มะเร็งเม็ดเลือดขาว

มะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลิวคีเมียก็เรียก) หมายถึง มะเร็งที่เกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาววัยอ่อนในไขกระดูกมีการเจริญแบ่งตัวเร็วกว่าปกติ   และกลายเป็นเซลล์ผิดปกติ (ไม่สามารถเจริญเป็นเม็ดเลือดขาวตัวแก่ที่ทำหน้าที่แบบ เม็ดเลือดขาวปกติ และมีการแก่ตัวและเซลล์ตายช้ากว่าปกติ)  สามารถแพร่กระจายแทรกซึมไปอยู่ตามอวัยวะ ต่าง ๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ตับม้าม กระดูก สมอง อัณฑะผิวหนัง รวมทั้งแทรกซึมในกระดูก ทำลายกระบวนการสร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดใน ไขกระดูก ก่อให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ จนเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้

                มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีอยู่หลายชนิด โดยหลัก ๆแบ่งเป็น ชนิดเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากเซลล์วัยอ่อน (blastcell) มีอาการเกิดขึ้นฉับพลัน ลุกลามรวดเร็วและรุนแรง และชนิดเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เริ่มเป็น ตัวแก่ ลุกลามช้า และมีอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป

                หากแบ่งตามชนิดของเซลล์ต้นกำเนิดของโรค สามารถแบ่งเป็นเซลล์ที่จะเจริญเป็นเม็ดเลือดขาวชนิด ลิมโฟโซต์ (lymphocyte) และเซลล์ที่เจริญเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดอื่นรวมทั้งเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือด (myeloid cell/myelocyte)

                มะเร็งเม็ดเลือดขาวจึงแบ่งเป็น 4 ชนิดใหญ่ ๆ ได้แก่ acute lymphocytic (lymphoblastic) leukemia (ALL)‚ acute  myelogenous( myeloblastic) leukemia (AML)‚ chronic lymphocytic leukemia (CLL) และ chronic  myelocytic  (myelogenous) leukemia (CML)

                ทุกชนิดพบได้ในคนทุกวัย แต่อาจพบมากในเด็กหรือผู้ใหญ่แตกต่างกันดังนี้

  • ชนิด ALL พบมากในเด็กอายุ 2-5 ปี (พบได้ ถึงร้อยละ 80 ของมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก) อาจพบในผู้ใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุมากกว่า 65  ปี
  • ชนิด AML เป็นมะเร็งเม็ดเลือดที่พบได้มากที่สุด พบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก
  • ชนิด CLL พบบ่อยในผู้ใหญ่ และมีความซุกของโรคมากขึ้นตามอายุ  พบมากในกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี
  • ชนิด CML เป็นชนิดที่พบได้น้อย พบบ่อยในผู้ใหญ่อายุ 40 -60 ปี พบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี

สาเหตุ มะเร็งเม็ดเลือดขาว

ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด เชื่อว่ามีปัจจัยทางกรรมพันธุ์ที่ผิดปกติร่วมกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม

                ผู้ป่วยส่วนหนึ่งพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เช่น

  • การมีกรรมพันธุ์ที่ผิดปกติ เช่น พบว่าผู้ที่เป็นกลุ่มอาการดาวน์ (Doen’s syndrome) มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด ALL และ AML มากกว่าคนปกติ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด CML พบว่ามีโครโมโซมผิดปกติ (เรียกว่า  Philadelphia  chromosome) หรือผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด ALL ก็อาจเป็นโรคนี้ร่วมด้วย 
  • ผู้ที่มีประวัติได้รับรังสีบำบัดหรือเคมีบำบัดมะเร็งจากระเบิดอื่นมาก่อน  บางรายก็อาจพบว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเวลาหลายปีต่อมา
  • ผู้ที่มีประวัติสัมผัสรังสีนิวเคลียร์ (เช่น ผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูหรืออุบัติเหตุจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์) หรือสารเบนซิน ก็พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้สูงกว่าคนทั่วไป
  • การติดเชื้อไวรัสเอชทีแอลวี-1 (HTLV-1/human T-cell  lymphotrophic virus type) พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเลือดขาวชนิด adult T-cell  leukemia และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

อาการ มะเร็งเม็ดเลือดขาว

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (ALL และ AML) มักมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันด้วยอาการไข้ ซีด หรือมีจ้ำเขียวพรายย้ำขึ้นตามตัวหรือมีเลือดออกตามที่ต่าง ๆ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ประจำเดือนออกมาผิดปกติ ถ่ายเป็นเลือด

                บางรายอาจมีอาการไข้ ปวดเมื่อย คล้ายไข้หวัดใหญ่ อ่อนเพลีย น้ำหนักลด อาจเป็นไข้เรื้อรังเป็นแรมเดือน หรือาการหนาวสั่น มีแผลเปื่อยในปากทอนซิลอักเสบ หรือปอดอักเสบเนื่องจากภูมิคุ้มกันต่ำ

                อาจมาพบแพทย์ด้วยอาการมีจ้ำเขียวตามตัว หรือมีเลือดกำเดาไหลซึ่งหยุดยากเนื่องจากเกล็ดเลือดต่ำ

                ในระยะต่อมามักมีอาการซีด อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย อาจมีอาการทางสมอง (เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อาเจียน ซัก ตามัว) อาการแน่นท้อง ปวดท้อง เนื่องจาก ตับโต ม้ามโต

                บางรายอาจมีอาการเฉพาะที่ เช่น ปวดกระดูก และข้อตาโปน เหงือกบวม เป็นต้น

มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง  (CLLและ CML) ในระยะแรก ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ ซึ่งอาจเป็นอยู่นานเป็นแรมปี และมักจะตรวจเช็กเลือดพบว่าเป็นโรคนี้โดยบังเอิญในรายที่มีอาการ (ซึ่งมักเป็นโรคระยะหลัง ๆ แล้ว) จะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
มีไข้ เหงื่อออกตอนกลางคืนรู้สึกแน่นท้องเนื่องจากม้ามโต

                ต่อมาจะมีอาการซีด  มีจ้ำเขียวตามตัวหรือเลือดออกง่าย ปวดกระดูกและข้อแบบเดียวกับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน

                ในระยะท้าย มักมีโรคติดเชื้อง่าย อาจเกิดจาก ไวรัส (ที่พบบ่อยคือ งูสวัด) แบคทีเรีย (เช่นสูโดโมแนส เคลบซิลลา) หรือเชื้อรา (เช่น แคนดิดา แอสเปอร์จิลลัส) ก็ได้

การป้องกัน มะเร็งเม็ดเลือดขาว

1.โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองไม่ใช่โรคติดต่อ หรือเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ ผู้ที่อยู่ใกล้ ชิดหรือเป็นญาติพี่น้องกับผู้ป่วยไม่ต้องกลัวว่าจะติดโรคจากผู้ป่วย
2.ในปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดและการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิดช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้น หรือบางรายอาจหายขาดได้

            ดังนั้นผู้ป่วยควรมีกำลังใจเข้ารับการรักษาอย่างจริงจัง และอดทนต่อผลข้างเคียง (เช่น ผมร่วง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร) ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งมักเป็นเพียงชั่วคราว

การรักษา มะเร็งเม็ดเลือดขาว

หากสงสัย (เช่น มีไข้เรื้อรัง ซีด มีจุดแดงจ้ำเขียวตามตัว หรือเลือดกำเดาไหลซึ่งหยุดยาก) ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

แพทย์จะวินิจฉัยโดยการตรวจเลือดพบเม็ดเลือด  ขาวมีจำนวนมากอาจเป็นหลายหมื่นถึงหลายแสนตัวต่อเลือด1 ลบ.มม.(ปกติจะมี  5‚000 -10‚000 ตัว/มม.) และพบเป็นเซลล์วัยอ่อนมากกว่าปกติ นอกจากนี้ อาจพบจำนวนเม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือดต่ำกว่าปกติ

แพทย์มักทำการตรวจไขกระดูก ซึ่งพบเซลล์วัยอ่อนจำนวนมาก

ในรายที่เป็นชนิดเฉียบพลัน  แพทย์อาจทำการตรวจวิเคราะห์ทางกรรมพันธุ์ (cytogenetic  analysis) ซึ่งสามารถนำไปพยากรณ์โรค นอกจากนี้จะประเมินระยะของโรคด้วยการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม

การรักษา นอกจากให้การรักษาตามอาการและแก้ไขภาวะแทรกซ้อน (เช่น ให้เลือดให้ยาต้านจุลชีพรักษาโรคติดเชื้อ) แล้วการรักษาที่จำเป็นและมีผลต่อการควบคุมโรค ก็คือ การให้ยารักษามะเร็งหรือเคมีบำบัด (chemotherapy) สำหรับผู้ผู้มะเร็งเม็ดเลือดขาวทุกรายในปัจจุบันมียาเคมีบำบัดอยู่หลายกลุ่ม ซึ่งแพทย์ จะเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับชนิดและความรุนแรงของโรค โดยมากจะใช้ร่วมกันอย่างน้อย 2 กลุ่มขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีการใช้ยาอื่นร่วมกับเคมีบำบัด เช่น สารภูมิต้านทานกลุ่ม monoclonal antibody ยากระตุ้น การสร้างเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดง เพร็ดนิโซโลนสำหรับผู้ป่วยชนิด ALL สารอินเตอร์เฟอรอน (interferon) สำหรับผู้ป่วยชนิด CLL

ในรายที่เป็นชนิด CML และตรวจพบ Philadel-phia chromosome แพทย์จะให้ยายับยั้งเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส (tyrosine kinase inhibitor) เช่น ยาอิมาทินิบ (imatinib) ซึ่งช่วยในยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว ทำให้การรักษาได้ผลดีมากยิ่งขึ้น

ในรายที่มีก้อนบวมมาก เพราะเซลล์มะเร็งสะสม เช่น ต่อมน้ำเหลืองโต ตับโต ม้ามโต  ก้อนที่อัณฑะอาจจำเป็นต้องทำการฉายรังสี (รังสีบำบัด) ร่วมด้วย

ในบางรายแพทย์อาจพิจารณาทำการปลูกถ่ายไขกระดูก หรือปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด โดยเฉพาะ อย่างยิ่งผู้ที่มีการเกิดโรคกลับ   (relapse) หลังจากให้เคมีบำบัดจนโรคสงบ (remission)ไประยะหนึ่งแล้ว

ผลการรักษา ขึ้นกับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรคและสภาพของผู้ป่วย ดังนี้

  • สำหรับผู้ป่วยที่เป็น ALL(ซึ่งถ้าไม่ได้รักษามักเสียชีวิตภายใน 4 เดือน) การให้เคมีบำบัดครบคอร์แรก ก็สามารถทำลายเซลล์มะเร็งจนโรคสงบ (remission)ได้ เป็นส่วนใหญ่การรักษาอย่างต่อเนื่องช่วยให้ร้อยละ 80 ของเด็กที่ป่วย และร้อยละ 30-40 ของผู้ใหญ่ที่ป่วย หายจากโรคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กอายุ 3-7 ปี มักจะตอบสนองต่อการรักษาได้ดีที่สุด ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และผู้ใหญ่อาจมีการเกิดโรคกลับ (relapse) ซึ่งจำเป็นต้องให้เคมีบำบัด รังสีบำบัด และอาจต้องทำการ ปลูกถ่ายไขกระดูกหรือเซลล์ต้นกำเนิด
  • สำหรับผู้ป่วยที่เป็น AML(ซึ่งถ้าไม่ได้รักษามักเสียชีวิตภายในไม่กี่สัปดาห์ถึงไม่กี่เดือน) การรักษาสามารถทำให้โรคสงบในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 60 ปีถึงร้อยละ 70-80 และร้อยละ 20-40 ของผู้ป่วยที่มีชีวิตอยู่รอดเกิน 5 ปีโดยไม่มีการเกิดโรคกลับ สำหรับผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปี หรือเป็นโรคชนิดนี้หลังจากได้รับเคมีบำบัดหรือ รังสีบำบัดในการรักษามะเร็งอื่น ๆ ผลการรักษามักจะ ไม่สู้ดี
  • สำหรับผู้ป่วยที่เป็น CLL ถ้าตรวจพบในระยะแรกก็มักจะมีชีวิตอยู่ได้นานเกิน10-20 ปีโดยผู้ป่วย สามารถทำงานและเรียนหนังสือได้ตามปกติ แต่ถ้าพบในระยะท้ายก็อาจมีชีวิตอยู่ได้ 3-4 ปี
  • สำหรับผู้ป่วยที่เป็น CMLร้อยละ 50 มีชีวิตอยู่ได้นานเกิน 4-5 ปี ประมาณร้อยละ 20 เสียชีวิตภายใน 2 ปี ผู้ป่วยที่ตรวจพบ  Philadelphia chromosome มักมีผลการรักษาดีกว่าผู้ป่วยที่ไม่พบโครโมโซมชนิดนี้ และร้อยละ 60 ของผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกหรือ เซลล์ต้นกำเนิดสามารถหายจากโรคได้  ส่วนในรายที่กลายเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวแยบพลันชนิด AML ถ้าไม่ได้ รักษามักเสียชีวิตภายใน 2 เดือน ถ้ารักษาก็อยู่ได้ประมาณ 8-12 เดือน
[Total: 1 Average: 4]