อีดำอีแดง

อีดำอีแดง (ไข้อีดำอีแดง) คือ โรคติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่ทำให้มีผื่นแดงขึ้นตามตัวร่วมกับทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในเด็กอายุ 5 -15 ปี ในปัจจุบันพบโรคนี้น้อยลง เนื่องจากผู้ป่วยมักได้รับยาปฏิชีวนะตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม

สาเหตุ อีดำอีแดง

เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า บีตาฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (group A betahemolytic Streptococcus) สายพันธุ์ที่สร้างสารพิษ (erythrogenicexotoxin) ออกมาทำให้เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง เชื้อมีอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอหรือจามรด หรือโดยการสัมผัสมือผู้ป่วย สิ่งของ หรือสิ่งแวดล้อมที่แปดเปื้อนเชื้อ

ระยะฟักตัว  2 – 7 วัน

โรคนี้มักเกิดร่วมกับทอนซิลอักเสบ แต่บางครั้งอาจเกิดร่วมกับการติดเชื้อที่ตำแหน่งอื่น เช่น ผิวหนัง แผลผ่าตัด มดลูก เป็นต้น

อาการ อีดำอีแดง

แรกเริ่มจะมีไข้สูง หนาวสั่น เจ็บคอมาก ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการปวดท้องหรืออาเจียนร่วมด้วย 1 – 2 วันหลังมีไข้จะมีผื่นแดงขึ้นที่คอ หน้าอก และรักแร้ แล้วกระจายไปตามลำตัวและแขนขาภายใน 24 ชั่วโมง ผื่นมีลักษณะคล้ายกระดาษทราย อาจมีอาการคันต่อมาผื่นจะปรากฏเด่นชัด (เข้มข้น) ในบริเวณร่องหรือรอยพับของผิวหนัง (โดยเฉพาะที่คอ รักแร้ ข้อพับแขน ขาหนีบ ข้อพับขา) แล้วต่อมาในบริเวณเหล่านี้จะปรากฎเป็นจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง  ซึ่งเรียงเป็นเส้น (เนื่องจากการแตกของหลอดเลือดฝอย) เรียกว่า “เส้นพาสเตีย (Pastia’s lines)”

ผื่นจะเริ่มจางหายหลังขึ้นได้ 3-4 วัน หลังจากผื่นจางได้ประมาณ 1 สัปดาห์จะมีอาการลอกของผิวหนัง มักเห็นเด่นชัดที่บริเวณรักแร้ ขาหนีบ ปลายนิ้วมือนิ้วเท้าซึ่งอาจเห็นลอกเป็นแผ่น ส่วนตามลำตัวมักลอกเป็นขุยอาการผิวหนังลอกเป็นลักษณะจำเพาะของโรคนี บางรายอาจลอกติดต่อกันนานถึง 6 สัปดาห์

การป้องกัน อีดำอีแดง

เมื่อมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นอีดำอีแดงให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย อย่าใช้ของใช้ร่วมกับผู้ป่วยและหมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการไอหรือจามรดผู้อื่น

  1. ควรเน้นให้กินยาปฏิชีวนะจนครบตามระยะที่กำหนด 
  2. ควรแยกผู้ป่วย จนกว่าจะให้ยาปฏิชีวนะไปแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง จึงจะไม่แพร่เชื้อให้คนอื่น

การรักษา อีดำอีแดง

ที่สำคัญ คือให้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี อะม็อกซีซิลลิน ฮีริโทรไมซิน นาน 10 วัน ร่วมกับให้การรักษาตามอาการอื่น ๆ

ในรายที่อาการไม่ชัดเจน อาจต้องส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี rapid sterp test การเพาะเชื้อ 

[Total: 1 Average: 5]