อาการ ไส้ติ่งอักเสบ

ลักษณะโดดเด่น คือ มีอาการปวดท้องที่มีลักษณะ ต่อเนื่องและปวดแรงขึ้นนานเกิน 6 ชั่วโมงขึ้นไป ถ้าไม่ได้รับการรักษาก็มักจะปวดอยู่หลายวัน จนผู้ป่วยทนไม่ไหวต้องนำส่งโรงพยาบาล แรกเริ่มอาจปวดแน่นตรงลิ้นปี่คล้ายโรคกระเพาะหรือปวดบิดเป็นพักๆ รอบๆ สะดือคล้ายอาการท้องเดินอาจเข้าส้มบ่อยแต่ถ่ายไม่ออก (บางรายอาจสวนด้วยยาถ่ายเอง) แต่บางรายอาจมีอาการถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย

  • ผู้ป่วยมักมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วยเสมอ ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการเบื่ออาหารเลย อาจต้องคิดถึงสาเหตุอื่น
  • ผู้ป่วยมักมีอาการอาเจียนตามหลังอาการปวดท้อง (อาจมีอาการคลื่นไส้ก่อนปวดท้อง) ซึ่งมักเป็นเพียง 1-2 ครั้ง ถ้าผู้ป่วยมีอาการอาเจียนก่อนปวดท้อง อาจไม่ใช้ไส้ติ่งอักเสบ

อาการปวดท้องมักจะเป็นอย่างต่อเนื่อง แม้จะกินยาแก้ปวดก็ไม่ทุเลา

ต่อมาอีก 4-6 ชั่วโมง อาการปวดจะย้ายมาที่ท้องน้อยข้าวขวา ลักษณะปวดเสียดตลอดเวลา และจะเจ็บมากขึ้นเมื่อมีอาการขยับเขยื้อนตัว หรือเวลาเดิน หรือไอ จาม ต้องนอนนิ่งๆ บางรายถ้าเป็นมากต้องนอนงอขาและตะแคงไปข้างหนึ่ง หรือเวลาเดินต้องเดินตัวงอจึงจะรู้สึกสบายขึ้น บางรายอาจรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวหรือมีไข้ต่ำๆ   

ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบอาจไม่มีอาการตามแบบฉบับดังกล่าว อาจมีอาการปวดที่ท้องน้อยข้างขวาโดยไม่มีอาการอื่นนำ
มาก่อนเลยก็ได้

  • ในเด็กเล็กลักษณะอาการอาจไม่แน่นอนหรือชัดเจน แบบผู้ใหญ่ เช่น อาจกดเจ็บทั่วท้อง (ไม่จำกัดอยู่ตรงเฉพาะท้องน้อยข้างขวา) อาจมีไข้และปวดท้องโดยไม่มีอาการกดเจ็บชัดเจน เป็นต้น
  • ในผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์ อาการปวดท้องอาจเป็นไม่รุนแรง และอาจมีอาการไม่ชัดเจน ทำให้ได้รับการรักษาล่าช้าจนเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
[Total: 0 Average: 0]