อาการ ไข้หวัดใหญ่

มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการไข้สูง หนาว ๆ ร้อน ๆ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก (โดยเฉพาะที่กระ-เบนเหน็บ ต้นแขนต้นขา) ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ขมในคอ อาจมีอาการเจ็บในคอ คัดจมูก น้ำมูก ใส ไอแห้ง ๆ จุกแน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน แต่บางรายก็อาจไม่มีอาการคัดจมูก หรือเป็นหวัดเลยก็ได้ มีข้อสังเกตว่า ไข้หวัดใหญ่มักเป็นหวัดน้อย แต่ไข้หวัดน้อยมักเป็นหวัดมาก อาการไข้จะเป็นอยู่ประมาณ 1-7 วัน (ที่พบบ่อยคือ 3-5 วัน) อาการไอ และอ่อนเพลีย อาจเป็นอยู่ 1-4 สัปดาห์ แม้ว่าอาการอื่น ๆ จะทุเลาแล้วก็ตาม

บางรายเมื่อหายจากไข้หวัดใหญ่แล้วอาจมีอาการบ้านหมุน เนื่องจากอาการอักเสบของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน

ในรายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการแสดงของภาวะ แทรกซ้อน เช่น มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือสีเขียวปวดหู หูอื้อ หายใจหอบเหนื่อย เป็นต้น

สิ่งตรวจพบ ไข้หวัดใหญ่

ไข้ 38.5-40 องศาเซลเซียล หน้าแดง เปลือกตาแดง อาจมีน้ำมูกใส คอแดงเล็กน้อยหรือไม่แดงเลย (ทั้ง ๆที่ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บคอ)

ส่วนมากมักตรวจไม่พบอาการผิดปกติอื่น ๆ ยก เว้นในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน ก็อาจตรวจพบอาการของภาวะแทรกซ้อน เช่น ฟังปอดได้ยินเสียงกรอบแกรบ (crepitation) ในผู้ที่เป็นปอดอักเสบ เสียงอึ๊ด (rhonchi) ในผู้ที่เป็นหลอดลมอักเสบ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน ไข้หวัดใหญ่

ส่วนมากจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน ส่วนน้อยอาจมีภาวะแทรกซ้อน ที่พบได้บ่อยได้แก่ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบหูชั้นในอักเสบ หลอดลมอักเสบ หลอดลมพอง 

ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ปอดอักเสบ ซึ่ง  มักเกิดจากแบคทีเรียพวกนิวโมค็อกคัส หรือสแตฟี- โลค็อกคัส (เชื้อชนิดหลังนี้มักจะทำให้เป็นปอดอักเสบร้ายแรงถึงตายได้) บางรายก็อาจจะเกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่นอกจากนี้ยังอาจพบภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) สมองอักเสบ หลอดเลือดดำอักเสบร่วม กับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน (thrombophlebitis) เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง (เช่น ปอดอักเสบ) มักจะ เกิดในผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก (ต่ำกว่า 2 ขวบ) ผู้สูงอายุ (มากกว่า 65 ปี ) หญิงตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ผู้ที่สูบบุหรี่จัด คนอ้วน ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน โรค หืด โรคเรื้อรังทางปอดหรือหัวใจ ไตวายเรื้อรัง โรคตับเรื้อรัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุมกันต่ำ

[Total: 0 Average: 0]