หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

รากประสาทถูกกดทับ หมายถึง การที่มีสิ่งผิดปกติหรือพยาธิสภาพที่รบกวนหรือกดถูกรากประสาทของเส้นประสาทสันหลัง ถ้าเกิดที่ระดับคอทำให้มีอาการปวดร้าว เสียวๆ แปลบๆ หรือรู้สึกชาลงมาที่แขนและมือ 

ถ้าเกิดที่ระดับเอวทำให้มีการกดถูกรากประสาทไซแอติก (sciatic nerve) มีอาการปวดหลังร่วมกับอาการปวดร้าว เสียวๆ แปลบๆ หรือรู้สึกชาลงมาที่ขา เรียกว่า อาการปวดตามประสาทไซแอติก (sciatica) ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุได้หลายประการ ที่พบบ่อยได้แก่ หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน (herniated disk) และโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ ส่วนสาเหตุอื่นที่พบได้ไม่บ่อยนัก เช่น วัณโรคกระดูกสันหลัง เนื้องอกไขสันหลัง มะเร็งที่แพร่กระจายจากที่อื่น อุบัติเหตุ เป็นต้น

ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน และโพรงกระดูกสันหลังแคบ

สาเหตุ หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน พบได้ในช่วงอายุ 20-60 ปี แต่พบได้น้อยมากในคนอายุมากกว่า 60 ปี เกิดจากหมอนรองกระดูกที่เสื่อมตามอายุมีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อเส้นใยชั้นเปลือกนอก ปล่อยให้เนื้อเยื่อกระดูกอ่อนตรงกลางซึ่งมีลักษณะคล้ายวุ้นแตก (rupture) หรือเลื่อน (herniation) ออกมากดทับรากประสาทและเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆ รากประสาท ทำให้เกิดอาการของโรคนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่มีประวัติการบาดเจ็บชัดเจน อาจเกิดจากแรงกระทบเพียงเล็กน้อยจากการทำกิจวัตรประจำวันหรือจากอิริยาบถที่ไม่ เหมาะสม ส่วนน้อยเกิดหลังจากได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน เล่นกีฬา อุบัติเหตุ ยกหรือเข้นของหนัก

ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือสูบบุหรี่มีความเสียงต่อโรคนี้มากขึ้น เนื่องจากมีออกซิเจนในเลือดไปเลี้ยงหมอนรองกระดูกน้อยลง จึงเสื่อมได้ง่ายขึ้น ส่วนผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือทำอาชีพที่ต้องเข็นหรือยกของหนักที่เสี่ยงต่อการเกิดแรงกระทบต่อหมอนรองกระดูกทำให้เกิดโรคนี้ได้มากขึ้น

โพรงกระดูกสันหลังแคบ เริ่มพบได้ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป และพบมากในคนอายุมากกว่า 60 ปี ส่วนใหญ่เกิดจากกระดูกสันหลังเสื่อมตามอายุ ทำให้ผิวข้อกระดูกสันหลังมีหินปูนหรือปุ่มงอก (osteophytes) เกาะโดยรอบ และมีการหนาตัวของเอ็นรอบๆ โพรงกระดูกสันหลัง (spinal cannal) ทำให้มีการตีบแคบของโพรงกระดูกสันหลัง ซึ่งค่อยๆ เกิดขึ้นทีละน้อยๆ ใช้เวลานานเป็นแรมปีหรือหลายปี จนในที่สุดเกิดการกดทับรากประสาทที่แยกออกจากไขสันหลังผ่านโพรงดังกล่าว และบีบรัดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงรากประสาททำให้เกิดอาการของโรคนี้

อาการ หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน ขึ้นกับตำแหน่ง ของหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนและเส้นประสาทที่ถูกกดส่วนใหญ่พบที่หมอนรองกระดูกบริเวณเอว (พบบ่อยในกลุ่มอายุ 35-45 ปี ส่วนน้อยพบที่บริเวณคอ (พบบ่อยในกลุ่มอายุ 40-50 ปี) อาจมีอาการเกิดขึ้นฉับพลันรุนแรง หรือค่อยๆ เกิดขึ้นที่ละน้อยก็ได้ ผู้ป่วยบางรายอาจมีประวัติเกิดอาการหลังได้รับบาดเจ็บหรือยกของหนักแต่ส่วนใหญ่จะไม่ทราบว่ามีเหตุกำเริบจากอะไร

ในรายที่หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนเอวเคลื่อน จะมีอาการปวดตรงกระเบนเหน็บ ซึ่งจะปวดร้าว เสียวๆ แปลบๆ และชาจากบริเวณแก้มก้นลงมาถึงน่องหรือปลายเท้า อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเวลามีการเคลื่อนไหว เวลาก้ม นั่ง ไอ จาม หัวเราะ หรือเบ่งถ่าย ในรายที่เป็นมากเท้าจะไม่ค่อยมีแรงและชา อาจถ่ายอุจจาระปัสสาวะไม่ได้หรือกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่อยู่
                มักพบเป็นเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น นอกจากในรายที่เป็นมากอาจมีอาการทั้ง 2 ข้าง
ในรายที่หมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอเคลื่อน จะมีอาการปวดบริเวณต้นคอ ปวดร้าว เสียวๆ แปลบๆ และชาลงมาที่ไหล่ แขน และปลายมือ
                มักมีอาการเวลาแหงนคอไปด้านหลัง หรือหันศีรษะไปข้างที่เป็น ถ้าเป็นมาก แขนและมืออาจมีอาการอ่อนแรง โพรงกระดูกสันหลังแคบ ในระยะแรกๆ จะไม่มี อาการแสดง อาจตรวจพบโดยบังเอิญจากการถ่ายภาพรังสีกระดูกสันหลัง ต่อเมื่อโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบมากขึ้นจนกดทับรากประสาท จะมีอาการปวดหลังและร้าวลงมาที่ขาขณะวิ่ง ยืนนานๆ หรือเดินไกลๆ ในรายที่เป็นมากแม้จะเดินเพียงไม่กี่ก้าวก็จะรู้สึกปวดน่องขนต้องนั่งพัก หรือหยุดเดินสักครู่ อาการปวดจึงจะทุเลาและสามารถเดินต่อไปได้ แต่ต้องค่อยหยุดพักเป็นช่วงๆ อาการปวดมักเป็นเพียงข้างเดียว แต่ก็อาจพบเป็นทั้ง 2 ข้าง
                อาการปวดมักจะทุเลาเวลานั่งหรือก้มตัวไปข้างหน้า หรือขณะเดินขึ้นเนินหรือที่ลาด (ในท่าโน้มหรือก้มตัวไปข้างหน้า ทำให้โพรงกระดูกสันหลังขยาย ลดการกดรากประสาท แต่ในท่าแอ่นตัวไปข้างหลัง เช่นยืนแอ่นตัวเดินลงเนินหรือที่ลาดจะทำให้โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ มากขึ้น)

ในรายที่เป็นมาก มักมีอาการเสียวๆ แปลบๆ และ ชาจากแก้มก้นลงมาที่น่องหรือปลายเท้า เท้าอ่อนแรงควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ และอาจมีอาการเดินโคลงเคลงทรงตัวผิดปกติ

การป้องกัน หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

1.หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนและโพรงกระดูกสันหลังตีบ มีอาการปวดหลังและปวดร้าวลงมาที่ขาเหมือนกัน ต่างกันที่อันแรกจะพบในกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่าและมักจะปวดมากขึ้นเวลาก้มหรือนั่ง แต่อันหลังมักพบในผู้สูงอายุ มีอาการปวดน่องเป็นระยะเวลาเดินและมักจะทุเลาปวดเวลาก้มหรือนั่งการวินิจฉัยที่แน่ชัดต้องอาศัยการถ่ายภาพด้วยรังสีหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2โรคนี้มีแนวทางการรักษา เหมือนกัน และส่วนใหญ่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีไม่ผ่าตัด
2.ทั้ง 2โรคนี้ถ้าเป็นในระยะแรกเริ่มและไม่รุนแรง การใช้ยาบรรเทาปวดและลดอักเสบ หลีกเลี่ยงอิริยาบถและกิจกรรมที่ทำให้อาการกำเริบ อาการก็มักจะหายได้ภายใน 4-6 สัปดาห์
3.ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้

  • หลีกเลี่ยงอิริยาบถและกิจกรรมที่ทำให้อาการปวดกำเริบ ปรับท่าทางในการทำงานและการขับรถให้เหมาะสม
  • หมั่นบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องให้ แข็งแรงด้วยท่าบริหารที่แพทย์แนะนำ ซึ่งอาจแตกต่างกันระหว่าง 2 โรคนี้
  • ลดน้ำหนัก
  • ขณะที่มีอาการปวดให้นอนหงายบนที่นอนแข็ง กินยาบรรเทาปวด และใช้น้ำอุ่นจัด ๆ ประคบ

4.ผู้ป่วยที่มีอาการแขนหรือขาชาและอ่อนแรง 1-2 ข้าง ซึ่งมีอาการค่อยๆ เป็นมากขึ้นทีละน้อย (อาจมีอาการปวดคอหรือหลังร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้) ในเวลาเป็นสัปดาห์ หรือแรมเดือน ควรส่งตรวจสาเหตุด้วยการถ่ายภาพรังสีหรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อาจเกิดจากเนื้องกไขสันหลัง หรือมีก้อนมะเร็ง เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งปอดหรือมะเร็งเต้านมแพร่กระจายไปกดถูกเส้นประสาทสันหลังก็ได้

  1. หมั่นออกกำลังกาย (เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน) และบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องให้แข็งแรง
  2. ระวังรักษาอิริยาบถ (ท่านอน ท่านั่ง ท่ายืน ท่ายกของ) ให้ถูกต้อง
  3. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก เข็นของหนัก การนอนที่นอนที่นุ่มเกินไป
  4. ควบคุมน้ำหนักอย่าให้เกิน
  5. ไม่สูบบุหรี่ (อาจทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อมเร็ว)

การรักษา หมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อน

หากสงสัย ควรส่งโรงพยาบาล อาจต้องเอกซเรย์ กระดูกสันหลัง ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ถ้าจำเป็นอาจต้องทำการถ่ายภาพรังสีไขสันหลังโดยการฉีดสารทึบรังสี (myelography)

การรักษา ในระยะแรก แพทย์จะให้การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัดก่อน ได้แก่ การให้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่ สตีรอยด์ เป็นหลัก ซึ่งนอกจะช่วยบรรเทาปวดแล้ว ยังลดการอักเสบของเนื้อเยื่อรอบๆ รากประสาททำให้อาการทุเลาได้ ในรายที่มีการตึงตัวหรือเกร็งตัวของ กล้ามเนื้อหลังให้ยา คลายกล้ามเนื้อ หรือยากล่อม ประสาท เช่น ไดอะซีแพม  ร่วมด้วย

ในรายที่มีอาการเกิดขึ้นฉับพลันและปวดรุนแรง แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยนอนพักในท่านอนหงายบนที่นอนแข็งตลอดเวลา (ลุกเฉพาะกินอาหารและเข้าห้องน้ำ) 1-2 วัน จะช่วยให้อาการทุเลาได้เร็ว ไม่ควรนอนติดต่อนานหลายวัน อาจทำให้กล้ามเนื้อหลังอ่อนแอ

บางรายแพทย์อาจให้การรักษาทางกายภาพบำบัด (เช่น ประคบด้วยความเย็นและความร้อน ใช้น้ำหนักถ่วงดึง) กระตุ้นปลายประสาทด้วยไฟฟ้า (TENS) การฝังเข็ม เป็นต้น

บางรายแพทย์อาจให้ผู้ป่วยใส่ “ใส่เสื้อเหล็ก” หรือ.“ปลอกคอ”

ในรายที่มีอาการปวดมากและไม่สามารถบรรเทา ด้วยยาต้านอักเสบที่ไม่ใช้สตีรอยด์และยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล แพทย์อาจพิจารณาให้ยาแก้ปวดที่แรงขึ้น เช่น โคเออีน (codeine) กาบาเพนทิน (gabapentin) เป็นต้น บางรายอาจให้เพร็ดนิโซโลน หรือฉีดสตีรอยด์เข้าบริเวณเนื้อเยื่อรอบๆ รากประสาทที่อักเสบเพื่อลดการอักเสบ

  • ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอิริยาบถและกิจกรรมที่ทำให้ อาการปวดกำเริบ บริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องตาม คำแนะนำของแพทย์ ลดน้ำหนักถ้าน้ำหนักเกิน
  • ผลการรักษา ส่วนใหญ่มักจะหายปวดและกลับไป ดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

สำหรับหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนที่ไม่รุนแรง อาการมักจะดีขึ้นภายใน 4-6 สัปดาห์ เนื่องจากหมอนรองกระดูกที่ไหลเลื่อนออกมาข้างนอก มักจะยุบตัวลงจนแรงกดต่อรากประสาทไปได้เอง

ในรายที่ให้การรักษาด้วยยาและกายภาพบำบัด 3-6 เดือนแล้วไม่ได้ผล ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ หรือมีภาวะแทรกซ้อน (เช่น กล้ามเนื้อลีบหรืออ่อนแรง มีอาการชามาก ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้) ก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อปลดเปลื้องการกดรากประสาท และอาจเชื่อมข้อต่อกระดูกสันหลังให้แข็งแรง ในรายที่มีกระดูกสันหลังเคลื่อน (spondylolisthesis) การผ่าตัดมีอยู่หลายวิธีรวมทั้งวิธีใช้กล้องส่อง (laparoscopic surgery) สำหรับโพรงกระดูกสันหลังแคบ ในปัจจุบันมีวิธีการผ่าตัดขยายโพรงกระดูกสันหลังโดยการส่องกล้องจุลทรรศน์ (microlumbar decompression) ซึ่งได้ผลดีและมีความปลอดภัยมากขึ้น

โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดมีประมาณร้อยละ 10-20 ซึ่งส่วนใหญ่มักจะได้ผลดี แต่มีประมาณร้อยละ 10 ที่อาจมีอาการปวดเรื้อรังต่อไป ในรายที่เกิดภาวะแทรกซ้อนอยู่นานก่อนผ่าตัด อาการก็อาจไม่ดีขึ้นหลังผ่าตัด

[Total: 0 Average: 0]