การรักษา หลอดลมพอง

1.ในรายที่ไอมีเสมหะเหลืองหรือเขียวโดยสุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี (ไม่มีอาการหอบเหนื่อย เจ็บหน้าอก และน้ำหนักลด) ให้การดูแลรักษาดังนี้

  • ให้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน อีริโทรไมซิน ร็อกซิโทรไมซิน หรือโคไตรม็อกซาโรล นาน 7-10 วัน
  • ให้การรักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาขับเสมหะ ถ้ามีเสียงวี้ดให้ยากระตุ้นบีตา 2 สูดหรือกิน เป็นต้น
  • แนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ (วันละ 10-15 แก้ว)ควรงดบุหรี่ หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่ควันบุหรี่ ฝุ่น ควันมลพิษในอากาศ
  • ในรายที่มีเสมหะออกมาก หมั่นระบายออกในท่านอนระบายเสมหะ (postural drainage)โดยการนอนคว่ำพาดกับขอบเตียงและวางศีรษะบนพื้น โดยใช้มือหรือหมอนรอง ทำวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 5-10 นาที 

2. ถ้าไม่ดีขึ้น หรือไออกเป็นเลือด หายใจหอบเท้าบวม หรือกำเริบบ่อย ควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องทำการวินิจฉัยโดยการเอกชเรย์ปอด  ตรวจเสมหะ ตรวจเลือด บางครั้งอาจต้องใช้กล้องส่องตรวจหลอดลม (bronchoscopy) เพื่อค้นหาสาเหตุ (เช่น สิ่งแปลกปลอม เนื้องอก) ทำการทดสอบสมรรถภาพของปอด เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค รวมทั้งการตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ ที่สงสัย เช่น เอดส์ วัณโรค เชื้อรา

การรักษา ให้ยาปฏิชีวนะตามชนิดของเชื้อที่เป็นสาเหตุ ให้การรักษาตามอาการ (เช่น ให้น้ำเกลือ ให้เลือดออกซิเจน ยาขยายหลอดลม) และแก้ไขโรคที่เป็นสาเหตุ และภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ในรายที่ดื้อต่อยา หรือมีเลือดออกมาก อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

ผลการรักษา ในรายที่เป็นระยะแรก ไม่รุนแรงการได้รับการรักษาอย่างถูกต้องแต่เนิ่น ๆ มักจะได้ผลดีอย่างไรก็ตาม ผลการรักษายังขึ้นกับความรุนแรงของโรคสาเหตุ และภาวะแทรกซ้อน

[Total: 0 Average: 0]