โรคลิ้นหัวใจตีบ

โรคลิ้นหัวใจตีบ ตือ เลือดจะไหลผ่านลิ้นหัวใจได้ลำบาก ในผู้สูงอายุสาเหตุเกิดจากความเสื่อมของร่างกาย เนื่องจากลิ้นหัวใจเป็นอวัยวะที่เคลื่อนไหวและรับแรงดันจากเลือดตลอดเวลา ดังนั้นจึงเกิดการเสื่อมขึ้นอาจมีหินปูนเกาะที่ลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจหนาขึ้นและเปิดได้น้อยลง

ในอดีตมักพบว่าโรคลิ้นหัวใจตีบ เกิดจากโรครูห์มาติค ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอายุไม่มาก แต่ในปัจจุบันโรคนี้มักเกิดจากการเสื่อมสภาพของลิ้นหัวใจ ยิ่งผู้ป่วยมีอายุมากขึ้นเท่าไร อุบัติการณ์ของโรคลิ้นหัวใจตีบก็จะสูงขึ้นเท่านั้น โดยสถิติแล้วเมื่อผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจตีบมีสภาวะหัวใจล้มเหลว จะมีโอกาสเสียชีวิตภายใน 2 ปี สูงถึง 50%

สาเหตุ โรคลิ้นหัวใจตีบ

  1. เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิดที่ก่อให้เกิดไข้ ข้ออักเสบ เกิดผื่นตามตัว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เชื้อเข้าสู่หัวใจ ส่งผลทำให้ลิ้นหัวใจติดเชื้อ และเกิดอาการของลิ้นหัวใจอักเสบ และพองตัวหนา ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
  2. เกิดจากความผิดปกติที่มาแต่กำเนิดซึ่งอาจมีสาเหตุจากหลายปัจจัยขณะตั้งครรภ์หรืออาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม
  3. เกิดจากร่างกายได้รับหินปูนมาก ทำให้บางส่วนไปเกาะตามลิ้นหัวใจมากเกินปกติจนทำให้ลิ้นหัวไม่ทำงานหรือทำงานได้ไม่ตามปกติ
  4. เกิดจากการเสื่อมของลิ้นหัวใจตามอายุการทำงาน ซึ่งมักเกิดกับผู้มีอายุมากแล้ว ร่วมด้วยสาเหตุอื่นๆ เช่น การบวมโตของลิ้นหัวใจ และการมีหินปูนมาเกาะบริเวณลิ้นหัวใจ

อาการ โรคลิ้นหัวใจตีบ

ผู้ป่วยจะเกิดอาการเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก ใจสั่น ขาบวม ตามมาด้วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ เสียงฟู่บริเวณลิ้นหัวใจ จนถึงขั้นเป็นลมหมดสติบ่อย ๆ ยิ่งลิ้นหัวใจตีบมากหัวใจก็ยิ่งไม่สามารถจะบีบเลือดออกสู่ร่างกายได้ ทำให้เกิดภาวะเลือดคั่งและหัวใจล้มเหลวในที่สุด หรือภาวะน้ำท่วมปอดนั่นเอง

การรักษา โรคลิ้นหัวใจตีบ

สำหรับวิธีการรักษานั้น วิธีรักษาโรคลิ้นหัวตีบที่เป็นมาตรฐานทั่วโลกคือ การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เป็นการรักษาที่ได้ผลดีเยี่ยม ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตเพียง 1–2% เท่านั้น อย่างไรก็ตามยังมีผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจตีบรุนแรงจำนวนหนึ่ง ที่ไม่เหมาะกับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เช่น ผู้ป่วยที่มีอายุมาก ๆ หรือผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดในช่องอกมาก่อน รวมทั้งผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายโรค ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีโอกาสเสียชีวิตจากการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจได้สูงถึง 20% หรือมากกว่า เป็นเหตุให้ผู้ป่วยหลายรายมักจะไม่ได้รับการส่งต่อไปยังศัลยแพทย์หรือหมอผ่าตัด หรือไม่ก็ถูกปฏิเสธการผ่าตัดไปเสียก่อน เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงเพราะหัวใจที่ต้องบีบเลือดผ่านลิ้นหัวใจที่ตีบจะค่อย ๆ ล้มเหลว และผู้ป่วยจะเสียชีวิตในที่สุด 

โรคนี้ถือเป็นภัยเงียบ ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อยจะไม่แสดงอาการ จนกว่าหัวใจจะทนรับกับปริมาณเลือดที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาและเสียชีวิตในที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที 

[Total: 0 Average: 0]