การรักษา คางทูม

1. ถ้าพบผู้ป่วยมีอาการขากรรไกรบวม มีประวัติ เช่น การสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นคางทูม) และอาการ (มีไข้ปวดขากรรไกรมาก่อน)   เข้าได้กับโรคคางทูม โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ก็ให้การรักษาตามอาการโดยไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ ควรแนะนำให้ผู้ป่วยนอนพัก ดื่มน้ำมาก ๆ เช็ดตัวเวลามีไข้สูง หลีกเลี่ยงอาหารรสเปรี้ยว ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบ ถ้าปวดมากใช้กระเป๋าน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบ

ในช่วงที่ขากรรไกรบวมหรือปวดมาก หรืออ้าปากลำบาก ควรแนะนำให้ผู้ป่วยกินอาหารอ่อนหรือที่เคี้ยวง่าย

ถ้าไข้ไม่สูงหรือไม่มีไข้ ไม่ต้องให้ยา ถ้าไข้สูงให้พาราเซตามอล ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้เอสไพริน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม 

 2. ถ้ามีอัณฑะอักเสบ ให้ประคบด้วยน้ำแข็ง ให้ยาลดไข้แก้ปวด เช่น พาราเซตามอล  ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ส่วนใหญ่มักหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์

ในรายที่อักเสบรุนแรงหรือให้ยาลดไข้แก้ปวดแล้วไม่ทุเลา แพทย์อาจพิจารณาให้ยาสตีรอยด์ลดการอักเสบ เช่น ให้เพร็ดนิโชโลนผู้ใหญ่ให้กินครั้งแรก 12 เม็ด (เด็กให้ขนาด 1 มก./กก./วัน) ต่อไปให้วันละ 1 ครั้ง โดยค่อย ๆ ลดขนาดลงที่ละน้อยจน เหลือวันละ 5 - 10 มก.ภายในเวลาประมาณ 5 -7 วัน

3. ถ้ามีอาการปวดท้องรุนแรง  ปวดศีรษะมาก อาเจียนมาก คอแข็ง ชัก หรือซึมไม่ค่อยรู้สึกตัวให้ส่งโรงพยาบาล  อาจต้องทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม และให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ

4. ในรายที่จำเป็นต้องวินิจฉัยโรคคางทูมให้แน่ชัด แพทย์จะทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การทดสอบทางน้ำเหลืองเพื่อหาระดับสารภูมิต้านทานต่อเชื้อคางทูม การตรวจหาเชื้อคางทูมจากน้ำลาย น้ำไขสันหลัง หรือปัสสาวะ

[Total: 0 Average: 0]