ทำความรู้จัก “โรคขาดผู้ชายไม่ได้” หรือ “โรคนิมโฟมาเนีย” (Nymphomania) ไม่ใช่ “โรคฮิสทีเรีย” อย่างที่เข้าใจผิดๆ ซึ่งเป็นอาการป่วยทางจิตประเภทหนึ่งที่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมทางเพศได้
หลายคนอาจจะคุ้นเคยหรือได้ยินคำว่า “โรคฮิสทีเรีย” และเข้าใจว่าเป็น “โรคขาดผู้ชายไม่ได้” แต่แท้จริงแล้วนั้น เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะฮิสทีเรีย ลักษณะจะมีอาการชอบทำตัวเด่น เรียกร้องความสนใจ เมื่อแสดงอาการแบบนี้ออกไปให้เพศตรงข้ามเห็น จึงทำให้ดูเหมือนคนยั่วยวน ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
แต่โรคที่มีความต้องการทางเพศสูงที่จริงแล้วเรียกว่า “โรคนิมโฟมาเนีย” (Nymphomania) ซึ่งเป็นอาการป่วยทางจิตประเภทหนึ่ง ที่ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติในการควบคุมพฤติกรรมในเรื่องเพศ ร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดความต้องการทางเพศมากกว่าปกติ หรือเรียกอีกอย่างว่า “เสพติดการมีเพศสัมพันธ์” (sexual addiction) แต่นิมโฟมาเนียเป็นชื่อโรคที่เอาไว้เรียกสำหรับเพศหญิงหรือผู้ที่มีรสนิยมรักร่วมเพศ หากเป็นเพศชายจะเรียกว่า โรคสไตเรียซิส (satyriasis)
“โรคนิมโฟมาเนีย” มี 4 ประเภท
1.แบบใคร่ไม่รู้อิ่ม (Hypersexuality) ซึ่งเป็นอาการหลักๆ ของผู้ป่วยนิมโฟมาเนีย
2.แบบมโน (Erotomania) เป็นความผิดปกติที่คิดคิดว่า อีกฝ่ายหลงชอบตัวเองเอามากๆ
3.แบบกามวิปริต (Paraphilia-related disorder) เป็นรูปแบบความต้องการที่จะมีเพศสัมพันธ์แบบซาดิสต์ หรือบางรายอาจจะมีปัญหาในการตอบสนองทางเพศที่รุนแรงกว่าปกติ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากจินตนาการ หรือบางรายอาจจะมีการจำลองสถานการณ์ และบางรายอาจจะชื่นชอบการใช้อุปกรณ์
4.แบบยับยั้งไม่ได้ (Sexual disinhibition) เป็นรูปแบบที่คล้ายกับแบบแรก โดยจะเกิดการมีเพศสัมพันธ์แบบที่ไม่ได้คิดถึงความเหมาะสมหรือความถูกต้อง
ไม่อยากเป็น “คลั่งไคล้ทางเพศ” ต้องทำอย่างไร
ในทางการแพทย์นั้น โรคนิมโฟมาเนียยังไม่มีวิธีป้องกันที่ระบุไว้อย่างชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยสามารถเข้าใจสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคได้ ก็ย่อมช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนิมโฟมาเนียลงได้ โดยเฉพาะการควบคุมระดับฮอร์โมนในร่างกายให้สมดุล เพราะระดับฮอร์โมนสามารถส่งผลต่อการควบคุมอารมณ์และความคิดได้
นอกจากนี้ การดูแลตัวเองทานอาหารที่มีประโยชน์และสมดุล ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและนอนหลับอย่างเพียงพอ รวมทั้ง การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและกิจกรรมอื่น ๆ ที่สร้างความสุขให้แก่ตัวเอง ยังช่วยให้ห่างไกลและไม่หมกมุ่นกับเรื่องเพศได้ด้วย
ทั้งนี้ สำหรับพฤติกรรมของผู้ป่วยโรคนิมโฟมาเนีย แม้ว่าจะทำให้พวกเขาถูกคนรอบข้างมองว่ามีความสำส่อนในเรื่องเพศ หรืออาจจะถูกคนในสังคมมองในด้านลบ เนื่องจากพฤติกรรมต่าง ๆ ของพวกเขานั้นเป็นเรื่องที่ไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม จนถูกเรียกว่า ขาดผู้ชายไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยนิมโฟมาเนียนั้น ถือว่าเป็นกลุ่มที่น่าเห็นใจไม่ใช่น้อย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นต่อพวกเขาเหล่านั้นก็คือผลจากพฤติกรรมที่ถูกบีบบังคับของโรคนิมโฟมาเนีย