดหดตัวเลือดไปเลี้ยงบริเวณนี้ลดลงแผลหายช้า

อาการ แผลปริที่ปากทวาร

มักจะมีอาการเจ็บปวดเหมือนมีอะไรบาดบริเวณทวารหนักขณะหรือหลังถ่ายอุจจาระ  อาการมักจะเป็นอยู่นานหลายนาทีหรือเป็นชั่วโมงๆ  และจะกำเริบทุกครั้งที่ถ่ายอุจจาระประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทารก) จะมีเลือดออก มีลักษณะเป็นเลือดสดออกเป็นลายติดอยู่ที่บนส่วนผิวของอุจจาระหรือเปื้อนกระดาษชำระ ส่วนน้อยที่ออกเป็นหยดเลือด 2-3 หยด เลือดที่ออกจะมีเพียงเล็กน้อยและหยุดได้เองบางรายอาจมีอาการปวดมากจนกลัวการถ่ายอุจจาระ ทำให้มีอาการท้องผูกถ่ายยาก ซึ่งจะซ้ำเติมให้โรคกำเริบหรือเรื้อรัง บางรายมีอาการคันร่วมด้วย

ส่วนใหญ่แผลมักจะหายได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์ ถ้าเป็นนานเกิน 6 สัปดาห์ ก็ถือว่าเป็นเรื้อรัง เมื่อหายแล้ว ผู้ป่วยมีโอกาสเสี่ยงต่อการกำเริบซ้ำอีก

ป้องกัน แผลปริที่ปากทวาร

ผู้ป่วยควรระวังอย่าให้ท้องผูก ด้วยการกินอาหารที่มีกากใยสูง (ผัก ผลไม้) หรือสารเพิ่มกากใย ดื่มน้ำวันละ 10-12 แก้ว ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่าอั้นถ่ายเวลามีอาการปวดถ่ายอุจจาระ และหลีกเลี่ยงยาที่ทำให้ท้องผูก

การรักษา แผลปริที่ปากทวาร

1. ให้การดูแลรักษาดังนี้

  • ถ้ามีอาการท้องผูกให้ยาระบาย - อีแอลพี หรือสารเพิ่มกากใย)
  • นั่งชีน้ำอุ่นจัด ๆ หลังถ่ายอุจจาระทุกครั้งครั้งละ 10 -15 นาที จะช่วยให้กล้ามเนื้อทวารหนักคลายตัว ลดปวด และเพิ่มเลือดไปเลี้ยงแผลมากขึ้น ช่วยกระตุ้นให้แผลหายเร็วขึ้น
  • ทาแผลด้วยวาสลินช่วยให้หล่อลื่น หรือครีมสตีรอยด์ หรือขี้ผึ้งพร็อกโตซีดิล (Proctosedyl) หรือขี้ผึ้งเชอริพร็อกต์  (Scheriiproct) ซึ่งมีสตีรอยด์ผสมเพื่อลดการอักเสบ ทาเช้าและก่อนนอน และหลังถ่ายอุจจาระ
  • ถ้าปวดมากให้ยาแก้ปวด ควรหลีกเลี่ยงยาแก้ปวดที่เข้าสารฝิ่นหรืออนุพันธ์ของฝิ่น เพราะอาจทำให้ท้องผูก

2. ถ้าไม่ดีขึ้นใน 4 สัปดาห์ หรือพบรอยปริอยู่นอกแนวกึ่งกลางของผนังด้านหลังหรือด้านนอก (ซึ่งอาจมีสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เอดส์มะเร็ง เป็นต้น) ควรส่งโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุ

ในรายที่เป็นแผลปริปากทวารหนักแบบเรื้อรังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะให้การรักษาด้วยการฉีดสารโบทูลิน (มีชื่อการค้า เช่น Botox) เข้าไปในหูรูดชั้นใน (internal sphincter) เพื่อให้กล้ามเนื้อหูรูดคลายตัว ยานี้จะออกฤทธิ์นาน 3 เดือน ถ้าหลังรักษาด้วยวิธีนี้ 3 เดือนแล้วมีอาการกำเริบอีกก็อาจต้องผ่าตัดแก้ไข ซึ่งมักจะได้ผลดีส่วนใหญ่มักจะหายขาด ประมาณร้อยละ 10–20 อาจกลับเป็นซ้ำ


[Total: 0 Average: 0]