การรักษา โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

1.ในรายที่สงสัยเป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะ (มีอาการเจ็บหน้าอกเพียงชั่วขณะ เป็นบางครั้งบางคราว) ควรแนะนำผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาล แพทย์มักจะวินิจฉัยโดยการตรวจคลื่นหัวใจ(electrocardiography/ECG/EKG) ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ (ดูว่าเป็นเบาหวานมีภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ หรือปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ หรือไม่)
                ในกรณีที่คลื่นหัวใจบอกผลได้ไม่ชัดเจน อาจจำเป็นต้องทำการตรวจคลื่นหัวใจซ้ำ  หรือทำการตรวจพิเศษอื่นๆเพิ่มเติม เช่นการตรวจคลื่นหัวใจขณะออกกำลังกาย (exercise stress test) โดยการวิ่งบนสายพานหรือปั่นจักรยาน การถ่ายภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (echocardiography) การถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจ (coronary angiography) เป็นต้น
การรักษา  แพทย์จะให้ยาขยายหลอดเลือดหัวใจกลุ่มไนเทรต เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการเจ็บหน้าอก ได้แก่ ไนโตรกลีเซอรีน (nitroglycerine) หรือไอโซซอร์ไบด์ (isosorbide) อมใต้ลิ้นทัทีเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกยานี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการปวดศีรษะแบบตุบๆ ที่ขมับคล้ายไมแกรน เนื่องจากหลอดเลือดที่ขมับขยายตัว บางรายอาจมีอาการเป็นลมขณะลุกขึ้นยืน ดังนั้น เวลาจะอมยากลุ่มนี้  ควรนั่งลงเสียก่อนอย่าอยู่ในท่ายืน นอกจากนี้ อาจให้ยาขยายหลอดเลือดหัวใจชนิดออกฤทธิ์นาน เช่น ไอโซซอร์ไบด์ (isosorbide) มีชื่อการค้า เช่น ไอซอร์ดิล (Isordil) ไดไพริดาโมล (dipyridamole )มีชื่อการค้า  เช่น เพอร์แซนทิน (Persantin) เพนตาอีริไทรทอล (pentaerythritol) มีชื่อการค้า เช่น เพอริเทรต (Peritrate) กินวันละ 2- 40 ครั้ง ครั้งละ 1 เม็ด เพื่อป้องกันมิให้เกิดอาการ
                ผู้ป่วยทุกราย แพทย์จะให้ยาต้านเกล็ดเลือดได้แก่ แอสไพริน ขนาด 75-325 มก.วันละครั้ง เพื่อไม่ให้เกล็ดเลือดจับเป็นลิ่มเกาะที่ผนังหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น ถ้าแพ้แอสไพรินหรือมีข้อห้ามใช้ยานี้อาจให้ไทโคลพิดีน (ticlopidine) 250 มก. วันละ 2 ครั้ง หรือโคลพิเกรล (clopidogrel) 75 มก.วันละครั้ง
                บางครั้งอาจต้องให้ยาปิดกั้นบีตา เช่น โพรพราโนลอล กินวันละ 4 ครั้ง ครั้งละ 20-80 มก. ยาต้านแคลเซียม เช่น ไนเฟดีพินชนิดออกฤทธิ์นาน 30-90 มก.วันละครั้ง หรือยาต้านเอช เช่น รามิพริล (ramipril) เริ่มด้วยขนาด 2.5 มก./วัน แล้วค่อยๆ เพิ่มจนถึง 10 มก./วัน ซึ่งสามารถลดการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย และป้องกันการเสียชีวิตได้
                ถ้าผู้ป่วยมีโรคที่เป็นสาเหตุ เช่นภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ก็ต้องให้ยารักษาโรคเหล่านี้ร่วมด้วย
                ในรายที่มีอาการเจ็บหน้าอกบ่อยหรือใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์จะทำการถ่ายภาพหลอดเลือดหัวใจ ถ้าพบว่ามีการอุดกั้นรุนแรงหรือหลายแห่งก็จะทำการแก้ไข โดยการขยายหลอดเลือดด้วยบัลลูน (นิยมเรียกว่า  การทำบัลลูน) และใส่หลอดลวดตาข่าย (stent) คาไวในหลอดเลือดบริเวณที่ตีบตัน
                 ในบางครั้งแพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดเปิดทางระบาย (ทางเบี่ยง)ของหลอดเลือดหัวใจ (นิยมเรียกว่า การผ่าตัดบายพาส) วิธีมักใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง ใช้ยารักษาไม่ได้ผล หรือไม่สามารถทำบัลลูนหรือทำบัลลูนไม่ได้ผล

2.ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงหรือต่อเนื่องเป็นชั่วโมงๆ ถึงเป็นวันๆ มีภาวะหัวใจวาย  ช็อกหรือหมดสติหรือมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรงและบ่อยขึ้นกว่าเดิม หรือมีอาการเจ็บหน้าอกขณะพักหรือออกแรงเพียงเล็กน้อยควรส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลด่วน ถ้าเป็นไปได้ก่อนส่งควรให้อมไนโตรกลีเซอรีน หรือไอโซซอร์ไบด์  ฉีดยาระงับ ปวด เช่น มอร์ฟีน และให้แอสไพรินขนาด 162-325 มก.( ยาเม็ดแอสไพรินขนาดผู้ใหญ่ 1 เม็ด) เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืนพร้อมน้ำ พร้อมทั้งให้น้ำเกลือและ ออกซิเจนระหว่างทางด้วย
                แพทย์จะทำการตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจเลือด (มักพบระดับของ creatine  kinase-MB และ troponin ในเลือดสูงกว่าปกติในผู้ป่วยที่มีโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน) และตรวจพิเศษอื่นๆ ถ้าพบว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย หรือโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบไม่คงที่  (unstable angina) ก็จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล
การรักษา ในรายที่เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน แพทย์จะให้แอสไพรินเคี้ยวก่อนกลืน (ถ้ายังไม่ได้รับมาก่อน  ซึ่งจะช่วยลดขนาดของลิ่มเลือดที่อุดตัน ช่วยให้รอดชีวิตได้)ให้ยาปิดกั้นบีตา (เพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจ ลดการทำงานของหัวใจ  ป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายมากขึ้น) ให้ยาต้านเอช (เพื่อลดการพองตัวของหัวใจ รักษาภาวะหัวใจวายช่วยลดการตายลงได้) ฉีดมอร์ฟีนระงับปวด  และให้ออกซิเจน
                นอกจากนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอาจพิจารณาให้การรักษาขั้นต่อไป คือ การให้ยาละลายลิ่มเลือด (throm-bolytic agent ได้แก่ ทีพีเอ  (tPA/recombinant  tissuetype plasminogen activator)หรือสเตรปโตเนส (streptokinase) ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ (ซึ่งจะได้ผลดีเมื่อให้ภายใน 6 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ)  หรือไม่ก็อาจพิจารณาทำบัลลูนหรือผ่าตัดบายพาสแบบฉุกเฉิน
                บางกรณี แพทย์อาจให้สารกันเลือดเป็นลิ่มได้แก่  เฮพารินชนิดน้ำหนักโมเลกุลต่ำ (lor molecular weight heparin/LMWH) เสริมในรายที่ให้ที่พีเอ (tPA) หรือทำบัลลูน
                ใน 2-3 วันแรก  ผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนพักอยู่บนเตียง (ห้ามลงจากเตียง) ผู้ป่วยต้องงดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด แพทย์จะให้ยาระบายเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยแบ่งถ่ายอุจจาระเพราะท้องผูก ให้ยาจิตประสาทเพื่อควบคุมภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า โดยทั่วไปหากไม่มีภาวะแทรกซ้อนผู้ป่วยจำเป็นต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนาน 5-7 วัน เมื่ออาการทุเลาดีแล้ว ก็จะเริ่มทำกายภาพบำบัดฟื้นฟูสภาพหัวใจให้แข็งแรง และให้ยารักษาแบบเดียวกับโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะอย่างต่อเนื่องต่อไป
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบไม่คงที่  แพทย์จะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ให้ยาแบบเดียวกับโรคหัวใจขาดเลือดทั่วไป รวมทั้งให้สารกันเลือดเป็นลิ่ม (ได้แก่ เฮพาริน) และยาต้านเกล็ดเลือด (เช่น แอสไพริน ไทโคลพิดีน หรือโคลพิโดเกรล) ให้ยาปิดกั้นบีตา และให้ไนโตรกลีเซอรีนชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อลดการทำงานของหัวใจ ถ้าไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา ก็จะทำการถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจและทำบัลลูนหรือผ่าตัดบายพาส
                ผลการรักษาขึ้นกับความรุนแรงของโรค สภาพของผู้ป่วย โรคที่พบร่วมและวิธีรักษา
                ในรายที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดชั่วขณะแบบเป็นๆ หายๆ เรื้อรัง มักได้ผลการรักษาที่ดี การใช้แอส-ไพรินสามารถป้องกันไม่ให้กลายเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายและลดการตายลงได้ ส่วนการทำบัลลูนและการผ่าตัดบายพาส ช่วยให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงอยู่รอดปลอดภัยมากขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้ผลการรักษาไม่สู่ดีได้แก่ ผู้ป่วยอายุมาก เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ มีอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน (เช่น หัวใจวาย)
                ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดแบบไม่คงที่ถ้าเริ่มมีกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วน หรือมีความล่าช้าในการถ่ายภาพรังสีหลอดเลือดหัวใจและการบำบัดที่   เหมาะสม  ผลการรักษามักจะไม่ดี
                ส่วนผู้ป่วยที่เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน  ถ้าเป็นรุนแรงหรือกล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายปริมาณมาก ก็มักจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็วหรือทันทีทันใดในรายที่สามารถมีชีวิตรอดได้  2-3 วันหลังเกิดอาการก็มักจะฟื้นตัวจนเป็นปกติได้  ซึ่งบางรายอาจกำเริบซ้ำและเสียชีวิตภายใน 3-4  เดือนถึง 1 ปีต่อมา  ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีอาการต่อเนื่อง เช่น เจ็บหน้าอกเป็นครั้งคราว หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือภาวะหัวใจวาย มักพบอัตราตายและการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน หรือมีภาวะหัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัวร่วมด้วย 

ส่วนในรายที่ได้รับการทำบัลลูนหรือผ่าตัดบายพาส  มักจะฟื้นสภาพได้ดี   และมีชีวิตได้ยืนยาวขึ้นแต่บางรายก็อาจมีหลอดเลือดหัวใจตีบตันช้ำ   ซึ่งอาจต้องทำบัลลูนหรือผ่าตัดบายพาสซ้ำ

[Total: 0 Average: 0]