เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear Medicine)

เวชศาสตร์นิวเคลียร์เป็นสาขาวิชาหนึ่งของรังสีวิทยาที่ใช้สารเภสัชรังสีในการตรวจและรักษาโรค โดยครอบคลุมถึงการบริการผู้ป่วย การเรียนการสอนแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆและงานวิจัย การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์มีข้อดีคือจะสามารถตรวจได้ถึงระดับโมเลกุลซึ่งเป็นโครงสร้างที่เล็กที่สุดของร่างกาย จึงสามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรค

สารเภสัชรังสีคืออะไร

สารเภสัชรังสีได้แก่สารที่ประกอบด้วยสารเคมีติดอยู่กับสารกัมมันตรังสี เช่น Tc-99m MDP เป็นสารเภสัชรังสีที่ใช้ตรวจกระดูกประกอบด้วยสารเคมีคือ MDP และสารกัมมันตรังสีคือ Tc-99m (เทคนีเชี่ยม-99เอ็ม) เป็นต้น ขั้นแรกของการตรวจและรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์คือการให้สารเภสัชรังสีเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งสามารถให้ได้ทั้งด้วยการฉีด การรับประทาน หรือการสูดหายใจ เมื่อเข้าไปในร่างกายแล้วสารเภสัชรังสีจะไปสู่อวัยวะต่างๆที่จะทำการตรวจรักษา การตรวจอวัยวะต่างกันก็จะใช้สารเภสัชรังสีต่างกัน เช่นถ้าต้องการตรวจกระดูกก็จะใช้สาร Tc-99m MDP แต่ถ้าต้องการตรวจไตก็จะใช้สาร Tc-99m DTPA เป็นต้น จากนั้นสารกัมมันตรังสีที่ติดอยู่กับสารเคมีจะปล่อยรังสีออกมาให้สามารถตรวจวัดได้ด้วยเครื่องตรวจชนิดพิเศษที่อยู่ภายนอกร่างกาย หากสามารถตรวจวัดปริมาณรังสีได้มาก แสดงว่ามีสารเภสัชรังสีไปอยู่ในอวัยวะนั้นๆมาก แสดงว่าอวัยวะนั้นยังทำงานได้ดี เป็นต้น

สารเคมีในสารเภสัชรังสีมีอันตรายหรือไม่

ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด เนื่องจากปริมาณที่ให้เข้าสู่ร่างกายนั้นน้อยมาก ไม่มีผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆเลย นอกจากนี้มีรายงานถึงการก่อให้เกิดอาการแพ้น้อยมากๆ และหากเกิดขึ้นก็มีอาการเพียงเล็กน้อยไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

สารกัมมันตรังสีที่ใช้ในการตรวจรักษาทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์คืออะไร อันตรายหรือไม่

สารกัมมันตรังสีที่ใช้ทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์แบ่งเป็น 2 ประเภทตามวัตถุประสงค์ของการใช้ ได้แก่

  1. ประเภทที่ใช้ถ่ายภาพเพื่อการวินิจฉัย ประเภทนี้จะใช้สารกัมมันตรังสีที่ให้รังสีแกมม่าหรือรังสีเอ็กซ์ ที่มีพลังงานต่ำและโดยทั่วไปจะใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย ทำให้แทบไม่มีอันตรายต่อผู้ป่วยเลย สารกัมมันตรังสีประเภทนี้ที่ใช้มากที่สุดได้แก่ เทคนีเชี่ยม-99เอ็ม (Tc-99m)
  2. ประเภทที่ใช้ในการรักษา วัตถุประสงค์ของการใช้สารกัมมันตรังสีประเภทนี้เพื่อให้มีผลในการรักษา โดยให้รังสีไปทำลายเซลที่ไม่ต้องการ เช่น เซลมะเร็ง หรือเซลต่อมไทรอยด์ที่ทำงานมากเกินไป เป็นต้น ดังนั้นจึงใช้สารกัมมันตรังสีที่ให้รังสีเบต้าหรือรังสีแอลฟ่า ซึ่งเมื่อเซลถูกรังสีทั้ง 2 ชนิดนี้ในปริมาณที่มากพอเซลก็จะตาย สารกัมมันตรังสีประเภทนี้ที่ใช้มากที่สุดได้แก่ ไอโอดีน-131 (I-131)
[Total: 0 Average: 0]