แอสเพอร์เกอร์: เจาะลึกซีรีย์ Atypical ผ่านโรคนี้

7 อาการโรคกระเพราะปัสสาวะอักเสบ เฝ้าระวัง

Atypical จาก Netflix ซีรีส์เล่าชีวิตของแซม (เคียร์ กิลคริสต์) เด็กแอสเพอร์เกอร์ไฮสคูล ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ อยากรู้อยากลอง ไม่ว่าจะเรื่องความรัก หรือเรื่องทางเพศ ฯลฯ เขาอยู่กับพ่อแม่น้องสาวและเต่าที่รัก (สิ่งมีชีวิตเดียวที่เขาอนุญาตให้อยู่ร่วมห้องได้) แซมต้องรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ทุกสัปดาห์ บางทีก็ปรึกษาเพื่อนซี้เพียงคนเดียวที่คอยสอนเรื่องทะลึ่งตึงตังแบบที่คนอื่นไม่เคยสอน นอกจากซีรีส์จะพาคนดูเข้าไปฟังเสียงในหัวแซมแล้ว ยังพาไปสังเกตพฤติกรรมน่าเอ็นดูและน่าละเหี่ยใจแบบเด็กแอสเพอร์เกอร์ของแซมด้วย พร้อมกับเล่าพฤติกรรมคนรอบข้างที่พร้อมบ้างไม่พร้อมบ้างต่อการรับมือกับแซม รวมถึงคนแปลกหน้าที่แวะเวียนผ่านเข้ามาที่มีทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจแซม แล้วผู้คนเหล่านี้ส่งผลอย่างไรต่อเด็กแอสเพอร์เกอร์แบบแซม

ไวต่อเสียง ไวต่อแสง และไวต่อกลิ่น

แซม: “ผมอยู่ในที่ไม่คุ้นและเสียงดังไม่ได้ มันทำให้ผมคิดไม่ออก ฟังไม่รู้เรื่อง ผมจะนิ่งแหง่กไปเฉยๆ เลย”

งานวิจัยระบุว่าไม่ใช่เด็กแอสเพอร์เกอร์ทุกคนจะมีเซนส์แรงเกี่ยวกับแสง เสียง กลิ่น แต่เด็กแอสเพอร์เกอร์ส่วนใหญ่มักจะเป็นกัน แต่มีเหมือนกันที่ไม่ตอบสนองต่อเสียงใดใดเลย ในเรื่องนี้ปัญหาหลักในการเข้าสังคม หรือไปทำกิจกรรมนอกบ้านของแซมคือ เขาจะไวต่อเสียง แสง และกลิ่นเป็นอย่างมาก อุปกรณ์จำเป็นของเขาคือเฮดโฟนเพื่อซับเสียงอันดังเกินไปจากโลกภายนอก

เมินเฉย เชิดใส่ ไม่ชอบให้คนสัมผัสตัว โดยเฉพาะคนแปลกหน้า แต่ถ้าอยากกอดเขา คุณต้องกอดแน่นๆ

น้องสาว: (หลังจากตวาดใส่แซมไป แซมเริ่มยืนนิ่ง และจิกทึ้งผมตัวเองถี่ๆ) เฮ้ ไม่เป็นไรนะ (ก่อนที่เธอจะอ้อมไปกอดแซมจากด้านหลัง) ไม่เป็นไรนะ ไม่เห็นต้องรู้สึกแย่เลย โอเคนะ (แซมยังคงทึ้งผมตัวเองแต่ความถี่ต่ำลง) กอดแน่นกว่านี้หรือให้คลายลง
แซม: แน่นขึ้น
น้องสาว: (กอดแซมแน่นกว่าเดิม) โอเค (แซมถอนหายใจเฮือกใหญ่) ดีขึ้นไหม (แซมพยักหน้า)

พฤติกรรมกวนบาทาวอนเท้าลำดับต้นๆ ในสายตาคนอื่นคือ เด็กแอสเพอร์เกอร์ไม่สบตาคนอื่น ถ้าพูดด้วย เขาก็อาจจะมองเมิน เชิดใส่แล้วผละจากไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งซีรีส์นี้แสดงให้เห็นทุกครั้งจนกลายเป็นมุขตลกประจำตัวแซมไปแล้ว แรกๆ ผู้ชมอาจจะเหวอหรือหงุดหงิดแซม แต่เมื่อทำความเข้าใจได้แล้ว จะรู้ว่าเขาเกิดมาเป็นแบบนี้เอง หรือถ้าคุณอยากแสดงความเห็นอกเห็นใจเขาด้วยการกอด เขาก็อาจระเบิดความหงุดหงิดใส่คุณ แม้แต่คนในบ้าน แซมยังไม่ชอบให้โดนเนื้อตัวเลย นับประสาอะไรกับคนแปลกหน้า แต่ถ้าอยากจะกอดเขา จงคุยกับเขาว่าเขาต้องการหรือไม่และอย่างไร เพราะเด็กแอสเพอร์เกอร์ที่ถูกฝึกมาแล้ว จะเข้าใจความรู้สึกของการกอดที่แน่นมากพอ

เผลอใช้ความรุนแรงโดยไม่รู้ตัว

แซม: “จูเลีย (จิตแพทย์) บอกว่าผมต้องหัดซื้อของเองบ้างแล้ว ถ้าวันหนึ่งผมต้องออกไปอยู่คนเดียว”
แม่: “แต่ครั้งล่าสุดที่เราไปห้างกัน ทุกอย่างมันเละเทะไปหมด ทั้งเสียง ทั้งแสงพวกนั้นอีก ไหนจะน้ำพุแย่ๆ นั่น ไอ้ที่มันพุ่งหันไปหันมาได้น่ะ”
แซม: “ผมเกลียดน้ำพุนั่น”
แม่: “ใช่ไหมล่ะ แล้วลูกก็เดือดหัวฟัดหัวเหวี่ยง จำได้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น”
แซม: (พยักหน้า) “ผมตบผู้ชายใจดีที่ร้านแพนด้าเอ็กซ์เพรสคนนั้น แล้วเราก็ถูกแบนห้ามเข้าที่นั่นตลอดกาล”

หลายคนมักประเมินชาวแอสเพอร์เกอร์ว่าเป็นพวกหัวรุนแรง ถ้าฉาบฉวยตัดสินจากการแสดงออกของพวกเขา ก็คงจะใช่ แต่ถ้ามองลึกลงไป ในซีรีส์แสดงให้เห็นในหลายๆ ตอนว่า ทุกครั้งของพฤติกรรมรุนแรงของแซมล้วนมีสาเหตุ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่คนทั่วไปไม่เข้าใจ เช่น ที่นั่นเปิดแสงวูบวาบวิบวับมากไป น้ำพุหันไปหันมาทำให้มึนงง เสียงพูดคุยเอะอะ คำบางคำที่กระทบจิตใจ หรือแม้แต่การสัมผัสจากคนแปลกหน้า แซมจะทำตัวไม่ถูกว่าควรตอบสนองอย่างไร ที่เขาตะโกน หงุดหงิด หัวฟัดหัวเหวี่ยง หรือปัดตบออกแรงๆ เพราะแซมแค่ควบคุมสถานการณ์หรือคนรอบข้างไม่ได้ เขาแค่ต้องการจะให้สิ่งนั้น หรือสถานการณ์นั้นหยุดลงชั่วครู่เท่านั้น ให้โอกาสเขาสักนิด ฟังเขาสักหน่อย แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจ บางเหตุการณ์ลามเลยไปถึงบูลลีใส่แซมแรงๆ ก็มี

หมกมุ่นในบางสิ่งอย่างจริงจัง

แซม: “ผมอยากไปขั้วโลกใต้ ที่นั่นเงียบดี ยกเว้นตรงที่เพนกวินผสมพันธุ์กันอ่ะนะ ตรงนั้นคงไม่เงียบแหงๆ… ขั้วโลกใต้เป็นทวีปที่ห่างไกลที่สุดในโลก แม้จะมีน้ำแข็ง 90% ของทั้งโลก แต่ถือว่าที่นั่นแห้งแล้ง เพราะปริมาณน้ำฝนประจำปีวัดได้แค่แปดนิ้ว แต่เวลาคุณเห็นภาพขั้วโลกใต้ คุณจะนึกไม่ถึงว่ามันแห้งแล้ง ผมถึงชอบมัน… มันไม่เหมือนอย่างรูปลักษณ์ที่เห็นภายนอก”

ทุกตอนสิ่งที่แซมจะพล่ามพูดใส่ทุกคนรอบข้าง คือเรื่องราวต่างๆ ในแอนตาร์กติกา เขาจะหมกมุ่น ใส่ใจ จดจำรายละเอียดยิบย่อยต่างๆ ได้อย่างถ่องแท้ มีมุมมองแปลกใหม่ ช่างคิดเกี่ยวกับขั้วโลกใต้ ที่ตัวซีรีส์นอกจากจะใช้แสดงให้เห็นพฤติกรรมประหลาดของแซมแล้ว บ่อยครั้งมันยังสื่อถึงโลกที่แซมใฝ่ฝัน เนื้อแท้ตัวตนของเขาที่อยากให้คนอื่นเข้าใจ รวมถึงบางครั้งก็เป็นที่คุ้มภัยกระโจนเข้าหลบลี้ในยามวิตกหรือหวาดกลัว เขาจะเพ้อพล่ามพูดซ้ำๆ เกี่ยวกับนกเพนกวิน ซึ่งน่าสนใจมากเมื่อซีรีส์ได้แสดงให้คนดูเห็นอีกด้านหนึ่งด้วยว่า การที่แซมหมกมุ่นในสิ่งที่คนอื่นไม่แยแส สุดท้ายแล้วความหมกมุ่นนี้ก็ส่งผลให้เขามีผลงานสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปะ และผลงานของเขาคือสารพัดสิ่งเกี่ยวกับขั้วโลกใต้ที่เขารู้จักดี

เถรตรง และมักพูดความจริงที่ไม่สมควรพูด

แม่: วันนี้ไปคุยกับจิตแพทย์มาเป็นไงบ้าง
แซม: เธออยากให้ผมบริจาคสมอง แต่ไม่ต้องห่วง ตอนผมตายน่ะ
พ่อ: (พยายามหาวิธีคุยกับแซมแต่มักถูกเชิดใส่) เพื่อเอาไปวิจัยหรือ เจ๋งดีนี่
แม่: ไม่มีทาง (มองหน้าแซมแล้วพูดช้าๆ ชัดๆ) ไปบอกเธอว่าขอบคุณ แต่ไม่ล่ะ
แซม: โอเค ผมไม่สนหรอกว่าจะเกิดอะไรกับสมองที่ตายแล้วของผม ถ้าไม่ให้หมอไปก็ปล่อยให้หนอนแทะไป ใครจะไปสน ตอนนั้นผมม่องเท่งไปแล้ว
แม่: หยุดพูดเรื่องตายได้ไหม ลูกจะไม่จากไปที่ไหนทั้งนั้นแหละ
แซม: หมอเสนอว่าผมน่าจะมีแฟน และหาใครสักคนมาร่วมเพศด้วย เธอไม่ได้พูดเรื่องร่วมเพศหรอกนะ ผมเติมเอง

เพราะในหัวของแซมคิดตามลำดับอย่างซับซ้อนว่า ถ้ามีแฟนก็ต้องตามมาด้วยการร่วมเพศ แม้ว่าจิตแพทย์ของเขาจะไม่ได้คุยถึงเรื่องร่วมเพศ แต่ในสมองของแซม สองเรื่องนี้เกี่ยวโยงกัน และนี่เป็นตัวอย่างเบาะๆ ที่แซมมักจะเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาผูกโยงกัน บ่อยครั้งคนอื่นจึงตีความว่าแซมล้มเหลวในการตีความ แต่อย่างที่เราบอกไปว่าเพราะแซมหมกมุ่นกับขั้วโลกใต้ และเพนกวิน แฟนตาซีเรื่องความรักในหัวของแซม จึงเกี่ยวพันกับความจริงของเพนกวินที่แซมเข้าใจว่า รักคือทำรัก (อันหมายถึงการผสมพันธุ์) แต่การพูดความจริงเถรตรงเกินไป ไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่พึงพอใจ และหลายครั้งแซมก็เจอปัญหาจากคำพูดตรงไปตรงมา

โรเบีย ราชิด สาวลูกครึ่งอเมริกันปากีสถาน โชว์รันเนอร์ผู้ครีเอตโปรเจกต์ซีรีส์นี้ขึ้นมาด้วยไอเดียว่า “หลังจากทำงานให้ช่องทีวีมาหลายปี ฉันอยากทำอะไรแบบที่อยากทำจริงๆ สักที แล้วก็พบว่าเด็กวัยรุ่นยุคใหม่ถูกประเมินว่ามีความเนิร์ดเฮี้ยนมีอาการมากน้อยบนสเปกตรัมออทิสติกแตกต่างกันไป และพวกเขาอยากเป็นตัวของตัวเอง ไม่พึ่งพาใคร มันน่าจะเจ๋งดีที่จะเล่าเรื่องนัดเดตของเด็กยุคนี้ วัยรุ่นที่อยากปลดแอกจากพวกผู้ใหญ่ ไขว่คว้าความรัก แต่ไม่เคยมีเรื่องไหนที่มีมุมมองเฉพาะเจาะจงไปที่กลุ่มเด็กแอสเพอร์เกอร์แบบนี้เป็นแน่ แต่มันเป็นงานที่หนักมาก ฉันต้องทำรีเสิร์ชเยอะมาก จุดพลิกผันอยู่ตรงฉันอยากให้แซมเป็นคนเล่าเรื่องจากเสียงในหัวของเขาเอง แต่นอกจากจะทำให้เรื่องราบรื่นขึ้นแล้ว มันยังทำให้เรื่องเล่ายากขึ้นด้วย เพราะแซมไม่สามารถสื่อสารได้อย่างคนทั่วไป เนื่องจากพฤติกรรมของแซมไม่สามารถเล่าได้ด้วยคำพูดเท่านั้น คือคุณต้องเห็นภาพด้วยถึงจะเก็ต เหมือนฉันต้องโดดเข้าไปในสมองของแซม พูดในสิ่งที่แซมหมกมุ่นในแบบที่แซมเป็น กลายเป็นว่าตอนนี้ฉันเป็นพวกเนิร์ดเกี่ยวกับขั้วโลกใต้ไปแล้ว (หัวเราะ)”

“ฉันรีเสิร์ชคนกลุ่มออทิสติกหลายคน ใช่ แต่ฉันต้องการปกป้องความเป็นส่วนตัวของพวกเขาด้วย เพราะชาวออทิสติกหวงแหนพื้นที่ส่วนตัวอย่างมาก เรื่องของแซมแตกต่างจากชีวิตจริงของกลุ่มคนที่ฉันทำรีเสิร์ช ซึ่งช่วยฉันได้เยอะในการหยิบสิ่งที่พวกเขาคิดขึ้นมาเขียน เอามาคิดต่อไปถึงผลกระทบต่อตัวละครแวดล้อม ว่าพวกเขาจะตอบสนองอย่างไรกับคำพูดแบบนั้นหรือพฤติกรรมแบบนี้ของแซม ทุกเม็ดของการเขียนบท ฉันต้องตระหนักอยู่เสมอว่าจะไม่ไปทำร้ายจิตใจใครเข้า ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เรามีมุกตลกมากมายในเรื่อง แต่ต้องคิดถี่ถ้วนว่ามุกนั้นมันจะกระเทือนจิตใจคนกลุ่มนี้หรือใครไหม ซึ่งกลายเป็นว่าความระมัดระวังตรงนี้ส่งผลให้บทแหลมคมขึ้น สะเทือนใจมากขึ้นด้วย”

นักแสดงหนุ่มวัย 27 ที่ต้องมารับบทแซม เด็กแอสเพอร์เกอร์วัยมัธยม ที่มีวิธีสื่อสารเฉพาะตัว กิลคริสต์เล่าว่า “ผมขอยกความดีความชอบให้โรเบียเลยแล้วกัน เพราะเธอเขียนสคริปต์ เราคุยกันเยอะมากจากนั้นผมก็ทำรีเสิร์ช ดูหนังกับอ่านหนังสือหลายเรื่องมาก แล้วเราก็มีที่ปรึกษาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านออทิสติก คือถ้าตรงไหนไม่แน่ใจ ก็จะปรึกษาพวกเขาว่าควรจะแสดงออกมาอย่างไร แต่แซมไม่ใช่ตัวแทนถึงชาวแอสเพอร์เกอร์ทุกคน เขาเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในกลุ่มคนนี้ มีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก เป็นบทที่ต้องใช้พลังอย่างมาก เพราะวิธีคิดของแซมปรู๊ดปร๊าดมาก ตอนทำงานผมต้องคิดหาวิธีแสดงที่ขัดแย้งต่อสัญชาติญาณของตัวเอง เพราะชาวแอสเพอร์เกอร์มีรูปแบบการแสดงสีหน้าต่างจากคนทั่วไป ขณะเมาท์กันเรื่องหนุกๆ เขาอาจจะทำหน้านิ่งซึมๆ ไม่ใช่พวกเขาหัวเราะไม่เป็น แต่เขาจะหัวเราะให้กับเรื่องสนุกที่คนอื่นอาจไม่สนุกด้วย เช่นเดียวกัน เรื่องที่คนอื่นสนุกมันอาจไม่สนุกสำหรับเขา”

[Total: 10 Average: 5]

One thought on “แอสเพอร์เกอร์: เจาะลึกซีรีย์ Atypical ผ่านโรคนี้

Leave a Reply

Discover more from HEALTH ME NOW

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading