การรักษา ข้อเสื่อม

1.ถ้ามีอาการปวด ให้พักข้อที่ปวด (เช่น อย่าเดินมาก ยืนมาก หรือเดินขึ้นลงบันได นั่งเหยียดเข่าข้างที่ปวด อย่านั่งงอเข่า) และใช้น้ำแข็งหรือน้ำอุ่นจัด ๆ ประคบ ทานวดด้วยยาต้านอักเสบที่ไม่ใช้สตีรอยด์ (เช่น ไดโคลฟีแนก ไพร็อกซิแคม) ชนิดเจล ถ้ายังปวดให้กิน พาราเซตามอล บรรเทาเป็นครั้งคราว โดยให้ ขนาด 500 มก.1-2 เม็ด ซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง ไม่ควรเกิน 8 เม็ด/วัน และไม่ควรกินติดต่อกันทุกวันนาน ๆ อาจมีผลเสียต่อตับและไตได้

               ในรายที่มีอาการปวดเกร็งกล้ามเนื้อให้ยาคลายกล้ามเนื้อ ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 6-8 ชั่วโมง

                ถ้ามีอาการปวดมาก อาจให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ในขนาดต่ำสุด นาน 3-5 วัน ไม่ควรกินติดต่อกันนาน ๆ และควรระมัดระวังในการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุและผู้ที่เป็นโรคแผลเพ็ปติก ถ้าจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้ติดต่อกันหลายวัน ควรให้ยาป้องกันโรคแผล เพ็ปติก เช่น รานิทิดีน ครั้งละ 300 มก.วันละ 2 ครั้ง หรือโอเมพราโซล ครั้งละ 20 มก.วันละ 2 ครั้ง

2.พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้อาการปวดข้อกำเริบ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเข่า) เช่นห้ามยกของหนัก หรือหาบน้ำ หิ้วน้ำ อย่ายืนนาน อย่านั่งคุกเข่า (นั่งถูพื้นหรือซักผ้า) นั่งพับเพียบ หรือขัดสมาธิ พยายามนั่งบน เก้าอี้หรือนั่งในท่าเหยียดเข่าตรง  เวลาสวดมนต์ ไหว้พระ ฟังเทศน์ หรือประกอบกิจทางศาสนา ควรหลีกเลี่ยงการนั่งงอเข่า ควรนั่งเก้าอี้ หรือยืน

                ควรหลิกเลี่ยงการนั่งซักผ้าในท่างอเข่า และการนั่งสวมซึมแบบยอง ๆ ถ้าเป็นไปได้ควรใช้ส้วมซักโครก หรือใช้เก้าอี้เจาะช่องตรงกลางนั่งคร่อมบนส้วมซึม

                หลีกเลี่ยงการเดินขึ้นลงบันได ถ้าเป็นไปได้ ควรย้ายห้องนอนลงมาชั้นล่าง

                ถ้าพื้นบ้านมีการยกสูงต่างระดับกันทำให้เวลาเดินต้องงอเข่ามาก ก็ควรปรับให้เป็นระดับเดียว

                ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ เช่น หลังจากนั่งทำงานนาน1 ชั่วโมง ควรพัก และลุกขึ้นเดินสัก 2-3 นาที หรือหลังจากยืนนาน ๆ ก็ควรนั่งพักสักครู่สลับกัน

                ถ้าน้ำหนักมาก ควรลดน้ำหนักซึ่งจะช่วยให้อาการปวดทุเลาได้มาก

                ในรายที่มีข้อเข่าหรือข้อสะโพกเสื่อม เวลาเดินควรใส่รองเท้าที่มีคุณสมบัติลดแรงกระแทกเพื่อลดการ บาดเจ็บต่อข้อ

3.พยายามบริหารกล้ามเนื้อที่เคลื่อนไหวข้อให้แข็งแรง เช่น ถ้าปวดหลังก็ให้บริหารกล้ามเนื้อหลัง  ปวดเข่าก็บริหารกล้ามเนื้อต้นขาส่วนหน้า

                การฝึกกล้ามเนื้อควรเริ่มทำเมื่ออาการปวดทุเลาลงแล้ว ระยะแรกฝึกวันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 5-10 นาที จนรู้สึกกล้ามเนื้อแข็งแรงไม่เมื่อยง่าย จึงเพิ่มเป็นวันละ 3-5 ครั้ง

4.ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่ามากหรือบ่อย หรือมีอาการเข่าอ่อน เข่าทรุด ควรใช้ไม้เท้า เครื่องพยุงหรือ กายอุปกรณ์ช่วยเดิน และสร้างราวเกาะในบ้านและในห้องน้ำเพื่อใช้เกาะเดินและพยุงตัวป้องกันการหกล้ม

5.ถ้าอาการไม่ดีขึ้นใน 3-4 สัปดาห์ หรือบวมตามข้อ หรือมีอาการปวดร้าวหรือชาตามแขน (ร่วมกับปวดคอ) หรือขา (ร่วมกับปวดหลัง) ควรแนะนำไปโรงพยาบาล อาจต้องตรวจโดยการเอกซเรย์ดูการเปลี่ยน แปลงของข้อ หากสงสัยว่าเกิดจากโรคอื่น อาจต้องทำการตรวจเลือด และตรวจพิเศษ
อื่น ๆ เพิ่มเติม

การรักษา ในรายที่ปวดรุนแรง แพทย์อาจให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ ถ้ามีข้อห้ามใช้ยากลุ่มนี้ แพทย์อาจให้ยาบรรเทาปวดอื่น ๆ เช่น ทรามาดอล ครั้งละ 50-100 มก.ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง หรืออาจให้ อะมิทริปไทลีน เพื่อบรรเทาปวด
                 หากจำเป็นอาจให้ยากลุ่มอนุพันธ์ฝิ่น ได้แก่ โคเดอีน ครั้งละ 15-30 มก.ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง ยานี้ไม่ควรกินเป็นประจำอาจเสพติดได้
                 ในรายที่มีอาการข้อบวม แพทย์จะทำการดูดน้ำในข้อออก และอาจพิจารณาฉีดสตีรอยด์  เข้าในข้อเป็นครั้งคราว สามารถฉีดซ้ำได้ทุก 4-6 เดือน (ไม่ควรเกินปีละ 2-3 ครั้ง อาจทำให้กระดูกเสื่อมหรือสลายตัวเร็วขึ้น)
                  นอกจากนี้ แพทย์อาจให้การรักษาอื่น ๆ เช่นการทำกายภาพบำบัด การฝังเข็ม การให้กินยากลูโคซามีน (glucosamine) 1,500 มก./วัน ซึ่งมีฤทธิ์ในการกระตุ้น การสร้างกระดูกอ่อนที่ผิวข้อ การฉีดสารไฮยาลูโรเนต (hyaluronate ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่ในน้ำในข้อ) 1 ครั้ง/    สัปดาห์ จำนวน 3-5 ครั้ง
                  วิธีเหล่านี้มีส่วนในการบรรเทาอาการปวดข้อ แต่มักจะกำเริบอีก และอาจต้องให้การรักษาเป็นระยะ ๆ ตามความรุนแรงของโรค
                  ในรายที่มีข้อเข่าเสื่อมรุนแรง จนไม่สามารถทำงานหรือทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ หรือข้อเข่าผิดรูป เช่น ขาโก่ง โค้งงอ แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดซึ่งมีอยู่หลายวิธี ซึ่งแพทย์จะเลือกให้เหมาะกับอายุ ความรุนแรง และลักษระการใช้งานข้อเข่า เช่นการผ่าตัดโดยการใช้กล้องส่องเพื่อล้างข้อและซ่อมแซมผิวข้อ (arthroscopic larvage amd debridement) ในผู้ป่วยที่เข่าเสื่อมไม่มาก การผ่าตัดจัดแนวรับน้ำหนักของข้อเข่าใหม่ (osteotomy) ในผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 60 ปี ที่ข้อเข่าผิดรูป การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม (joint replacement)ซึ่งนิยมทำในผู้ป่วยที่ข้อเข่าเสื่อมรุนแรง หรือผิดรูปมาก

                   สำหรับข้อสะโพกเสื่อมก็มีการผ่าตัดจัดแนวรับ น้ำหนักใหม่ และการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม

                   การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมช่วยให้ผู้ป่วยหายปวด สามารถเคลื่อนไหวข้อและเดินได้เป็นปกติ ในปัจจุบัน  มีการพัฒนาข้อเข่าเทียมที่สามารถงอเหยียด และเคลื่อน ไหวข้อเข่าได้ใกล้เคียงกับข้อเข่าจริง ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนคนที่แข็งแรงทั่วไป

                 อย่างไรก็ตาม ก็ต้องระวังดูแลข้อเข่าเทียม โดยไม่ใช้งานหนักเกิน หลีกเลี่ยงการยกของหนักเป็นเวลานาน ๆ การแบกหาม การเดินไกล ๆ และการงอเข่ามาก ๆ และควรควบคุมน้ำหนัก มิเช่นนั้นข้อเข่าเทียมก็อาจชำรุดและใช้งานไม่ได้ในเวลาที่สั้นกว่าควรจะเป็น (ปกติข้อเข่าเทียมมีอายุการใช้งานประมาณ 8-15 ปี)

[Total: 0 Average: 0]