ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression)

ประมาณ 80 เปอร์เซนต์ของแม่ที่คลอดเด็กทารกมีอารมณ์ซึมเศร้า (Postpartum Depression) หลังจากให้กำเนิดบุตร ในทางกลับกันมีงานวิจัยขนาดใหญ่ในปี 2013 พบว่ามีคุณแม่หลังคลอดจำนวนเพียง 14 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่มีผลทดสอบภาวะซึมเศร้าเป็นบวก นอกเหนือจากนั้นมีผู้หญิงจำนวน  19.3  เปอร์เซนต์มีความคิดเกี่ยวกับการทำร้ายตัวเองและ 22.6 เปอร์เซนต์ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไบโพลาร์ 

สาเหตุ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่คุณแม่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน สภาพแวดล้อม อารมณ์ หรือพันธุกรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ คุณแม่อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมากขึ้น หากมีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้

  • มีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ เคยมีภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอดมาก่อนหน้านี้
  • สมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์
  • มีปัญหาที่ส่งผลให้เกิดความเครียดมากในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น ภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ หรือมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งภายในครอบครัว เป็นต้น
  • ทารกมีปัญหาสุขภาพที่ต้องมีการดูแลหรือรับการรักษาอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ
  • แม่มีปัญหาในการให้นมบุตร
  • ครอบครัวมีปัญหาทางการเงิน
  • ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม

อาการ ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมักเกิดขึ้นในช่วงปีแรกหลังจากคลอดบุตร โดยอาการที่มักพบได้ มีดังนี้

  • รู้สึกเศร้า เสียใจ หมดหวัง
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด โกรธง่าย หรืออยู่ไม่สุข
  • วิตกกังวลมากผิดปกติ
  • มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนหลับมากผิดปกติ นอนไม่หลับ เป็นต้น
  • ร้องไห้มากกว่าปกติ หรือร้องไห้อย่างไม่มีเหตุผล
  • มีปัญหาเรื่องสมาธิ การจดจำรายละเอียด หรือการตัดสินใจ
  • หมดความสนใจในสิ่งที่ชอบหรืองานอดิเรก
  • รับประทานอาหารน้อยลง หรือรับประทานมากขึ้นอย่างผิดปกติ
  • มีปัญหาสุขภาพโดยไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน เช่น ปวดศีรษะบ่อย ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เป็นต้น
  • เก็บตัว หรือหลีกเลี่ยงการพบเจอเพื่อนและคนในครอบครัว
  • มีปัญหาในการสร้างความผูกพันระหว่างแม่ลูก
  • กังวลไปว่าตนเองไม่มีความสามารถในการดูแลลูกอยู่บ่อย ๆ
  • มีความคิดทำร้ายร่างกายตัวเองหรือลูกน้อย

คุณแม่ที่มีอาการซึมเศร้าหลังคลอดควรไปพบแพทย์หากอาการข้างต้นไม่หายไปภายใน 2 สัปดาห์ มีอาการรุนแรงขึ้น หรืออาการเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อการดูแลลูกน้อยและการใช้ชีวิตประจำวัน และควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุดหากคุณแม่มีความคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองและเด็ก โดยคนใกล้ชิดควรช่วยดูแลเด็กชั่วคราว เพราะหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายต่อตัวแม่และเด็กได้

การรักษา ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ และไม่ใช่ความรู้สึกอ่อนแอเท่านั้น ดังนั้น ผู้ป่วยควรบอกปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดอย่างตรงไปตรงมาและซื่อตรงกับตัวเอง เพื่อให้แพทย์และคนใกล้ชิดสสามารถร่วมมือกันช่วยให้การรักษาเป็นไปในทางที่ดี โดยในขณะที่ทำการรักษาผู้ป่วยควรดูแลตัวเองควบคู่ไปด้วย เช่น ออกกำลังกาย หรือเข้าร่วมกลุ่มให้คำปรึกษา เป็นต้น

โดยการรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจะคล้ายกับการรักษาโรคซึมเศร้า วิธีการรักษาที่แพทย์มักใช้ มีดังนี้

  • จิตบำบัด เป็นการรักษาด้วยการพูดคุยกับจิตแพทย์ เพื่อระบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากภาวะดังกล่าว โดยแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำในการรับมือกับปัญหาและให้กำลังใจผู้ป่วย ซึ่งในบางกรณีแพทย์อาจให้คนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดมานั่งพูดคุยไปพร้อมกันด้วย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีหรือสบายใจขึ้น
  • ยาต้านเศร้า เป็นยาที่ใช้ในการรักษาภาวะซึมเศร้า มักใช้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วไป ทว่าในบางกรณีแพทย์อาจให้คุณแม่ใช้ยานี้ในการรักษาด้วย โดยยาอาจปนเปื้อนในน้ำนมได้ แต่ก็มียาบางชนิดที่ส่งผลข้างเคียงกับทารกได้น้อย ดังนั้น เพื่อการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยและแพทย์จะต้องปรึกษากันถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจได้รับจากการรักษาด้วยยาต้านเศร้าแต่ละชนิดด้วย

สำหรับการเลือกวิธีการรักษา แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและพิจารณาว่าการรักษาใดเหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด โดยอาจใช้การรักษาด้วยวิธีจิตบำบัดหรือใช้ยาเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ทั้ง 2 วิธีควบคู่กัน ซึ่งหากการรักษาเป็นไปด้วยดี ผู้ป่วยจะดีขึ้นภายในเวลา 6 เดือน แต่ก็อาจใช้เวลานานกว่านั้น และบางรายอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังได้ จึงควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนดแม้จะหายดีแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำในอนาคต

[Total: 0 Average: 0]