หัดดอกกุหลาบ

หัดดอกกุหลาบ คือ ไข้ร่วมกับผื่นขึ้นที่พบในเด็กเล็กในช่วงอายุ 3 เดือนถึง 3 ปี พบบ่อยที่สุดในช่วงอายุ 6 -12 เดือน และพบในน้อยมากในเด็กอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป

โบราณเรียกผื่นที่ขึ้นร่วมกับไข้ว่า ส่าไข้ เนื่องจากเด็กเล็กที่เป็นส่าไข้มักมีสาเหตุจากไข้ผื่นกุหลาบในทารก ดังนั้น เมื่อพูดถึงส่าไข้ในเด็กจึงมักจะหมายถึงโรคนี้

สาเหตุ หัดดอกกุหลาบ

เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า human herpesvirust type 6 (HHV6)  เป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งก็อาจเกิดจาก human herpesvirus type 7  (HHV7) เชื้อมีอยู่ในเสมหะและน้ำลายของผู้ป่วย  ติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือหรือจามรด หรือโดยการสัมผัสมือ  สิ่งของ (เช่น แก้วน้ำ) หรือสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อแบบเดียวกับไข้หวัด ระยะฟักตัว   5 – 15  วัน

อาการ หัดดอกกุหลาบ

มีไข้สูงเกิดขึ้นฉับพลัน อาจมีลักษณะตัวร้อนตลอดเวลา แต่เล็กส่วนใหญ่จะยังร่าเริงและดื่มนม  ดื่มน้ำ  กินอาหารได้ดี บางรายอาจมีอาการหงุดหงิดงอแงหรือเบื่ออาหารเล็กน้อย ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย  แต่บางรายอาจมีอาการเจ็บคอ น้ำมูกใส ไอ หรือท้องเดินเล็กน้อย บางรายขณะไข้ขึ้นสูงอาจมีอาการชักจากไข้ 

อาการไข้จะมีอยู่ประมาณ  3 – 5 วัน แล้วอยู่ ๆ ไข้ก็ลดลงเป็นปกติ ในช่วงที่ไข้ลดหรือหลังจากไข้ลดภายในไม่กี่ชั่วโมงจะมีผื่นเล็ก ๆ สีแดงคล้ายกุหลาบขึ้น โดยเริ่มขึ้นที่หน้าอก หลัง ท้อง  แล้วกระจายไปที่คอและแขน  อาจขึ้นไปที่หน้าหรือลงไปที่ขาหรือไม่ก็ได้  ผื่นจะไม่คัน และจะเป็นอยู่นานไม่กี่ชั่วโมงถึง  2 วัน  แล้วจางหายไปอย่างรวดเร็ว  ขณะผื่นขึ้นเด็กจะกลับมาแข็งแรงเป็นปกติทุกอย่าง

บางรายอาจมีไข้สูงเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีผื่นขึ้นหรืออาจมีผื่นจาง ๆ ไม่ชัดเจน  ทำให้วินิจฉัยไม่ได้แน่ชัด 

สิ่งตรวจพบ หัดดอกกุหลาบ

ในระยะก่อนผื่นขึ้น จะพบไข้ 39.5 – 40.5 ซ. อาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณหลังหู ท้ายทอย หนังตาบวมเล็กน้อย เยื่อบุตาแดง

ในระยะไข้ลดแล้ว  จะพบผื่นราบสีแดงขนาด 2 - 5 มม. ที่ลำตัวและแขน (ส่วนที่หน้าและขามักเห็นไม่ชัด) ผื่นบางจุดอาจมีลักษณะนูนเล็กน้อย หรืออาจมีวงสีแดงจาง ๆ อยู่รอบ ๆ ผื่นแดง

ภาวะแทรกซ้อน หัดดอกกุหลาบ

อาจทำให้เกิดอาการชักจากไข้นานประมาณ 2 - 3 นาที พบได้ประมาณร้อยละ 6 - 15 ของผู้ป่วย  และนับเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของทารกที่มีอาการชักจากไข้

อาจมีสมองอักเสบ  เยื่อหุ้มสมองอักเสบ  ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ  หรือตับอักเสบแทรกซ้อน ซึ่งพบได้น้อยมาก

เด็กที่มีภูมิคุ้มกันต่ำอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ปอดอักเสบ ตับอักเสบ ไขกระดูกไม่ทำงาน  เป็นต้น

การป้องกัน หัดดอกกุหลาบ

  1. โรคนี้พบบ่อยในทารกและเด็กเล็ก ถ้าพบเด็กวัยนี้มีไข้สูงหรือตัวร้อนตลอดเวลา โดยท่าทางค่อนข้างสบายดี ควรนึกถึงโรคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเด็กกลับเป็นปกติดีหลังไข้ลงและมีผื่นขึ้นแล้ว
  2. พ่อแม่หรือผู้ปกครองมักพาเด็กไปพบแพทย์เมื่อเด็กไข้ลงและมีผื่นขึ้นแล้ว เพราะกังวลว่าจะเป็นหัด โรคนี้แยกจากหัด คือโรคนี้หลังผื่นขึ้นเด็กจะหายตัวร้อนและสบายดี แต่โรคหัดนั้นขณะผื่นขึ้นจะมีไข้สูงต่อไปอีกหลายวัน นอกจากนี้ผื่นของโรคนี้จะขึ้นที่ลำตัวก่อน และเป็นผื่นเล็ก ๆอยู่แยก ๆ กัน
    ในขณะที่หัดจะขึ้นที่ใบหน้าก่อนแล้วค่อยกระจายลงล่าง และผื่นมักแผ่รวมกันเป็นแผ่นใหญ่
  3. โรคนี้ส่วนใหญ่มักหายได้เองภายใน 3 – 5 วัน หรือไม่เกิน 1 สัปดาห์ และจัดว่าไม่มีอันตรายแต่อย่างใด นอกจากอาจทำให้เกิดอาการชักจากไข้ หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในเด็กที่ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ

การรักษา หัดดอกกุหลาบ

  1. ระยะมีไข้สูง ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวและให้พาราเซตามอล ห้ามให้แอสไพริน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์
    ซินโดรม ถ้ามีอาการชักร่วมด้วย ให้ดูแลแบบชักจากไข้
  2. ระยะผื่นขึ้น ซึ่งไข้ลงแล้วและเด็กท่าทางสบายดี ก็ไม่ต้องให้ยาอะไรเพียงแต่ อธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจและหายกังวล
  3. การวินิจฉัยจะดูจากลักษณะอาการแสดงเป็นสำคัญ กรณีที่จำเป็น จะยืนยันด้วยการทดสอบทางน้ำเหลือง เพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานต่อ
    ไวรัสก่อโรค

[Total: 1 Average: 5]