การใส่สายระบายน้ำดีผ่านทางผิวหนัง (Percutaneous Transhepatic Biliary Drainage: PTBD)

การใส่สายระบายน้ำดีผ่านทางผิวหนัง (Percutaneous Transhepatic Biliary Drainage: PTBD) คือ การรักษาภาวะน้ำดีอุดตันที่เกิดจากสาเหตุต่างๆเช่น นิ่วในทางเดินน้ำดี, มะเร็งท่อน้ำดี หรือ การตีบของท่อทางเดินน้ำดีจากการอักเสบ ทำให้น้ำดีไม่สามารถระบายออกได้ตามปกติ การใส่สายระบายน้ำดีจะทำการระบายน้ำดีผ่านสายยางขนาดเล็กที่ผิวหนังที่ บริเวณหน้าท้องผู้ป่วยผ่านเนื้อตับไปยังท่อน้ำดีในตับ น้ำดีที่ระบายออกจะออกมาเก็บในถุงที่อยู่นอกตัวผู้ป่วย จนกว่าจะสามารถรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดอุดตันได้

วิธี การใส่สายระบายน้ำดีผ่านทางผิวหนัง (Percutaneous Transhepatic Biliary Drainage: PTBD)

จะทำการระบายน้ำดีผ่านสายยางขนาดเล็กประมาณ 3.4 มิลลิเมตรที่ผิวหนังบริเวณหน้าท้องผู้ป่วย ผ่านเนื้อตับ ไปยังท่อน้ำดีในตับ เหนือจุดอุดตันและคาสายไว้ลักษณะการระบายจะเป็น External drainage น้ำดีที่ระบายออกมาจะออกมาเก็บในถุงที่อยู่นอกตัวผู้ป่วยจนกว่าจะสามารถรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดการอุดตันได้

ข้อดีและข้อเสีย การใส่สายระบายน้ำดีผ่านทางผิวหนัง (Percutaneous Transhepatic Biliary Drainage: PTBD)

ข้อดี คือเป็นวิธีที่ทำได้รวดเร็ว และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการทำหัตถการได้น้อย ไม่เสี่ยงต่อการผ่าตัด

ข้อเสีย คือผู้ป่วยจะสูญเสียสารน้ำ เกลือแร่ ออกทางน้ำดีที่ระบายไปในแต่ละวัน มีโอกาสเกิดการติดเชื้อได้ง่าย ถ้าดูแลไม่ดี และอาจเกิดการเลื่อน หลุด อุดตันได้

การดูแลหลัง การใส่สายระบายน้ำดีผ่านทางผิวหนัง (Percutaneous Transhepatic Biliary Drainage: PTBD)

  1. ดูแลการจัดวางสายระบายน้ำดี เพื่อให้เกิดการไหลของ bile content อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องให้ถุงระบายน้ำดีอยู่ต่ำกว่าตัวเสมอ โดยเฉพาะเวลานอนถุงต้องอยู่ระดับต่ำกว่าแผลเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำดีไหลย้อนกลับเข้าร่างกาย และระวังไม่ให้สายหัก พับ งอ เพราะอาจจะทำให้เกิดการอุดตันและการระบายไม่ดี
  2. สังเกตภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น bleeding, shock, มีไข้สูง, หนาวสั่น, ปวดท้องรุนแรง, มีน้ำดีซึมมากที่แผล
  3. ทำแผลบริเวณตำแหน่งท่อ PTBD ทุก 1-2 วัน หรือทุกครั้งเมื่อกอซเปื้อนหรือมีน้ำดีซึมออกมา ให้ใช้กอซพับและหนุนท่อไว้แทนการใช้วายกอซ เนื่องจากมีโอกาสติดและดึงท่อเลื่อนหลุดได้ระหว่างทำแผล และปิด พลาสเตอร์กันน้ำไว้
  4. ขณะทำกิจวัตรประจำวัน ควรมีถุงย่ามหรือถุงผ้าไว้ใส่ถุงระบายน้ำดี ซึ่งสามารถเย็บเองได้ง่าย ๆ โดยให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเอว เพื่อป้องกันการดึงรั้ง เลื่อนหลุด การระบายไม่ดี
  5. ให้บันทึกปริมาณน้ำดีที่ออกจากสายระบายน้ำดี ในช่วงเวลาเดียวกันของทุกวัน เช่น 8 โมงเช้าของทุกวันเพื่อไว้เป็นข้อมูลประกอบการรักษา โดยทั่วไปน้ำดีจะออกประมาณ 400-800 มล. ต่อวัน
  6. การเทน้ำดีออกจากถุงลงโถส้วม ต้องใช้เทคนิคปราศจากเชื้อ โดยใช้แอลกอฮอล์เช็ดรอบบริเวณปลายถุงรองรับน้ำดี ทั้งก่อนและหลังเทน้ำดี และใช้กอซสะอาดหุ้มปิดปลายถุงรองรับไว้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  7. ต้องเปลี่ยนสายยางเหลืองข้อต่อ ระหว่างสายระบายน้ำดีกับถุงรองรับน้ำดี ทุก 1 เดือนและเปลี่ยนถุงรองรับน้ำดีทุก 2 สัปดาห์ เพื่อลดการหมักหมมของคราบสกปรก และป้องกันการติดเชื้อ เปลี่ยนก่อนเวลาได้หากถุงฉีกขาด หรือสกปรกมาก
  8. ผู้ป่วยควรได้รับการเปลี่ยนสายระบายน้ำดี หากใส่ไว้นานกว่า 3 เดือน
  9. ควรตรวจสอบไหม ด้ายเย็บ และสายระบายน้ำดี ว่ามีการเลื่อนหลุดหรือไม่ทุกครั้งขณะที่ทำแผล
  10. ควรอาบน้ำทุกวันเพื่อสุขอนามัยที่ดี ก่อนอาบน้ำควรป้องกันไม่ให้แผลโดนน้ำ หรือจะอาบน้ำก่อนทำแผลก็ได้
[Total: 0 Average: 0]