มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นมะเร็งของลิมโฟไซต์  ซึ่งเกิดขึ้นที่ต่อมน้ำเหลือง (lumph node) หรือเนื้อเยื่อน้ำเหลือง (lymphoid tissue) ตรงส่วนใดส่วนหนึ่งของร่ายกาย และอาจแพร่กระจายไปยังไขกระดูก ม้าม และ อวัยวะต่าง ๆ

                 โรคนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ กลุ่มโรค ฮอดคินส์ (Hodgkin’s disease) กับกลุ่มไม่ใช่ฮอดคินส์ (non Hodgkin’s lymphoma/NHL) มักพบกลุ่มหลัง มากกว่ากลุ่มแรก แต่ละกลุ่มยังแบ่งย่อยออกเป็นอีกหลายชนิด

กลุ่มโรคฮอดคินส์ พบในช่วงอายุ 15-34 ปี และมากกว่า 60 ปี พบน้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี

กลุ่มไม่ใช่อฮอดคินส์ มีอยู่มากกว่า 20 ชนิด มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ รวมทั้งผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยที่ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ

สาเหตุ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

กลุ่มโรคฮอดคินส์ ส่วใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ ในผู้ป่วยบางรายพบว่ามีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสอีบีวี (EBV หรือ Epstein-Barr virus) ทำให้ลิมโฟไซต์ ชนิดบีกลายเป็นเซลล์มะเร็งที่มีชื่อว่า Reed-sternberg Cell

กลุ่มไม่ใช่อฮอดคินส์ ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ มี หลักฐานพบว่ามีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสบาง ชนิด เช่น เชื้อไวรัสเอชทีแอลวี -1 (HTLV-1) เชื้อไวรัส  อีบีวี (ซึ่งเกี่ยวกับการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่มี ชื่อว่า Burkitt’s lymphoma)

อาการ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

อาการที่โดดเด่น คือ มีก้อนบวม (ของต่อมน้ำเหลือง) ที่ข้างคอนานเป็นสัปดาห์ๆ หรือเป็นแรมเดือนโดยไม่รู้สึกเจ็บ บางรายอาจมีก้อนที่รักแร้หรือขาหนีบบางรายอาจมีก้อนขึ้นพร้อมกันหลายแห่ง

 ผู้ป่วยอาจมีอาการที่เกิดจากก้อนมะเร็งต่อมน้ำเหลืองกดถูกอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย เช่น ถ้าเกิดใน ช่องอก ทำให้มีอาการไอ เจ็บแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หน้าบวม คอบวม แขนบวม ถ้าเกิดในช่องท้อง ทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก เบื่ออาหาร ดีซ่าน ถ้าเกิดในลำไส้เล็กทำให้มีอาการน้ำหนักลด ท้องเดิน ลำไส้ ไม่ดูดซึมอาหาร ถ้าเกิดที่ขาหนีบอาจมีอาการขาบวมจากภาวะอุดกั้นทางเดินน้ำเหลือง ถ้าเกิดในสมอง ไขสันหลัง หรือระบบประสาท ก็ทำให้มีอาการแขนขาชาหรืออ่อนแรง เป็นต้น

 บางรายอาจมีไข่เรื้อรังโดยตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ อื่น ๆ หรืออาจมีไข้สูงอยู่หลายวันสลับกับไม่มีไข้หลายวัน อาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด เหงื่ออกตอนกลางคืน  หนาวสั่น หรือคันตามผิวหนัง

ในระยะต่อมา (เมื่อมะเร็งลุกลามเข้าไปในไขกระดูก ทำให้ไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ได้) ผู้ป่วยจะมีอาการซีด มีจุดแดงจ้ำเขียวตามตัว และติดเชื้อง่าย

การรักษา มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

หากสงสัยควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็วแพทย์จะวินิจฉัยโดยการตัดต่อมน้ำเหลืองนำไปตรวจชิ้นเนื้อ (lymph node biopsy) ซึ่งจะพบลักษณะ ของเซลล์มที่เป็นมะเร็ง สำหรับโรคฮอดคินส์จะพบเซลล์มะเร็งที่เรียกว่า Reed-Sternberg cell

นอกจากนี้อาจทำการตรวจเลือด ตรวจไขกระดูก ถ่ายภาพทรวงอกและช่องท้องด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เจาะหลัง และทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ เพื่อประเมินภาวะแทรกซ้อนและระยะของโรค

การรักษา แพทย์จะทำการรักษาด้วยรังสีบำบัด หรือเคมีบำบัด หรือร่วมกันทั้ง 2 อย่าง ขึ้นกับชนิดและระยะของโรค เช่น ในรายที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เฉพาะที่ระยะแรกเริ่มและเป็นชนิดไม่รุนแรง ก็สามารถให้รังสีบำบัดเพียงอย่างเดียว ส่วนในรายที่เป็นชนิดรุนแรงหรือระยะท้าย ๆ ก็จำเป็นต้องให้เคมีบำบัดร่วมกับรังสีบำบัด

นอกจากนี้ยังอาจให้ยาอื่น ๆ เสริม เช่น เพร็ดนิโซโลน สารภูมิต้านทานกลุ่ม monoclonal antibody ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดเป็นต้น

 ในรายที่มีการเกิดโรคกลับ (relapse) แพทย์จะให้เคมีบำบัดด้วยขนาดยาที่สูง และทำการปลูกถ่ายเซลล์ ต้นกำเนิด ก็มักช่วยให้มีชีวิตยืนยาวขึ้นหรือหายได้

ผลการรักษา ขึ้นกับชนิดของมะเร็ง ระยะของโรคและสภาพของผู้ป่วย ดังนี้

  • สำหรับโรคฮอดคินส์ระยะแรก ๆ การรักษาช่วยให้หายจากโรคร้อยละ 80 และมีชีวิตอยู่รอดเกิน 10 ปี มากกว่าร้อยละ 80 ส่วนโรคฮอดคินส์ระยะท้าย ๆ มี โอกาสหายร้อยละ 50-70 และมีชีวิตอยู่รอดเกิน 5 ปี ร้อยละ 50-60
  • สำหรับกลุ่มไม่ใช่ฮอดคินส์ สำหรับชนิดที่ลุกลามช้า (indolent) สามารถรักษาให้โรคสงบและมีชีวิตอยู่รอดได้นาน แต่มักไม่หายขาดและอาจมีการเกิดโรคกลับได้อีก ส่วนชนิดที่รุนแรง (aggressive และ highly aggressive) การรักษาอย่างจริงจังจะช่วยให้โรคสงบ และมีโอกาสหายได้มากว่าชนิดที่ลุกลามช้า

 สำหรับกลุ่มไม่ใช่ฮอดคินส์ชนิดที่ลุกลามช้าถ้าเป็นระยะแรก ๆ การให้รังสีบำบัดจะช่วยให้โรคสงบ และหายได้ประมาณร้อยละ 20-30 ถ้าเป็นระยะท้าย ๆ แพทย์มักจะไม่ให้การรักษาด้วยเคมีบำบัดและรังสีบำบัด (เนื่องจากไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าการรักษาสามารถช่วยยืดอายุได้มากขึ้น) และเฝ้าติดตามดูอาการและภาวะแทรกซ้อน แต่ถ้าโรคเริ่มมีการลุกลามเร็วขึ้นก็จะให้เคมีบำบัด ซึ่งจะช่วยให้โรคสงบนาน 2-4 ปี

 สำหรับกลุ่มไม่ใช่ฮอดคินส์ชนิดที่รุนแรง ถ้า เป็นระยะแรก ๆ แพทย์จะให้เคมีบำบัดร่วมกับรังสีบำบัด ซึ่งจะช่วยให้โรคหายได้ร้อยละ 70-90 ถ้าเป็นระยะท้าย ๆ แพทย์จะให้เคมีบำบัดด้วยยาหลายชนิดร่วมกัน ซึ่งช่วย ให้โรคหายได้ร้อยละ 50 แต่จะมีผลข้างเคียงทำให้เม็ด เลือดชนิดต่าง ๆ ลดจำนวนลง วิธีแก้ไขก็คือการให้ยา กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือด (ได้แก่ groeth factors) แก่ผู้ป่วย


[Total: 1 Average: 5]