แผลเบาหวาน (Diabetic Ulcer)

แผลเบาหวาน (Diabetic Ulcer) แผลเบาหวานเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบมากที่สุดในผู้ป่วยที่ต้องควบคุมอาการของโรคเบาหวานได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติ ส่งผลให้เกิดอาการชา หรือไร้ความรู้สึกบริเวณปลายมือและเท้า จึงเป็นเหตุให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเกิดแผลมากขึ้น และเมื่อเกิดแผลเลือดก็จะไหลเวียนบริเวณแผลได้ไม่เพียงพอ เนื่องจากหลอดเลือดทำงานผิดปกติด้วยเช่นกัน จึงทำให้แผลหายช้าหรือกลายเป็นแผลเรื้อรังเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะพบแผลเหล่านี้ที่บริเวณนิ้วโป้ง และเนินปลายเท้า ซึ่งหากไม่รักษาอย่างทันท่วงทีและถูกต้องอาจนำไปสู่การตัดอวัยวะเนื่องจากการติดเชื้อได้ในที่สุด

สาเหตุ แผลเบาหวาน

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและหลอดเลือด เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดแผลเบาหวาน เพราะเมื่อผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีเพียงพอ น้ำตาลในเลือดจะไปทำให้หลอดเลือดและระบบประสาทผิดปกติ ก่อให้เกิดภาวะเส้นประสาทเสื่อม นำมาสู่อาการชาหรือไร้ความรู้สึกที่บริเวณเท้าได้

เมื่อสูญเสียความรู้สึกบริเวณเท้าแล้วจะทำให้ผู้ป่วยแทบไม่รู้ตัวหากเกิดรองเท้ากัด รอยบาด หรืออุบัติเหตุที่เท้า ยิ่งไปกว่านั้นความเสียหายของหลอดเลือดจะทำให้เลือดไหลเวียนไปยังหลอดเลือดส่วนปลายได้ไม่ดีนัก ก่อให้เกิดภาวะขาดเลือดเฉพาะที่ (Ischaemia) และแผลที่เกิดขึ้นจะมีเลือดมาเลี้ยงไม่เพียงพอ ทำให้แผลหายช้าและกลายเป็นแผลเรื้อรังในที่สุด   ทั้งนี้ผู้ป่วยเบาหวานที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลเบาหวานมากที่สุด มักมีลักษณะอาการดังนี้

1.มีอาการของโรคเส้นประสาท (Neuropathy)

2.ระบบไหลเวียนเลือดไม่ดี

3.มักสวมใส่รองเท้าที่ไม่สบายเท้า และติดนิสัยเดินเท้าเปล่า

อาการ แผลเบาหวาน

ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยโรคเบาหวานจะไม่รู้ว่าตัวเองเกิดแผลเบาหวานขึ้น โดยเฉพาะแผลที่เท้า ซึ่งสัญญาณแรก ๆ ของการเกิดแผลเบาหวานคือ อาจมีน้ำหนองไหลออกมามากผิดปกติ อวัยวะที่เกิดแผลมีอาการบวมแดงผิดปกติ และรู้สึกเจ็บหรือระคายเคือง และอาจมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ

ทั้งนี้ หากระบบเลือดไหลเวียนไปที่แผลไม่ดี อาจทำให้เกิดภาวะเนื้อตาย ซึ่งสังเกตเห็นได้จากผิวหนังที่เปลี่ยนสีกลายเป็นสีดำบริเวณรอบ ๆ แผล โดยมักจะเกิดขึ้นที่นิ้วเท้าเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะนำมาสู่การติดเชื้อ และทำให้มีหนองซึ่งมีกลิ่นเหม็นไหลออกมาจากแผล เกิดอาการชา หรือเจ็บบริเวณแผลได้ในที่สุด โดยแผลเบาหวานนั้นแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ คือ

ระดับ 0 ไม่มีอาการของแผลเปื่อย

ระดับ 1 มีแผลเกิดขึ้นแต่ไม่มีอาการอักเสบ

ระดับ 2 แผลลึกจนเห็นเส้นเอ็นและกระดูก

ระดับ 3 แผลมีการลุกลามในบริเวณกว้าง และมีฝีเกิดขึ้น

การรักษา แผลเบาหวาน

ในเบื้องต้นหากผู้ป่วยมีแผลเบาหวานเกิดขึ้น ควรหยุดใช้งานอวัยวะดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดแรงดันที่แผลจนทำให้เกิดการติดเชื้อหรือแผลขยายใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจให้ผู้ป่วยใส่อุปกรณ์ป้องกันแผล เช่น รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เฝือก ผ้าพันแผล หรือ หรือแผ่นเพื่อป้องกันตาปลา

ในเบื้องต้นหากเป็นแผลที่เกิดจากของมีคมมีลักษณะเป็นรอยขีดข่วน ควรรีบล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำอุ่นและสบู่ก่อน ๆ จากนั้นเช็ดให้แห้งแล้วจึงใส่ยาฆ่าเชื้อ ปิดแผลด้วยผ้าปิดแผลที่ผ่านการฆ่าเชื้อ หลีกเลี่ยงการปิดแผลด้วยพลาสเตอร์เพราะอาจทำให้แผลไม่แห้ง ทั้งนี้ หากแผลมีอาการบวมแดง และมีน้ำเหลืองหรือหนองไหลออกมาจากแผล ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

หากแผลเริ่มมีลักษณะรุนแรงมากกว่าปกติ แพทย์จะรักษาแผลด้วยการกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือผิวหนังที่ตายออก เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการอักเสบที่อาจเกิดขึ้น จากนั้นจะเริ่มรักษาในขั้นต่อไป โดยจะวางแผนการรักษาโดยดูจากระดับความรุนแรงของแผลเบาหวานที่เป็น หากมีหนอง ก็จะต้องระบายหนอง และตัดเนื้อที่เน่าตายออก จากนั้นจะล้างแผลด้วยน้ำเกลือ หรือน้ำเกลือผสมเบตาดีนเจือจาง ซึ่งควรล้างแผลอย่างน้อยวันละ 2-4 ครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

หากแพทย์พบว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ หรือพบการติดเชื้อแพทย์อาจใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาร่วมด้วย โดยอาจให้เป็นยารับประทาน หรือชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือหลอดเลือดดำ ทว่าหากแพทย์พบว่าแผลเบาหวานที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากภาวะหลอดเลือดตีบแข็ง ก็อาจต้องผ่าตัดหลอดเลือดเพื่อให้เลือดสามารถไหลเวียนไปยังบริเวณแผลได้ ซึ่งในการผ่าตัดแพทย์จะต้องพิจารณาถึงความพร้อมของผู้ป่วย และสภาพบาดแผล

ทว่าหากแพทย์ใช้วิธีการรักษาทุกวิธีแล้วแต่อาการของผู้ป่วยไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น หรือยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิม แพทย์อาจต้องตัดสินใจตัดอวัยวะนั้นทิ้งเพื่อไม่ให้อาการลุกลาม

[Total: 0 Average: 0]