นิ่วกระเพาะปัสสาวะ

นิ่วกระเพาะปัสสาวะ (นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ) คือ โรคที่พบได้บ่อยทางภาคอีสารและภาคเหนือ พบได้ในคนทุกวัย แต่จะพบมากในเด็กผู้ชายอายุต่ำกว่า 10 ปีในหมู่ชาวชนบทที่ยากจน ทั้งนี้มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการบริโภคอาหารของประชาชนในท้องถิ่นเหล่านี้ (เช่น การป้อนข้าวเหนียวหรือข้าวย้ำแก่ทารกเล็ก ๆ โดยได้รับอาหารโปรตีนจำนวนน้อย)

สาเหตุ นิ่วกระเพาะปัสสาวะ

จากการศึกษาของศูนย์วิจัย คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่านิ่วกระเพาะปัสสาวะที่พบในภาคอีสานและภาคเหนือมีสาเหตุจากการขาดสารฟอสเฟต ซึ่งมีมากในอาหารประเภทโปรตีน ร่วมกับการกินผักที่มีสารออกซาเลต (oxalate) สูง และดื่มน้ำน้อยทำให้มีการสะสมของผลึกของสารแคลเซียมออกซาเลตในกระเพาะปัสสาวะ จนกลายเป็นก้อนนิ่วในที่สุด

นอกจากสาเหตุดังกล่าวแล้ว ในคนทั่วไปยังอาจพบนิ่วกระเพาะปัสสาวะร่วมกับภาวะอุดกั้นของท่อปัสสาวะต่อมลูกหมากโต กระเพาะปัสสาวะหย่อน (cystocele) กระเพาะปัสสาวะไม่ทำงานเนื่องจากเป็นอัมพาต (neuro genic bladder) เป็นต้น ก้อนนิ่วอาจมีขนาดแตกต่างกันไปตั้งแต่ขนาดเท่าเม็ดทรายจนถึงส้มโอ

อาการ นิ่วกระเพาะปัสสาวะ

เนื่องจากก้อนนิ่วลงไปอุดกั้นท่อปัสสาวะทำให้ผู้ป่วยมีอาการขัดเบา ปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปวดเบ่งคล้ายว่ายังถ่ายไม่สุด ปัสสาวะดุดและออกเป็นหยด

บางรายอาจปัสสาวะออกเป็นเลือดหรือสีน้ำล้างเนื้อหรืออาจถ่ายเป็นก้อนนิ่ว หรือ เม็ดกรวดทรายเล็ก ๆ หรือ ปัสสาวะขุ่นขาวเหมือนมีผงแป้งปน

การป้องกัน นิ่วกระเพาะปัสสาวะ

อาการขัดเบาหรือถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด นอกจาก นิ่วแล้วยังอาจมีสาเหตุอื่น ๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ต่อมลูกหมากโต เนื้องอกหรือมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น

ควรแนะนำให้ประชาชนในท้องถิ่นที่เป็นนิ่วกระเพาะปัสสาวะรับประทานอาหารประเภทโปรตีน (เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่วต่าง ๆ ซึ่งมีปริมาณของสารฟอสเฟตสูง และลดการกินผักที่มีสารออกซาเลต (เช่น ผักแพว ผักโขม ชะพลู ใบมันสำปะหลัง หน่อไม้ ผักสะเม็ด ผักกะโดน เป็นต้น) เพื่อป้องกันมิให้เกิดนิ่วกระเพาะปัสสาวะ

การรักษา นิ่วกระเพาะปัสสาวะ

หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องเอกซเรย์ตรวจอัลตราซาวนด์ และถ้าจำเป็นอาจต้องใช้กล่องส่อง ตรวจกระเพาะปัสสาวะ (cystoscopy) การรักษา อาจใช้เครื่องมือคีบเอานิ่วออก (สำหรับ นิ่วขนาดเล็ก) หรือผ่าตัด (สำหรับนิ่วก้อนใหญ่) เมื่อหายแล้ว  ส่วนใหญ่มักจะไม่เป็นซ้ำใหม่

[Total: 0 Average: 0]