ไอกรน

 ไอกรน (ไอ 3 เดือน ไอร้อยวัน ก็เรียก) เป็นโรคที่พบบ่อยในเด็กอายุ 2-6 ปี พบมากในฤดูฝน บางครั้งอาจพบระบาดตามหมู่บ้านหรือโรงเรียน

ในปัจจุบันพบได้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากเด็ก ๆ ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้อย่างทั่วถึง

สาเหตุ ไอกรน

เกิดจากเชื้อไอกรน ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย มีชื่อว่า บอร์เดเทลลาเพอร์ทัสซิส (Bordetella pertussis) เชื้อนี้มีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อเข้าทางเดินหายใจโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองของน้ำลายหรือเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือออกมาแขวนลอย อยู่ในอากาศ หรือโดยผ่านมือที่สัมผัสถูกสิ่งที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย

ระยะฟักตัว 6-20 วัน (ส่วนใหญ่ 7-10 วัน)

อาการ ไอกรน

แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

  1. ระยะเป็นหวัด  มีไข้ต่ำ ๆ น้ำมูกไหล จาม และไอคล้ายไข้หวัด อาการไอจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเข้าสู่ระยะที่สอง ระยะนี้จะนานประมาณ  7- 14 วัน
  2. ระยะไอรุนแรง  มีอาการไอติดต่อกันครั้งละนาน ๆ จนตัวงอและหายใจแทบไม่ทัน เมื่อหยุดไอจะหายใจเข้ายาว ๆ เสียงดังวู้บ (ยกเว้นทารกต่ำกว่า 6 เดือน อาจไม่มีอาการนี้) และมักจะอาเจียนมีเสมหะออกมาด้วยเสมอ ในรายที่ไอรุนแรง หน้าจะเขียว ตาโปนแดง หลอดเลือดที่คอโป่ง บางรายอาจไอจนหลอดเลือดฝอยที่ได้เยื่อบุตาแตก เห็นเป็นปื้นแดงที่ตาขาว และอาจพบรอย บวม ซ้ำ หรือห้อเลือดที่หนังตาด้วย ในเด็กเล็กอาจมีมีอาการซักเกร็ง หยุดหายใจ ตัวเขียว เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง อาการไอเป็นชุดดังกล่าวมักจะเป็นมากตอนกลางคืน หรือถูกอากาศเย็น ดื่มน้ำเย็นจัด ถูกควันบุหรี่หรือถูกฝุ่น ระยะนี้จะนานประมาณ 1 เดือน แต่จะเป็นมากในช่วง 2 สัปดาห์แรก ผู้ป่วยมักพบแพทย์ในระยะนี้ด้วยอาการไอดังกล่าว ส่วนใหญ่จะไม่มีไข้ ยกเว้นรายที่มีโรคปอดอักเสบแทรกซ้อน
  3. ระยะพักฟื้น อาการไอจะค่อย ๆ ลดน้อยลงกินข้าวได้มากขึ้น น้ำหนักขึ้น แต่ถ้ามีโรคแทรกซ้อน เช่น หลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบ  ก็อาจไอติดต่อกันนานถึง 3 เดือน จึงเรียกว่า ไอ 3 เดือน หรือไอร้อยวัน

การป้องกัน ไอกรน

  1. ในการวินิจฉัยโรคไอกรน มักดูจากลักษณะอาการของโรคเป็นหลัก ในกรณีจำเป็นต้องวินิจฉัยให้แน่ชัด สามารถกระทำโดยการกรวดน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทาน  หรือตรวจหาเชื้อจากบริเวณคอหอย
  2. โรคนี้เมื่อมีอาการเกิดขึ้นแล้ว ก็มักจะไอเรื้อรังเป็นเดือน และจะค่อย ๆ หายไปเอง บางรายอาจเป็น 3 เดือน ถ้ามารักษาตั้งแต่แรกอาการอาจไม่มาก  และไอไม่นานจนถึง 3 เดือน ถ้าพบเป็นในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาจมีโรคแทรกซ้อนที่ร้ายแรงได้
  3. ควรแยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติอย่างน้อย 5 วัน นับจากวันที่เริ่มให้ยาปฏิชีวนะ
  4. การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคนี้ ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับไข้หวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกัน ควรหลีกเลี่ยงการอยู่บ้านเดียวกับผู้ป่วย
  5. โรคนี้ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนรวมป้องกันคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (DTP) ตั้งแต่อายุ 2 เดือน
  6.  สำหรับผู้สัมผัสโรคอย่างใกล้ชิด ถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มาก่อน ควรฉีดวัคซีนป้องกันคอตีบบาดทะยัก ไอกรนตามปกติ   ถ้าเคยฉีดมาแล้ว 3 ครั้ง ควรฉีดกระตุ้นอีกครั้ง (ยกเว้นฉีดเข็มสุดท้ายมาภายใน 6 เดือน) ถ้าเคยฉีดมาแล้วอย่างน้อย 4 ครั้ง ควรฉีดกระตุ้นอีกครั้ง (ยกเว้นฉีดเข็มสุดท้ายมาภายใน 3 ปี หรืออายุเกิน 6 ปี) นอกจากนี้ควรให้ยาอีริโทรซิน (ขนาดเดียวกับที่ใช้รักษา) กินป้องกันนาน 14 วัน

การรักษา ไอกรน

1.ในรายที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ให้เด็กอยู่ในที่ที่อาการปลอดโปร่ง ให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ เพื่อให้เสมหะใสและขับออกง่าย

                 ควรให้อาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง เพื่อลดอาการอาเจียน

                  ถ้าอาเจียนมาก ควรให้อาหารทีละน้อย และให้ทดแทนหลังอาเจียน หรือให้น้ำเกลือผสมเอง (น้ำสุก1 ขวดแม่โขงกลม + น้ำตาลทราย  2 ช้อนโต๊ะ + เกลือแกง 1/2 ช้อนชา)

                   การให้ยาแก้ไอเพื่อระงับอาการไอ มักจะไม่ได้ผล(สำหรับเด็กอายุมากกว่า 1 ปี อาจใช้น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำผึ้ง 4 ช้อนโต๊ะ  จิบบ่อย ๆ) ควรให้ยาฟีโนบาร์บิทาล วันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอนเพื่อช่วยให้เด็กได้นอนหลับพักผ่อน

ยาปฏิชีวนะ  ควรให้ในระยะที่เริ่มมีอาการไม่เกิน 1 สัปดาห์ หรือในเด็กที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่เริ่มป่วยเป็นโรคนี้ แต่ยังไม่เกิดอาการ จะช่วยลดความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนลงได้ แต่ไม่ช่วยลดระยะของโรคให้สั้นลง ยาที่ใช้คือ อีริโทรไมซิน 

                    ขนาด 50 มก./ กก./วัน แบ่งให้วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอนนาน 14 วัน (ยาปฏิชีวนะอื่นที่ใช้ได้ผล เช่นโคไตรม็อกซาโชลไรแฟมพิซิน อะซิโทรไมชิน คลาริโทรไมซินเป็นต้น)

                     แต่ถ้ามีอาการแสดงเกิน 1-2 สัปดาห์ การให้ยาปฏิชีวนะมักไม่ได้ผล ยกเว้นในรายที่มีปอดอักเสบหรือหลอดลมอักเสบแทรกซ้อน

                     ส่วนอาการเลือดออกที่ตาขาว ไม่ต้องทำอะไรจะค่อย ๆ จางหายไปได้เอง

                    2. ในรายที่มีปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือหูอักเสบให้เพิ่มยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน  หรืออีริโทรไมซิน และให้การรักษาแบบเดียวกับปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ หูอักเสบ 

                    3. ในทารกที่มีอาการชักเกร็ง ตัวเขียว หยุดหายใจให้ทำการผายปอดโดยการเป่าปาก และใช้ลูกยางดูดเอาเสมหะออก แล้วรีบส่งโรงพยาบาล

                    4. ถ้ามีอาการหอบหรือขาดน้ำรุนแรง ควรส่งโรงพยาบาลด่วน

                    5. ถ้าพบในเด็กทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือน ควรรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อการดูแลอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะปลอดภัย

                    6.ถ้าไอเรื้อรังร่วมกับน้ำหนักลด ควรแนะนำให้ไปโรงพยาบาล อาจมีวัณโรคกำเริบแทรกซ้อน

[Total: 0 Average: 0]