การรักษา โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบบริเวณเอว

 การรักษาโรคโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบประกอบด้วย การใช้ยา, การทำกายภาพ บำบัด, การผ่าตัด, และวิธีอื่นๆ
1.การรักษาด้วยยา เช่น

  • ยาต้านการอักเสบเอ็นเสด เพื่อลดอาการปวดที่เล็กน้อยและปานกลาง ซึ่งผลข้างเคียงของยา เช่นปวดท้อง แผลในกระเพาะอาหาร ปัญหาทางตับ และไต
  • ยาแก้ปวด ใช้เพื่อลดอาการปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol)
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ ใช้เพื่อลดการหดเกร็งตึงตัวของกล้ามเนื้อ อาการปวดที่เกิดจากการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ก็จะลดลงได้
  • ใช้ยาหลายๆชนิดร่วมกัน เพื่อลดการปวด และลดการอักเสบ เช่น เอนเสด ร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อ
  • ยาแก้ปวดชนิดแรง (เช่น กลุ่มมอร์ฟีน) ที่มีผลต่อสมองและไขสันหลัง เพื่อลดอาการปวด แต่เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการติดยา และใช้ยาเกินขนาด จึงต้องใช้ยาโดยแพทย์เป็นผู้สั่งเท่านั้น
  • ยาต้านอาการซึมเศร้าบางชนิด (ที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาท) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ
  • ยากันชักบางชนิด (ที่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาท) เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากเส้นประ สาทถูกกดทับ

2.การทำกายภาพบำบัด เพื่อรักษาอาการปวด เช่น การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยการใช้เครื่อง Transcutaneous electrical nerve stimulation (TENS), การนวด, การใช้คลื่น อัลตราซาวด์, การฝังเข็ม (Acupuncture), การดึงขยายข้อต่อกระดูกสันหลัง (Traction ), และการฝึกกล้ามเนื้อหลัง และขาให้มีความแข็งแรง เพื่อให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดี 3. การผ่าตัด จะใช้เมื่อการใช้ยา และการทำกายภาพบำบัดไม่ได้ผล, อาการที่เกิดขึ้นมีผลรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน, และมีการเสียการควบคุมระบบขับถ่าย โดยจุดประสงค์ของการผ่าตัด เพื่อลดการกดทับต่อเส้นประสาทและต่อไขสันหลัง และให้กระดูกสันหลังมีความมั่นคง เป็นการผ่าตัดเพื่อเอากระดูกสันหลังทางด้านหลัง (Lamina) ออก เพื่อลดการกดทับต่อเส้นประ สาท รวมไปถึงการตัดกระดูกที่งอกออก (ถ้ามีกระดูกงอก) และ/หรือการเอาหมอนรองกระดูกสันหลังที่แตก/ที่เสื่อมออก ในผู้ป่วยที่มีการกดทับเส้นประสาทจากหมอนรองกระดูกฯ นอกจาก นั้น การผ่าตัดอาจใช้เทคนิค การผ่าตัดเชื่อมกระดูก (Fusion) ที่พิจารณาในรายที่มีการเสื่อมของกระดูกสันหลังอย่างมาก จนกระดูกสันหลังสูญเสียความมั่นคง และ/หรือในรายที่ผ่าตัดเอากระดูกที่กดทับเส้นประสาทออกแล้ว กระดูกสันหลังสูญเสียความมั่นคง คือ เคลื่อนที่ได้ง่าย 4. การรักษาวิธีการอื่นๆ ได้แก่

  • การออกกำลังกาย คนไข้ส่วนใหญ่จะถูกแนะนำให้ออกกำลังกายเป็นประจำ มีการศึกษาพบว่า การออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นประจำ จะช่วยลดการบาดเจ็บบริเวณหลัง อย่างไรก็ตามควรออกกำลังกายที่ทำให้สนุกสนาน ทำง่าย และเหมาะสมกับอายุและสุขภาพร่างกาย เพื่อจะทำให้ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ และไม่มีผลเสียต่อข้อกระดูกต่างๆ เช่น การว่ายน้ำ การเดินเร็ว การวิ่งเหยาะ
  • การลดน้ำหนัก จะช่วยลดอาการปวดหลังได้ เพราะกระดูกสันหลังไม่ต้องรับน้ำหนักมาก
  • ปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการอื่นๆ เช่น การใช้สายรัดหรือเข็มขัดรัดหน้าท้อง เพื่อช่วยลดอาการปวดหลัง เป็นต้น
[Total: 0 Average: 0]