หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน

หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน  คือ โรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก พบได้ในคนทุกวัย อาจเป็นเรื้อรังหรือมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้

หน่วยไต (glomerulus) เป็นหน่วยเล็ก ๆ ที่กระจายอยู่ในเนื้อไต ทำหน้าที่กรองของเสียและน้ำออกมาเป็นปัสสาวะ เมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้นที่หน่วยไต ทำให้ร่างกายขับปัสสาวะออกได้น้อย มีของเสียคั่งอยู่ในเลือด มากกว่าปกติรวมทั้งมีเม็ดเลือดแดงและสารไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะทำให้เกิดอาการบวม และปัสสาวะ ออกมาเป็นสีแดง

สาเหตุ หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน

โรคนี้มักเกิดตามหลังการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัส กลุ่มเอ (beta-he-molytic streptococcus group A) เช่น ทอนซิลอักเสบ แผลพุพอง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ ไฟลามทุ่ง โดยภูมิคุ้มกันโรคที่เกิดขึ้นไม่ปฏิกิริยาต่อหน่วยไต ทำให้หน่วยไตเกิดการอักเสบ จัดว่าเป็นโรคภูมิต้านตนเองชนิดหนึ่ง เรียกว่า หน่วยไตอักเสบเฉียบพลันหลังติดเชื้อสเตรปโตค็อกคัส (poststreptococcal  AGN) พบบ่อยในเด็กอายุ 5 -10 ปี มักพบหลังติดเชื้อในคอ 1- 2 สัปดาห์ และหลังติดเชื้อที่ ผิวหนัง 3 - 4 สัปดาห์ อาจพบได้ประมาณร้อยละ 10 -15 ของผู้ป่วยติดเชื้อดังกล่าวที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังอาจเกิดร่วมกับโรคเอสแอลอี ซิฟิลิส การแพ้สารเคมี (เช่น ตะกั่ว) เป็นต้น

อาการ หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน

                ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นปัสสาวะออกมาเป็นสีแดงเหมือนน้ำล้างเนื้อหรือน้ำหมาก และจำนวนปัสสาวะมักออกน้อยกว่าปกติ อาจพบอาการบวมที่หน้า หนังตา เท้า และท้อง มักมีอาการปวดศีรษะ มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ถ้าเป็นรุนแรง อาจมีอาการปัสสาวะออกน้อย หอบเหนื่อย หรือชัก

การป้องกัน หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน

เมื่อเป็นทอนซิลอักเสบ แผลพุพอง เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังชั้นลึกอักเสบ หรือไฟลามทุ่งควรกินยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี อีริโทรไมชิน ติดต่อกันอย่างน้อย 10 วัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดโรคหน่วยไตอักเสบแทรกซ้อน     

  1. โรคนี้ส่วนใหญ่ (ประมารร้อยละ 95) จะหายได้ อาการทั่วไปจะดีขึ้นภายใน 2 -3 สัปดาห์ แต่ควรตรวจปัสสาวะบ่อย ๆ ต่อไปอีกหลายเดือน ประมาณ ร้อยละ 2 อาจกลายเป็นเรื้อรัง และร้อยละ 2 อาจตายระหว่างที่มีอาการ ดังนั้นจึงควรแนะนำให้ผู้ป่วยรักษา กับแพทย์อย่างจริงจัง
  2. บางรายแม้ว่าอาการจะหายดีแล้ว แต่เมื่ออายุมากขึ้นอาจกลายเป็นความดันโลหิตสูงหรือภาวะไตวายได้ ดังนั้นจึงควรหมั่นตรวจวัดความดันโลหิต และระดับครีอะตินีนในเลือดเป็นครั้งคราว

การรักษา หน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน

1.หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาล มักจะวินิจฉัยโดยการตรวจปัสสาวะซึ่งจะพบเม็ดเลือดแดงเกาะกัน เป็นแพ (red blood cell cast) และพบเม็ดเลือดขาวอยู่กันเดี่ยว ๆ หรือเกาะกันเป็นแพ

การตรวจเลือดอาจพบความผิดปกติต่างๆ เช่น สารบียูเอ็น (BUN) และครีอะตินีน (creatinine) สูงซึ่งแสดงว่าไตขับของเสียไม่ได้เต็มที่

 ควรให้การรักษา โดยให้นอนพักผ่อน งดอาการเค็ม ให้ยาขับปัสสาวะ (เช่น ฟูโรซีไมด์) และยาลดความดัน ถ้ามีประวัติทอนซิลอักเสบ  หรือการติดเชื้อที่ผิวหนัง ให้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ เพนิซิลลินวี หรืออีริโทรไมชิน

ในรายที่สงสัยมีภาวะไตวาย (เช่น ปัสสาวะออกน้อย ระดับบียูเอ็นและครีอะตินีนในเลือดสูง) หรือ มีความดันโลหิตสูงรุนแรง จำเป็นต้องรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล

2.ถ้ามีอาการชักหรือหอบ ให้ฉีดไดอะซีแพม และฟูโรซีไมด์ ครึ่ง-1 หลอด เข้าหลอดเลือดดำ แล้วส่งโรงพยาบาลทันที

[Total: 0 Average: 0]